นายกฯย้ำการปฏิรูปต้องทำอย่างต่อเนื่องไม่มีจบสิ้

ข่าวการเมือง Saturday May 19, 2018 10:19 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวในรายการ "ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน" โดยย้ำว่า การปฏิรูปนั้นเป็นสิ่งที่ต้องทำอย่างต่อเนื่อง ไม่มีวันจบสิ้น บางเรื่องกว่าจะสำเร็จต้องใช้เวลานานต้องทุ่มเททรัพยากรมาก โดยเฉพาะความร่วมมือกัน และทุกการปฏิรูป ต้องเริ่มที่การปฏิรูปตนเองก่อนเสมอ อย่างน้อย เราจะต้องไม่หยุดพัฒนาตนเองด้วย ทั้งนี้ การปฏิรูปประเทศของเรา ระยะเริ่มต้น เราสามารถกล่าวได้เป็นประเด็น ๆ ดังนี้

1. เรื่องการแก้จนเพื่อแก้ไขปัญหาปากท้องของประชาชน การปฏิรูปของเราเริ่มจากการขจัดหนี้นอกระบบ โดยบูรณาการหลายหน่วยงาน ด้วยการผลักดันกฎหมาย มาตรการ และโครงการต่าง ๆ อาทิ พระราชบัญญัติห้ามเรียกเก็บดอกเบี้ยเกินอัตรา พ.ศ. 2560, การเพิ่มช่องทางการเข้าถึงสินเชื่อ แหล่งเงินทุน, การไกล่เกลี่ยประนอมหนี้ รวมถึงการเพิ่มศักยภาพของลูกหนี้ ด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม โดยให้ความรู้ทางการเงิน และการทำบัญชีครัวเรือน เป็นต้น โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐซึ่งผู้มีรายได้น้อยเข้าร่วมโครงการกว่า 11 ล้านคน ที่จะได้รับวงเงินผ่านบัตร เพื่อลดภาระค่าครองชีพในเฟสแรก แล้วในเฟส 2 ก็สนับสนุนให้มีการฝึกอาชีพ เพื่อให้มีงานทำ มีรายได้ เข้มแข็ง และพึ่งพาตนเองได้ในที่สุด

เรื่องกฎหมายขายฝากที่จะช่วยไม่ให้พี่น้องเกษตรกรตกเป็นเหยื่อจนเสียกรรมสิทธิ์ในที่ดินของตนให้กับนายทุน เจ้าหนี้นอกระบบ เหมือนในอดีต กฎหมายสถาบันการเงินประชาชน เพื่อช่วยเหลือประชาชนระดับฐานราก สามารถจัดตั้งสถาบันการเงินเล็ก ๆ ในชุมชนของตนเองในทุก ๆ ตำบลทั่วประเทศ มีการบริหารงานอย่างเป็นระบบ มีธรรมาภิบาล มีธนาคารออมสินและธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เป็นพี่เลี้ยงคอยสนับสนุนในทุก ๆ ด้าน ซึ่งก็จะส่งผลดีกับพี่น้องประชาชนมากกว่า 20 - 30 ล้านคน ทั้งในชนบทและในเมือง ปัจจุบันมีอยู่แล้วเกือบ 30,000 แห่ง เพียงแต่ยังไม่เป็นนิติบุคคลที่ถูกต้องตามกฎหมาย ซึ่งต่อไปจะได้รับการยกระดับการบริหารงานให้มีประสิทธิภาพต่อไป และกองทุนการออมแห่งชาติ (กอช.) ที่ส่งเสริมให้ประชาชนรักการออม และสร้างความมั่นคงในชีวิตบั้นปลาย มีการดำเนินงานเป็นรูปธรรมอย่างมากในรัฐบาลนี้ มีสมาชิกมากกว่า 5 แสนคน กว่าครึ่งเป็นเกษตรกร โดยมีเงินกองทุนกว่า 3 พันล้านบาท เป็นต้น

นอกจากนี้ รัฐบาลให้ความสำคัญในการบริหารทรัพยากรป่าไม้ ที่ดิน น้ำ เนื่องจากเป็นปัจจัยการผลิตที่สำคัญของประเทศ ปัจจุบันเรามีพื้นที่ป่าเหลือ 100 ล้านไร่ หรือร้อยละ 32 ของพื้นที่ประเทศ เป้าหมายเราควรจะเพิ่มให้เป็นร้อยละ 40 ให้ได้ โดยเรามีแผนดำเนินการระยะยาว 10 ปี เราต้องทำควบคู่กัน กับผู้ที่เดือดร้อนจากการอยู่ในป่าเหล่านั้น ด้วยการจัดหาที่ดินทำกินให้ชุมชน เพื่อให้เกิดการมีส่วนร่วม คนอยู่กับป่าได้อย่างยั่งยืน เราดำเนินการแล้วใน 66 จังหวัด พื้นที่ประมาณ 1 ล้านไร่ มีการออกหนังสืออนุญาตให้เข้าทำประโยชน์แล้ว จำนวนกว่า 250,000 ไร่ จัดที่ดินให้ประชาชนแล้ว 152 พื้นที่ ใน 54 จังหวัด มีประชากรได้รับการจัดที่ดินแล้วกว่า 36,000 ราย โดยมีคณะกรรมการนโยบายที่ดินแห่งชาติ (คทช.) บริหารจัดการในภาพรวม รวมทั้งผลักดันกฎหมายสำคัญอื่น ๆ อาทิ กฎหมายป่าชุมชน และแก้ไข พร.บ.ป่าไม้ฯ เพื่อเปิดทางให้กับเศรษฐกิจชาวบ้าน เกี่ยวกับการปลูกไม้มีค่าในที่ดินกรรมสิทธิ์ เราก็จะทำให้ชาวบ้านและชุมชนสามารถสร้างสวนป่า ปลูกป่าไม้มีค่า ที่เป็นพืชเศรษฐกิจราคาแพงในที่ดินของตนเองได้ ก็จะเกิดเป็นเป็นสินทรัพย์ เป็นการออมระยะยาว ที่ชาวบ้านสามารถตัดขายเมื่อต้องการใช้เงิน และมีมูลค่าเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ ตามอายุของต้นไม้

สำหรับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำแบบบูรณาการ น้อยคนที่จะทราบว่าความเสียหายจากมหาอุทกภัยปี 2554 ที่ธนาคารโลกประเมินไว้ว่าประเทศไทยเสียหายทั้งชีวิตและทรัพย์สิน คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.35 ล้านล้านบาท อีกทั้งภัยแล้งยังสร้างความเสียหายให้กับภาคเกษตรกรรมของประเทศปีละ 4 - 5 หมื่นล้านบาท เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามาบริหารราชการแผ่นดิน ก็ได้ผลักดันให้มียุทธศาสตร์การบริหารจัดการน้ำของประเทศ ล่าสุดเป็นแผนงานระยะ 20 ปี พ.ศ. 2560 ถึง 2579 ต้องทำงานต่อเนื่อง มี สทนช. (สำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ) ที่ทำงานในลักษณะ Single Command อย่างมีเอกภาพ แม้จะเกิดจากการบูรณาการกันของหน่วยงาน 3 ปีที่ผ่านมา มีการสร้างแก้มลิงขนาดเล็ก 30 แห่ง ใน 5 จังหวัดภาคอีสาน สร้างแหล่งเก็บกักน้ำ มากกว่า 50 โครงการ คิดปริมาณน้ำกว่า 1,200 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประมาณ 1.1 ล้านไร่ พัฒนาอาคารบังคับน้ำ สามารถเก็บกักน้ำจากลำน้ำสายหลักได้ 300 ล้านลูกบาศก์เมตร เพิ่มพื้นที่ชลประทาน 7 แสนไร่ สร้างระบบกระจายน้ำอุปโภค-บริโภค 256 โครงการทั่วประเทศ ได้ปริมาณน้ำ 60 ล้านลูกบาศก์เมตร สำหรับ 15,000 ครัวเรือนเรามีแผนที่จะทยอยสร้างระบบกระจายน้ำฯ เพิ่มเติมอีกประมาณ 3,500 แห่ง ภายใน 3 ปีถัดจากนี้

นอกจากนี้ ยังเร่งศึกษาโครงการผันน้ำจากกลุ่มน้ำสาละวินและสาขา เพื่อเพิ่มน้ำต้นทุนในเขื่อนภูมิพล ซึ่งคาดว่าจะสามารถเพิ่มพื้นที่ชลประทานได้อีกกว่า 1 ล้านไร่ และทำแผนจัดหาน้ำระยะ 10 ปี สำหรับป้อนภาคอุตสาหกรรมในพื้นที่ EECจากเดิมที่ดำเนินการพัฒนาแหล่งน้ำไปแล้วกว่า 1,300 ล้านลูกบาศก์เมตร โดยจะหาเพิ่มเติม 800 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2570 และอีก 1,000 ล้านลูกบาศก์เมตรภายในปี 2579 ทั้งนี้ ก็เพื่อสร้างความมั่นคงด้านทรัพยากรน้ำให้กับภาคครัวเรือน ภาคการผลิต เกษตรกรรม อุตสาหกรรม การท่องเที่ยว และการรักษาสมดุลทางธรรมชาติของประเทศ

2. เรื่องการแก้เหลื่อมล้ำเพื่อสร้างความเสมอภาคในสังคม อาทิ ความเสมอภาคในกระบวนการยุติธรรม โดยการยกระดับ พ.ร.บ.ค่าตอบแทนผู้เสียหายและจำเลยในคดีอาญา พ.ศ. 2544 ที่บังคับใช้มาเป็นเวลากว่า 10 ปีแล้ว มีผู้เสียหายมายื่นขอรับค่าตอบแทนเพียงร้อยละ 20 เปรียบเทียบกับสถิติการแจ้งความของสำนักงานตำรวจแห่งชาติ เมื่อรัฐบาลนี้เข้ามา ได้เร่งสร้างประชาสัมพันธ์ให้รับรู้สิทธิของประชาชน เพิ่มประสิทธิภาพการช่วยเหลือผู้เสียหาย โดยเน้นการทำงานแบบบูรณาการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งกระทรวงยุติธรรมและสำนักงานตำรวจแห่งชาติ รวมทั้งปรับปรุงกฎหมายให้ส่งเสริมการกระจายอำนาจไปสู่ส่วนภูมิภาคมากขึ้น ทำให้ประชาชนได้เข้าถึงกระบวนการยุติธรรมได้ง่าย สะดวก รวดเร็ว และเป็นธรรมมากยิ่งขึ้น โดยสามารถยื่นขอความช่วยเหลือได้ที่ทุกสถานีตำรวจ หรือสำนักงานยุติธรรมจังหวัดทุกจังหวัดใกล้บ้าน ผลสำเร็จคือ สถิติผู้เสียหายมายื่นขอรับค่าตอบแทนฯ เพิ่มขึ้นเป็นร้อยละ 62 ในปี 2557 และร้อยละ 86

ในปี 2560 รวม 4 ปีของรัฐบาลนี้ มีผู้รับคำขอความช่วยเหลือ ประมาณ 70,000 ราย อนุมัติช่วยเหลือเกือบ 45,000 ราย เป็นเงินช่วยเหลือทั้งสิ้นกว่า 2,300 ล้านบาท นอกจากนี้กองทุนยุติธรรมช่วง 10 ปีก่อนที่ คสช. เข้ามา มีประชาชนมาขอรับความช่วยเหลือเพียง 13,000 ราย และได้รับความช่วยเหลือไปประมาณ 5,600 ราย คิดเป็นเงินกว่า 260 ล้านบาท ในปี 2558 รัฐบาลนี้แก้ไขให้มีการกระจายอำนาจมากขึ้น แต่ต้องโปร่งใสด้วย ช่วยให้ช่วง 2558–2559 เพียง 2 ปี มีประชาชนเข้าถึงกองทุนยุติธรรมมากขึ้นกว่า 10,000 ราย มียอดเงินที่ช่วยเหลือประชาชนมากกว่าถึง 351 ล้านบาท แบบนี้ผู้ที่มีรายได้น้อยแต่โชคร้าย ตกเป็นเหยื่อ เป็นคดีความต่าง ๆ ก็จะได้รับโอกาส ได้รับความเป็นธรรม ลบคำกล่าวที่ว่าคุกมีไว้ขังคนจน ให้ทุกคนได้มีโอกาสแสดงความบริสุทธิ์ หรือต่อสู้คดีโดยไม่ต้องติดคุก เสียโอกาสทำมาหาเลี้ยงครอบครัว เสียประวัติอีกด้วย เว้นผู้ที่ตั้งใจทำความผิด

3. เรื่องการแก้โกงเพื่อป้องกันการทุจริตและสร้างธรรมาภิบาลในการบริหารราชการแผ่นดิน ได้มีการผลักดันให้นำ 2 มาตรการสำคัญ คือ ในเรื่องของโครงการความโปร่งใสในการก่อสร้างภาครัฐ หรือระบบ CoST หรือข้อตกลงคุณธรรม หรือ IP (Integrity Pact) ซึ่งเน้นการเปิดเผยข้อมูลกระบวนการจัดซื้อจัดจ้าง และการก่อสร้างโครงการก่อสร้างขนาดใหญ่ของภาครัฐ ทั้งนี้ ไม่ใช่แค่มีการเซ็นสัญญาข้อตกลงกันเงียบ ๆ เท่านั้น แต่ยังส่งคณะผู้สังเกตการณ์ไปนั่งเฝ้าติดตามการประชุมร่างเงื่อนไข (TOR) การประมูลต่าง ๆ ไปเฝ้าดูกระบวนการเสนอราคา การตรวจเอกสาร ไปเก็บข้อมูลด้วยตัวเองทุกขั้นตอนโดยตลอด ก็เป็นหน้าที่ของคณะกรรมการทุกคณะที่แต่งตั้งขึ้นมาใหม่ในขณะนี้ นอกจากนี้เราได้จัดทำแอปพลิเคชั่นบนมือถือ ที่เรียกว่าภาษีไปไหน เปิดบริการให้ประชาชนสามารถเข้าถึงข้อมูลการจัดซื้อจัดจ้างในโครงการต่าง ๆ ของภาครัฐ ทุกคนจะได้ช่วยกันเป็นหูเป็นตา ช่วยกันดูแล เป็นการติเพื่อก่อ อย่าทำให้ทุกอย่างสับสนวุ่นวาย อลหม่าน ด้วยข้อมูลที่ไม่ใช่ข้อเท็จจริง ช่วยกันเป็นหูเป็นตาให้การบริหารราชการแผ่นดินเป็นไปด้วยความโปร่งใส รัฐบาลไม่ได้มุ่งหวังให้เกิดการคอร์รัปชั่น หรือทุจริตใด ๆ ทั้งสิ้น เราต้องช่วยกัน จะได้เกิดผลประโยชน์สูงสุดอย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ รัฐบาลได้อนุมัติให้ใช้การจัดหาพัสดุด้วยวิธีตลาดอิเล็กทรอนิกส์ (e- Market) และด้วยวิธีประกวดราคาอิเล็กทรอนิกส์ (e-Bidding) ช่วยให้การดำเนินการจัดหาวัสดุของภาครัฐดีขึ้น

"วันนี้มีการแก้ไขไปตามลำดับ ก็มีปัญหาอยู่บ้างในการใช้ระบบใหม่ ๆ ยกตัวอย่าง เฉพาะในปี 2559 เราสามารถประหยัดเงินงบประมาณแผ่นดินกว่า 30,000 ล้านบาทจาก 30,000 กว่าโครงการ ด้วยวงเงินที่ตั้งไว้กว่า 430,000 ล้านบาท สำหรับครึ่งปีแรกของปีงบประมาณ 2561 นี้ เราสามารถประหยัดงบประมาณแผ่นดินกว่า 47,000 ล้านบาท จาก 61,000 กว่าโครงการ ด้วยวงเงินที่ตั้งไว้ 400,000 กว่าล้านบาท ซึ่งเป็นผลพลอยได้ แต่สิ่งสำคัญคือ ช่วยให้การดำเนินการเป็นไปอย่างโปร่งใส ไร้การฮั้วประมูล และตรวจสอบได้"

ยิ่งกว่านี้ ก็ได้มีการตั้งคณะกรรมการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (คตช.) ซึ่งมีศูนย์อำนวยการต่อต้านการทุจริตแห่งชาติ (ศอตช.) และการสร้างกลไกลักษณะเดียวกันนี้ ในระดับกระทรวงและระดับจังหวัดทุกจังหวัด ปฏิบัติงานร่วมกับ ป.ป.ช. ในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค เพื่อสนับสนุนภารกิจการป้องกันและปราบปรามการทุจริต รวมทั้งให้หน่วยงานภาครัฐทุกหน่วย ต้องเข้าร่วมการประเมินคุณธรรมและความโปร่งใส (ITA) เพื่อให้เกิดการสร้างวัฒนธรรมการทำงานอย่างมีคุณธรรมและความโปร่งใส

4. เรื่องการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน เพื่อสร้างความเชื่อมั่นแก่นักลงทุนและประชาคมโลก 3 ปีที่ผ่านมานั้น รัฐบาลได้ผลักดันให้เกิดการลงทุน วงเงินกว่า 2.4 ล้านล้านบาท ในแทบทุกโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง ทั้งถนน ทางด่วน มอเตอร์เวย์ รถไฟ รถไฟฟ้า รถไฟความเร็วสูง ท่าเรือ สนามบิน และสถานีขนส่งสินค้า ซึ่งที่ผ่านมาผมได้กล่าวมาเป็นระยะ ๆ แล้ว ทุกอย่างก็มีขั้นตอนการดำเนินการอยู่ ปีนี้จะผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่อย่างต่อเนื่องอีก รวมวงเงินราว 1 ล้านล้านบาท อาทิ รถไฟเชื่อม 3 สนามบิน, รถไฟฟ้าสีแดงอ่อน - แดงเข้ม - สีม่วงใต้, รถไฟทางคู่ ระยะ 2 จำนวน 7 เส้นทาง, ปรับปรุงท่าเรือแหลมฉบัง, ทางยกระดับ - ทางด่วน - มอเตอร์เวย์ อีกหลายเส้นทาง เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัลและโทรคมนาคมอีกกว่า 30,000 ล้านบาท เพื่อสนับสนุนการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ด้านการศึกษา, ลดความเหลื่อมล้ำด้านสาธารณสุข, เชื่อมโยงการค้า e-Commerceจากท้องถิ่นสู่ตลาดโลกและเป็นการยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขันของประเทศด้วย

ทั้งนี้ การลงทุนโครงสร้างดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดการปฏิรูประบบเศรษฐกิจของประเทศครั้งใหญ่ตามนโยบายไทยแลนด์ 4.0 และระเบียงเศรษฐกิจภาคตะวันออก (EEC) ซึ่งส่งเสริมการพัฒนาใน 10 อุตสาหกรรมเป้าหมายอย่างเป็นระบบ อาทิ มาตรการพัฒนาอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัติ กำหนดเป้าหมายการพัฒนา 5 ปี พัฒนาหุ่นยนต์ต้นแบบ อย่างน้อย 150 ผลิตภัณฑ์ แล้วถ่ายทอดเทคโนโลยีชั้นสูงนี้ให้ผู้ประกอบการ 200 ราย รวมทั้งการฝึกอบรมแรงงานฝีมือมากกว่า 25,000 คน คาดว่าจะกระตุ้นให้เกิดการลงทุนผลิตอุตสาหกรรมหุ่นยนต์และระบบอัตโนมัตินี้กว่า 12,000 ล้านบาทในปีแรก และเพิ่มเป็น 200,000 ล้านบาท ภายใน 5 ปีตามแผน ทั้งนี้ EECจะเป็นต้นแบบความสำเร็จให้กับเขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ พื้นที่ชายแดน 10 แห่ง ซึ่งปัจจุบันมีการยื่นขอรับส่งเสริมการลงทุนจาก BOIสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุนแล้ว จำนวน 51 โครงการ เป็นวงเงินราว 9,000 ล้านบาท นอกจากนี้จะมีการจัดทำผังเมือง การจัดหาที่ดิน การลงทุนเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานและด่านศุลกากรเพิ่มเติม เราต้องมีการบริหารจัดการแรงงานกับประเทศเพื่อนบ้านที่ลงทะเบียนไว้แล้ว ระบบบริหารจัดการภายในพื้นที่ ทั้งเรื่องความปลอดภัยในการทำงาน สุขอนามัย การบริหารจัดการน้ำและขยะ เพื่อการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม รวมทั้งดูแลในเรื่องความมั่นคงชายแดนซึ่งนอกจากการลงทุนดังกล่าวแล้ว รัฐบาลยังให้ความสำคัญอย่างมากในการปรับปรุงกระบวนการให้บริการภาครัฐ โดยเฉพาะการอำนวยความสะดวกและการอนุมัติ-อนุญาตต่าง ๆ ให้มีความสะดวก รวดเร็ว โปร่งใสยิ่งขึ้น ช่วยทำให้การจัดอันดับ Ease of Doing Businessของไทยดีขึ้นอย่างก้าวกระโดดถึง 20 อันดับ ในการประเมินครั้งที่ผ่านมาก็มีผลกับการค้าการลงทุนของประเทศเราด้วย

5. เรื่องการยกระดับการให้บริการ เพื่ออำนวยความสะดวกแก่ประชาชนและการลงทุน อาทิ โครงสร้างพื้นฐานระบบการชำระเงินแบบอิเล็กทรอนิกส์แห่งชาติ หรือ National e-Paymentที่ช่วยทั้งในเรื่องความสะดวกสบายในการชำระเงินของประชาชนและภาคธุรกิจ SMEsทั้งการโอนเงินที่เชื่อมโยงมากขึ้น ผ่านระบบพร้อมเพย์ (Prompt Pay) ที่ปัจจุบัน มีผู้ลงทะเบียนใช้แล้วกว่า 40 ล้านบัญชี ยอดการทำธุรกรรมสูงถึง 127 ล้านรายการ มูลค่ารวมกว่า 4.9 แสนล้านบาท ซึ่งการปรับลดค่าธรรมเนียมในโครงการพร้อมเพย์นี้ ส่งผลให้ธนาคารพาณิชย์ยกเลิกค่าธรรมเนียมการโอนเงินทั้งหมดในที่สุด

สำหรับผู้รับเงินอุดหนุนที่ไม่มีบัญชีธนาคาร รวมถึงค่ารักษาบัญชี และผู้รับเงินจะได้รับ SMSแจ้ง เมื่อมีเงินเข้าบัญชีโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายใด ๆ ในอนาคต เพื่อให้ผู้ที่ไม่มีบัญชีธนาคาร หรือไม่สะดวกไปเปิดบัญชี ก็จะสามารถรับเงินผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือใช้บัตร e-Moneyได้อีกด้วย นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ในการบริหารราชการแผ่นดิน และการบริการภาครัฐอย่างกว้างขวาง อาทิ การพัฒนาแผนที่เกษตรเพื่อการบริหารจัดการเชิงรุก (Agri-Map) ตั้งเป้าหมายการปรับเปลี่ยนพื้นที่การเพาะปลูกให้เหมาะสม ระยะ 20 ปี (60-79) รวม 6 ล้านไร่ ช่วง 5 ปีแรกเราทำได้ 1.5 ล้านไร่ โดยมี ศพก. (ศูนย์เรียนรู้การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตสินค้าเกษตร) 882 ศูนย์ทั่วประเทศและเกษตรแปลงใหญ่เป็นกลไกขับเคลื่อน ในเฉพาะปี 61 นี้ มีเกษตรกรเข้าร่วม 43,000 กว่าราย เป็นพืชเศรษฐกิจ ราว 160,000 ไร่ เกษตรผสมผสาน กว่า 81,000 ไร่ ปศุสัตว์ 18,000 กว่าไร่ และประมง 1,100 กว่าไร่ ส่งเสริมการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการผลิตสินค้าทางการเกษตรชนิดใหม่ให้มีรายได้เพิ่มขึ้น คุณภาพชีวิตดีขึ้น ทางตลาดการผลิต อีกตัวอย่างหนึ่ง ก็คือร้านค้าดิจิทัลชุมชนที่เป็นการยกระดับการบริหารร้านค้าปลีก ขยายผลจากเครือข่ายเน็ตประชารัฐ ให้สามารถทำการค้าออนไลน์ (e-Commerce) ประกอบด้วย 3 ระบบงานย่อย เกี่ยวกับ ร้านค้า ธุรกรรมการเงิน การส่งสินค้า (e-Marketplace, e-Paymentและ e-Logistics) โดยเริ่มจากร้านค้าประชารัฐสามัคคี ที่มีที่ตั้งเหมาะสมในพื้นที่โครงการเน็ตประชารัฐ ราว 25,000 จุด แล้วเราจะขยายไปจนครบ 75,030 หมู่บ้านทั่วประเทศ เฉพาะปี 61 จำนวน 5,000 แห่ง โดย 25 พ.ค.นี้ จะทดลองขายสินค้าเป้าหมาย 125 รายการ จาก 1,300 รายการสินค้าที่อยู่ในระบบคาดว่าจะสร้างมูลค่าได้ ราว 6.5 ล้านบาทต่อเดือน

สิ่งสำคัญในปัจจุบัน เพื่อให้เกิดการบริหารราชการในอนาคตก็คือการบริหารจัดการข้อมูลขนาดใหญ่ หรือ BIG Dataของภารรัฐ ซึ่งวันนี้ผมได้มุ่งเน้นให้ดำเนินการในเรื่องนี้เป็นพิเศษ มีความคืบหน้าไปตามลำดับ มีการบูรณาการฐานข้อมูลภาครัฐ 4 ด้าน ได้แก่ ด้านความมั่นคง ด้านทรัพยากรน้ำและภูมิอากาศ ด้านข้อมูลประชาชนและการบริการภาครัฐ และด้านทรัพยากรและสิ่งแวดล้อมของชาติและระบบสารสนเทศ เชื่อมโยงการบริหารข้อมูลภาครัฐทั้งปวง เป็นต้น ข้อมูลเหล่านี้ จะช่วยในการตกลงใจในการใช้จ่ายงบประมาณได้อย่างมีธรรมาภิบาลและมีการกำหนดทิศทางการบริหารประเทศได้อย่างมียุทธศาสตร์ในอนาคต รวมทั้งช่วยการแก้ปัญหาปากท้องของประชาชนได้อย่างตรงจุด ตรงคน ตรงกับความต้องการ วันนี้ภาคธุรกิจก็ใช้ Big Dataในการบริหารจัดการอยู่ด้วย

6. เรื่องการส่งเสริมการมีส่วนร่วมเพื่อสร้างความเข้มแข็งและปรองดองในสังคมและบ้านเมือง ก็เป็นเรื่องที่ผมเห็นว่าสำคัญมากหรือมากที่สุด เพราะหากไม่ได้รับความร่วมมือจากพี่น้องประชาชน และทุกภาคส่วนแล้ว โครงการต่าง ๆ ที่กล่าวมาแล้วทั้งหมดจะไม่อาจสำเร็จลงได้เลย ถึงแม้เราจะมีงบประมาณใด ๆ ก็ตาม ดังนั้น จึงมีนโยบายส่งเสริมการมีส่วนร่วมในทุก ๆ มิติ ทุก ๆ กิจกรรม ตั้งแต่บรรจุไว้ในรัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน ในการเปิดโอกาสรับฟังความคิดเห็น เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการออกกฎหมาย มีการเสริมสร้างกลไกประชารัฐเข้ามาขับเคลื่อน โดยเฉพาะในการสร้างความเข้มแข็งให้กับชุมชน และระดับฐานรากของประเทศ

ทั้งนี้ การมีส่วนร่วมของทุกภาคส่วนตามแนวทางประชารัฐของรัฐบาลนี้ ช่วยให้ผลการดำเนินการพีพีโมเดลซึ่งเป็นตัวอย่างการฟื้นฟูสภาพแวดล้อม เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน ประสบผลสำเร็จ ด้วยการเก็บรายได้จากการท่องเที่ยวถึง 978 ล้านบาท ภายในระยะเวลา 1 ปี 9 เดือน จากที่ก่อนหน้าเก็บได้เพียงปีละ 1 ล้านบาท เป็นอย่างไรครับ แตกต่างมาก นอกจากนี้กลไกประชารัฐยังเป็นแรงขับเคลื่อนในการสร้าง Smart City ทั้งเมืองน่าอยู่

"การปฏิรูปที่สำคัญที่สุดช่วงนี้คือการศึกษาและการสาธารณสุขก็มีอีกหลายเรื่องด้วยกัน เรื่องนี้ก็สำคัญ อาจจะมากที่สุดเลยในเรื่องของการใช้และการบริหารจัดการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมก็เช่นกัน เรากำลังก้าวสู่โลกยุคโลกาภิวัฒน์ โลกดิจิทัล โลกที่อากาศเปลี่ยนแปลงโลกที่เป็นสังคมแห่งการเรียนรู้ สังคมสูงวัย ซึ่งล้วนจำเป็นต้องใช้งบประมาณจำนวนมากในการดูแลประชาชนให้ทั่วถึง หากเรามุ่งเน้นแต่เพียงการรักษาไม่ให้ความสำคัญในการป้องกันเท่าที่ควรนะครับ ก็จะสร้างภาระด้านงบประมาณเป็นจำนวนมาก เราอาจจะไม่มีค่าใช้จ่ายที่เพียงพอภายใน 10 ปีข้างหน้า"

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ