นายกฯ ถกที่ประชุมผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง เสนอ 3 แนวทางบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ

ข่าวการเมือง Thursday April 5, 2018 15:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ท.วีรชน สุคนธปฏิภาค รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี เข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำลุ่มน้ำโขงตอนล่าง ครั้งที่ 3 แบบเต็มคณะ (Plenary) โดยนายกรัฐมนตรีได้เสนอแนวคิด 3 ประการ ต่อประเด็นที่ท้าทายการพัฒนาความร่วมมือของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงในอนาคต ดังนี้ ประการที่หนึ่ง นโยบายด้านความร่วมมือในการพัฒนาภูมิภาคแม่น้ำโขง ซึ่งประเทศไทยเน้นย้ำความสำคัญของความร่วมมือในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ เพื่อพัฒนาภูมิภาคลุ่มน้ำโขงให้มีความยั่งยืน โดยเฉพาะการบริหารจัดการภัยทางธรรมชาติที่สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนในภูมิภาคอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนการเตรียมพร้อมเพื่อรองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ

ทั้งนี้ ประเทศไทยพร้อมให้ความร่วมมือกับประเทศสมาชิกคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ในการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องให้มีความมั่งคั่งและยั่งยืน

ประการที่สอง การดำเนินความพยายามในการผลักดันให้แม่น้ำโขง เป็นแม่น้ำแห่งความมั่งคั่ง เชื่อมโยง และยั่งยืน นายกรัฐมนตรีเน้นย้ำถึงผลกระทบต่อทรัพยากรธรรมชาติ สิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศของลุ่มน้ำ จากโครงการพัฒนาต่างๆ ในลุ่มน้ำโขง การพัฒนาทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง จึงต้องยึดหลักการพัฒนาอย่างยั่งยืนควบคู่กับการรักษาสมดุลระหว่างระบบนิเวศทางธรรมชาติและวิถีชีวิตชุมชน

สำหรับไทยมีเป้าหมายยกระดับการพัฒนาในพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ โดยมุ่งเน้นการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ นายกรัฐมนตรีหวังว่าจะเกิดความร่วมมือและความเชื่อมโยง ระหว่างกรอบความร่วมมือคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขงกรอบความร่วมมือแม่โขง-ล้านช้าง แผนงานการพัฒนาเศรษฐกิจในอนุภูมิภาคลุ่มน้ำโขง (GMS) รวมทั้งกรอบความร่วมมืออื่นๆ ในภูมิภาค ให้มีความใกล้ชิดและทำงานอย่างบูรณาการ มุ่งเน้นการแลกเปลี่ยนข้อมูล ข่าวสารและองค์ความรู้อย่างเป็นระบบ ซึ่งจะเป็นประโยชน์โดยตรงต่อประชาชนและนำไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในลุ่มน้ำอย่างแท้จริง

ประการที่สาม การพัฒนาบทบาทของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง โดยนายกรัฐมนตรีกล่าวถึงบทบาทที่สำคัญของคณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง ซึ่งสนับสนุนการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำและทรัพยากรที่เกี่ยวข้อง และตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยขอให้คณะกรรมาธิการแม่น้ำโขง มุ่งเน้นการนำผลการศึกษาและองค์ความรู้ แปลงสู่แผนการดำเนินงานที่ปฏิบัติได้อย่างเป็นรูปธรรม และดำเนินการอย่างต่อเนื่องเพื่อเป็นศูนย์กลางความรู้และข้อมูลในอนุภูมิภาคต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ