เลือกตั้ง'62: "เสรีพิศุทธ์-เรืองไกร"ร้อง กกต.ทวงความคืบหน้าเสนอยุบ พปชร.

ข่าวการเมือง Wednesday February 27, 2019 14:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ เตมียเวส หัวหน้าพรรคเสรีรวมไทย ได้มายื่นหนังสือถึง กกต.เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีขอให้ กกต.ตรวจสอบยุบพรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) กรณีเสนอชื่อ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) ในฐานะหัวหน้าคณะปฏิวัติ ซึ่งเป็นคนล้มล้างรัฐธรรมนูญ แต่กลับเสนอชื่อให้เป็นแคนดิเดตนายกฯ ของพรรค ดังนั้นพรรค พปชร.เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์เป็นพระประมุข

"กกต.ควรจะมีมาตรฐานเดียวกันกับพรรคไทยรักษาชาติ ซึ่งควรจะใช้ระยะเวลาไม่เกิน 5 วันเหมือนกัน แต่ขณะนี้ผ่านมา 9 วันแล้ว อย่างไรก็ตาม จะให้เวลา กกต.อีก 1 อาทิตย์ หากยังไม่มีการดำเนินการใดๆ ก็จะดำเนินการทางกฎหมายกับ กกต." พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

ส่วนกรณีที่ พล.อ.ประยุทธ์ ปฏิเสธขึ้นเวทีดีเบตนั้น พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าวว่า การดีเบตเพื่อให้ประชาชนเลือกผู้ที่เสนอตัวมารับใช้ประชาชนได้ถูกต้อง แต่ พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งได้รับการเสนอชื่อเป็นแคนดิเดทนายกรัฐมนตรีของพรรคพลังประชารัฐกลับหลีกเลี่ยง และยังไม่ทำตัวให้เป็นไปตามกรอบของระบอบประชาธิปไตย

"ท่านไม่ต้องมาประดิษฐ์คำที่ไม่มาดีเบต เพราะต้องเรียกว่าหนีนั่นแหละ อย่ามาบอกว่าไม่จำเป็นจะต้องขึ้นเวทีประชันนโยบาย" พล.ต.อ.เสรีพิศุทธ์ กล่าว

ขณะที่ นายเรืองไกร ลีกิจวัฒนะ สมาชิกพรรคไทยรักษาชาติ (ทษช.) เดินทางมายื่นหนังสือถึงคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อทวงถามความคืบหน้ากรณีที่ได้ยื่นคำร้องให้ กกต.ส่งศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยว่า พล.อ.ประยุทธ์ ในฐานะหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐหรือไม่

เนื่องจากตามรัฐธรรมนูญ มาตรา 160 รัฐมนตรีต้อง (6) ไม่มีลักษณะต้องห้ามตามมาตรา 98 (15) เป็นพนักงานหรือลูกจ้างของหน่วยงานราชการ หน่วยงานของรัฐหรือรัฐวิสาหกิจ หรือเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ

นายเรืองไกร ระบุว่า ตามแนวคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญที่ 5/2543 ว่าตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบเป็นเจ้าหน้าที่อื่นของรัฐ ดังนั้นตำแหน่งหัวหน้า คสช.จึงอาจเทียบเคียงได้กับตำแหน่งผู้พิพากษาสมทบ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ