(เพิ่มเติม) "มีชัย" นำทีมกรธ.แจงร่างรธน.เวทีแม่น้ำ 3 สาย พร้อมรับฟังข้อสงสัย

ข่าวการเมือง Wednesday February 3, 2016 16:08 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายมีชัย ฤชุพันธุ์ ประธานคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ชี้แจงที่ประชุมร่วมสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) และสมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ถึงสาระสำคัญของร่างรัฐธรรมนูญทั้ง 270 มาตราว่า ตลอดระยะเวลาการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้ กรธ.ได้นำความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากทุกฝ่ายมาประกอบการพิจารณา และไม่ได้เป็นไปตามที่มีการกล่าวหา เช่น การเปิดทางให้คนนอกเข้ามาเป็นนายกรัฐมนตรี, การเพิ่มอำนาจให้กับศาลรัฐธรรมนูญ, การสร้างวินัยให้กับคนในชาติ เป็นต้น

การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญในครั้งนี้ กรธ.ได้มองย้อนดูกลับไปถึงปัญหาในอดีตที่ทำให้ประเทศไม่สามารถเดินหน้าได้ ซึ่ง กรธ.ได้มุ่งขจัดปัญหาเหล่านั้นหรือปิดช่องว่างที่มีอยู่ในรัฐธรรมนูญเดิมๆให้หมดสิ้นไป สำหรับปัญหาที่ทำให้บ้านเมืองไปไหนไม่ได้มีปัจจัย 3 ประการ ได้แก่ 1.การทุจริตและประพฤติมิชอบ นับวันจะมีมากขึ้นทุกวัน และทำท่าจะกลายเป็นสิ่งที่ยอมรับกันได้บ้างในบางส่วนของสังคม 2.การย่อหย่อนในเรื่องวินัยของบุคคล ทำให้ไม่ว่าจะออกกฎหมายมาบังคับอย่างไร แต่การไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย และการไม่ตระหนักถึงภาระที่มีต่อสังคมโดยส่วนรวมนับวันจะมากขึ้น และ 3.การบังคับใช้กฎหมายไม่เข้มงวด กลไกกระบวนการยุติธรรมเบื้องต้นยังมีความย่อหย่อนอยู่

"ถ้าจะทำรัฐธรรมนูญให้เกิดประโยชน์กับประเทศและประชาชนอย่างแท้จริงจะต้องแก้ปัญหาทั้งสามเรื่องนั้นให้ได้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจึงได้มุ่งประเด็นที่ไปสามเรื่องดังกล่าว" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า สำหรับสิทธิและเสรีภาพของประชาชนเป็นเรื่องที่จะหายไปจากในรัฐธรรมนูญไม่ได้ โดยเราได้ตรวจสอบว่ารัฐธรรมนูญในอดีตได้รับรองเรื่องใดไว้บ้าง และมีเรื่องอะไรบ้างที่ต้องเขียนให้ชัดเจน ซึ่งเราพบว่าถ้าเขียนร่างรัฐธรรมนูญแบบเดิม คือ การจาระไนไปเรื่อยๆ ในแบบที่ใครนึกอะไรได้ขึ้นมาก็ใส่เข้าไปในร่างรัฐธรรมนูญ จะกลายเป็นว่าสิ่งที่ปรากฏในรัฐธรรมนูญเท่านั้นประชาชนถึงจะมีสิทธิ ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้อง ดังนั้นเราจึงเขียนกลับใหม่ตามหลักสากลว่าคนไทยมีสิทธิเสรีภาพทั้งปวงในทุกเรื่อง ยกเว้นเฉพาะที่จะจำกัดไว้ในกฎหมายเท่านั้น

"อาจมีข้อสงสัยว่าฝ่ายบริหารจะออกกฎหมายมาจำกัดสิทธิได้ เราจึงเขียนเงื่อนไขไว้ว่าการออกกฎหมายที่จะจำกัดสิทธิเสรีภาพของประชาชนนั้นจะต้องเป็นการกระทำที่ไม่สมควรเกินแก่เหตุ และต้องดำเนินการเท่าที่จำเป็น ซึ่งจะเป็นตัวประกันว่ารัฐจะไม่ออกกฎหมายอะไรก็ตามที่มาทำให้ประชาชนเดือดร้อน นอกจากนี้เรายังได้ระบุว่าการใช้สิทธิเสรีภาพจะต้องไม่มีการละเมิดสิทธิเสรีภาพของคนอื่น " นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ในร่างรัฐธรรมนูญยังบัญญัติหมวดหน้าที่ของรัฐที่เป็นการระบุว่ารัฐต้องทำอะไรให้ประชาชนบ้าง โดยถ้ารัฐไม่ดำเนินการจะถือว่าเป็นการจงใจไม่ปฏิบัติตามกฎหมาย ซึ่งเป็นอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) โดยประชาชนสามารถยื่นเรื่องให้ ป.ป.ช.ตรวจสอบได้ และมีโทษร้ายแรงถึงขั้นให้ออกจากตำแหน่ง

"ด้วยกลไกเหล่านี้ หลายคนเมื่ออ่านร่างรัฐธรรมนูญหมวดสิทธิและเสรีภาพแล้วก็นึกว่าสิทธิและเสรีภาพหายไป ความจริงไม่ได้หาย มันไปอยู่ในหมวดหน้าที่ของรัฐบางส่วน และบางส่วนก็อยู่ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ โดยเรื่องนโยบายของรัฐเป็นเรื่องที่รัฐบาลจะทำหรือไม่ทำก็ได้ตามแต่นโยบายของรัฐบาลแต่ละชุด" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ขณะเดียวกันได้มีการปรับเปลี่ยนและองคาพยพทางการเมืองของฝ่ายบริหาร นิติบัญญัติ และตุลาการ อย่างที่มาของ ส.ส.นั้น กรธ.กำหนดให้มี 500 คน แบ่งเป็น ส.ส.เขต 350 คน และ ส.ส.บัญชีรายชื่อ 150 คน ที่ผ่านมาว่าเราพบมี 40% ของคนมาออกเสียงเป็นคะแนนที่หายไป เพราะเมื่อเลือกคนหนึ่งแล้วคนนั้นไม่ได้รับเลือกตั้งก็หายไปหมด สิทธิที่ประชาชนออกมาเลยดูด้อยค่า กรธ.จึงคิดว่าควรให้คะแนนทุกคะแนนเกิดประโยชน์ในการมีตัวแทนของประชาชน ซึ่งผลสำรวจของประชาชนเห็นด้วยกับแนวทางของ กรธ.

"การลงคะแนนเลือกตั้งด้วยบัตรเลือกตั้งเพียงใบเดียว จะทำให้ประชาชนมีกำลังใจออกมาลงคะแนนมากขึ้น เพราะคะแนนทุกคะแนนที่มาลงนั้นไม่ว่าจะเลือกใครก็จะมีผลในทางการเมือง ถ้าคนออกมาลงคะแนนกันมาก การทุจริตจะทำได้ยาก ซึ่งเป็นไปตามผลวิจัยของนักวิชาการทั้งหลายที่เคยทำกันมา" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ส่วนที่มาของนายกรัฐมนตรีเราคิดว่าการเมืองได้พัฒนามาถึงจุดที่ประชาชนผู้มีสิทธิเลือกตั้งควรรู้อนาคตของประเทศและการบริหารบ้านเมือง ร่างรัฐธรรมนูญจึงกำหนดให้พรรคการเมืองต้องเสนอรายชื่อบุคคลที่คิดว่าสมควรเป็นนายกรัฐมนตรีไม่เกิน 3 คนต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ก่อนปิดรับสมัครเลือกตั้ง ส.ส.

"มีคนพูดกันมากว่าแนวทางนี้จะเป็นการเปิดโอกาสให้คนนอกมาเป็นนายกรัฐมนตรี คนที่จะมาเป็นนายกรัฐมนตรีนั้นเบื้องต้นพรรคการเมืองจะต้องประชุมพรรคเพื่อสรรหาคนตามวิธีของพรรคการเมือง ซึ่งพรรคการเมืองสามารถกำหนดลงไปในข้อบังคับพรรคได้ว่าคนที่ถูกเสนอชื่อต้องเป็น ส.ส.ได้ ถามว่าทำไม กรธ.ไม่เขียนให้นายกรัฐมนตรีต้องเป็น ส.ส. คำตอบ คือ ณ วันที่เราให้เขาประกาศชื่อ การเลือกตั้งยังไม่เกิด จะไปบังคับให้ประกาศชื่อคนที่เป็น ส.ส.ได้อย่างไร ดังนั้นเป็นเรื่องของพรรคการเมืองที่จะตัดสินใจกันเอาเอง" นายมีชัย กล่าว

ประธาน กรธ. กล่าวว่า ที่สำคัญสภาผู้แทนราษฎรยังคงเป็นฝ่ายทำหน้าที่เลือกนายกรัฐมนตรี โดยจะต้องเลือกจากบัญชีรายชื่อที่พรรคการเมืองเสนอให้กับ กกต. และเพื่อป้องกันข้อครหาที่ว่าจะมีการตั้งพรรคการเมืองเล็กเพื่อเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี กรธ.จึงได้กำหนดว่าสภาฯจะต้องเลือกบุคคลที่เป็นนายกฯ จากพรรคการเมืองที่มี ส.ส.ในสภาฯไม่น้อยกว่า 5% หรือ 25 คน

ส่วนองค์กรอิสระนั้น กรธ.ไม่ได้เพิ่มองค์กรขึ้นมาใหม่ แต่เพื่อให้เกิดความเชื่อมั่นในองค์กรอิสระมากขึ้น จึงกำหนดคุณสมบัติให้สูงขึ้นเพื่อจะได้คนที่มีความรู้ความสามารถ ถึงขนาดที่เขียนไว้ในรัฐธรรมนูญว่า "จะต้องมีความกล้าหาญในการใช้ดุลพินิจ" เพราะอยากให้องค์กรอิสระทำงานตรงไปตรงมา

"มีคนพูดกันเป็นจำนวนมากว่าคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญเพิ่มอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญให้มากขึ้นเหมือนกับยกรัฐธรรมนูญให้กับศาลรัฐธรรมนูญ เป็นการพูดโดยไม่ได้อ่านและไม่ได้เทียบเคียง ในรัฐธรรมนูญพ.ศ2540 อำนาจของศาลรัฐธรรมนูญมี 16 เรื่อง ในรัฐธรรมนูญพ.ศ.2550 มี 18 เรื่อง ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้มี 17 เรื่อง มีเรื่องเดียวที่ไม่มีในรัฐธรรมนูญก่อนๆ คือ การวินิจฉัยการประพฤติที่ฝ่าฝืนมาตรฐานจริยธรรมขององค์กรอิสระ โดยอำนาจของศาลรัฐธรรมนูญที่เคยมีก็มีอยู่เหมือนเดิม เปิดช่องหายใจให้กว้างขึ้นสำหรับในกรณีที่มีปัญหาเกิดขึ้นในบ้านเมือง ให้สามารถหาข้อยุติได้" นายมีชัย กล่าว

ส่วนที่มาของวุฒิสภาและองค์กรอิสระ นายมีชัย สรุปว่า ในอดีตเคยมีการให้ ส.ว.มาจากการเลือกตั้ง และพบว่าผู้สมัครจะต้องไปให้พรรคการเมืองช่วยในการหาเสียงจนมีความผูกพันกัน แม้ว่าในรัฐธรรมนูญจะกำหนดให้ ส.ว.ต้องไม่เป็นสมาชิกพรรคการเมืองก็ตาม กรธ.จึงคิดว่าถ้าให้ประชาชนแบ่งกลุ่มกันสมัครและเลือก ส.ว.กันเองภายใต้กลไกป้องกันการทุจริตที่ กกต.จะไปกำหนดขึ้นน่าจะมีความเหมาะสม

ประธาน กรธ. กล่าวว่า การจัดทำร่างรัฐธรรมนูญของ กรธ.ทั้ง 21 คนได้ระดมสติปัญญาและทำในสิ่งที่เราคิดว่าดีที่สุด เป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศในระยะยาว แต่วิธีคิดอาจขาดตกบกพร่อง ซึ่งได้เปิดรับฟังความคิดเห็นจากทุกฝ่ายจากทุกช่องทาง ใครที่เสนออะไรและสะกิดใจจนเราคิดไม่ถึงเราก็รีบไปดูและแก้ไขให้

"การทำงานของ กรธ.ทั้ง 21 คนอาจขาดตกบกพร่อง แต่ที่ผ่านมาก็เงี่ยหูฟังมาตลอด...สิ่งใดที่เราคิดว่าขาดตกบกพร่องก็จะนำไปแก้ไข สิ่งใดที่ควรจะเติมให้สมบูรณ์ขึ้นเราก็จะนำไปเพิ่มเติมให้สมบูรณ์ขึ้น ก็หวังว่าจะได้รับคำแนะนำจากสมาชิกทุกท่านอย่างกัลยาณมิตร" นายมีชัย กล่าว

สำหรับบทเฉพาะกาลนั้น กรธ.ได้เขียนถึงอำนาจหน้าที่ขององค์กรที่มีอยู่ในขณะนี้ ได้แก่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.), สนช., สปท. และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ในช่วงของการเปลี่ยนผ่านไปยังรัฐบาลชุดใหม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ