(เพิ่มเติม) ผู้ตรวจการแผ่นดิน ให้ส่งศาลรนธ.วินิจฉัยกรณีนายกฯกล่าวถวายสัตย์ไม่ครบถ้วน แต่ตีตกคำร้อง"ศรีสุวรรณ-อัยย์"

ข่าวการเมือง Tuesday August 27, 2019 13:31 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญ เพื่อพิจารณาวินิจฉัยกรณีที่นายภาณุพงศ์ ชูรักษ์ ขอให้พิจารณาการที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และคณะรัฐมนตรี ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ไม่เป็นไปตามบทบัญญัติมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 อันเป็นการกระทำที่ละเมิดต่อสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน โดยจะยื่นเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญในช่วงบ่ายวันนี้

ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุว่า รัฐธรรมนูญฉบับปัจจุบัน หมวดที่ 8 คณะรัฐมนตรี บัญญัติว่าพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งนายกรัฐมตรีและคณะรัฐมนตรีอื่นอีกไม่เกิน 35 คนประกอบเป็นคณะรัฐมนตรี มีหน้าที่บริหารราชการแผ่นดินตามหลักความรับผิดชอบร่วมกัน ตามมาตรา 158 ของรัฐธรรมนูญ

และมาตรา 161 ยังบัญญัติให้ก่อนเข้ารับหน้าที่ จะต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำดังต่อไปนี้ "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงรักภักดีต่อพระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชนของประเทศชาติและประชาชน ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ"

อันเป็นบทบัญญัติที่กำหนดให้ต้องกระทำตามกระบวนการขั้นตอนเสียก่อนเข้ารับหน้าที่ ถือว่าเป็นเรื่องสำคัญ ดังนั้น นอกจากจะต้องกระทำไปตามกระบวนการขั้นตอนแล้ว ยังต้องถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่บัญญัติไว้ในมาตราดังกล่าวให้ครบถ้วนด้วย

เมื่อปรากฎข้อเท็จจริงว่า พล.อ.ประยุทธ์ และคณะรัฐมนตรี กล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ เมื่อวันที่ 16 ก.ค.62 ด้วยถ้อยคำที่ว่า "ข้าพระพุทธเจ้า (ชื่อผู้ปฏิญาณ) ขอถวายสัตย์ปฏิญาณว่า ข้าพระพุทธเจ้าจะจงจักภักดีตอ่พระมหากษัตริย์ และจะปฏิบัติหน้าที่ด้วยความซื่อสัตย์สุจริต เพื่อประโยชน์ของประเทศและประชาชนตลอดไป"

แม้ผู้ถูกร้องเรียนจะมีหนังสือชี้แจงโดยอ้างว่าก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดแล้ว เป็นการกระทำที่ครบถ้วนตามกระบวนการและขั้นตอน ถือว่าการถวายสัตย์ปฏิญาณก่อนเข้ารับหน้าที่ได้ปฏิบัติโดยสมบูรณ์ ทั้งโดยนิตินัย และพฤตินัย ทั้งตามกฎหมายและประเพณีการปกครองและยุติลงแล้วก็ตาม แต่เมื่อคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณยังขาดถ้อยคำที่ว่า "ทั้งจะรักษาไว้และปฏิบัติตาม ซึ่งรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทยทุกประการ" จึงเป็นการกล่าวถ้อยคำที่ไม่ครบถ้วนตามที่รัฐธรรมนูญกำหนดไว้ เป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา 5 วรรคหนึ่ง ความว่า "รัฐธรรมนูญเป็นกฎหมายสูงสุดของประเทศ บทบัญญัติของกฎหมาย กฎ หรือข้อบังคับ หรือการกระทำใด ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ บทบัญญัติหรือการกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้..."

อันจะส่งผลให้การปฏิบัติหน้าที่ในการบริการราชการแผ่นดินของนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญไปด้วย รวมถึงปัญหาในการคุ้มครองสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียน อันเป็นเหตุให้ผูร้องเรียนได้รับความเดือดร้อนหรือเสียหาย หรืออาจจะเดือดร้อนหรือเสียหายโดยมิอาจหลีกเลี่ยงได้ จึงเป็นไปตามหลักเกณฑ์และเงื่อนไขตามที่กำหนดไว้ในมาตรา 46 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 ถือได้ว่าเป็นการกระทำที่ละเมิดสิทธิหรือเสรีภาพของผู้ร้องเรียนที่รัฐธรรมนูญคุ้มครองไว้ ตามนัยมาตรา 213 ของรัฐธรรมนูญ

"ผู้ตรวจการแผ่นดินเห็นว่า การกระทำของผู้ถูกร้องเป็นการกระทำที่ขัดหรือแย้งต่อรัฐธรรมนูญ การกระทำนั้นเป็นอันใช้บังคับมิได้ ตามมาตรา 5 ของรัฐธรรมนูญ อันเป็นการละเมิดสิทธิและเสรีภาพของผู้ร้องเรียนที่รัฐธรรมนูญให้การรับรองและคุ้มครองไว้ อาศัยอำนาจตามความในมาตรา 46 แห่ง พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยวิธีพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2561 จึงยื่นคำร้องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญเพื่อพิจารณาวินิจฉัยต่อไป"ผู้ตรวจการแผ่นดิน ระบุในเอกสารเผยแพร่

*ตีตกคำร้อง"ศรีสุวรรณ-อัยย์"

ขณะที่คำร้องของนายศรีสุวรรณ จรรยา เลขาธิการสมาคมองค์การพิทักษ์รัฐธรรมนูญไทย และนายอัยย์ เพชรทอง เลขาธิการองค์กรปกป้องพุทธศาสนาเพื่อสันติภาพ ให้วินิจฉัยกรณีนายกรัฐมนตรีและคณะรัฐมนตรีถวายสัตย์ปฏิญาณต่อพระมหากษัตริย์ด้วยถ้อยคำที่เพิ่มขึ้นมาใหม่และไม่ครบถ้วนตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 161 ของรัฐธรรมนูญ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ผู้ตรวจการแผ่นดินให้ยุติเรื่องพิจารณาและไม่เสนอเรื่องต่อศาลรัฐธรรมนูญและศาลปกครองกลาง

โดยจากการพิเคราะห์ข้อเท็จจริงและข้อกฎหมายมีความเห็นว่า กรณีผู้ร้องเรียนขอให้ผู้ตรวจการแผ่นดินเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 231 (1) ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 23 (1) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ. 2560 ที่บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญได้ เมื่อเห็นว่าบทบัญญัติแห่งกฎหมายใดมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญนั้น ซึ่ง "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" หมายถึง กฎหมายที่ตราขึ้นโดยองค์กรที่ใช้อำนาจนิติบัญญัติตามกระบวนการที่กำหนดไว้ในรัฐธรรมนูญ ไม่ว่าจะตราขึ้นโดยฝ่ายนิติบัญญัติหรือฝ่ายบริหารก็ตาม ได้แก่ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรรมนูญ พ.ร.บ.พระราชกำหนดที่ได้รับการอนุมัติจากรัฐสภาแล้ว และประกาศคณะปฏิวัติฉบับที่มีผลใช้บังคับเทียบเท่า พ.ร.บ. เมื่อการถวายสัตย์ปฎิญาณเป็น "การกระทำ" มิใช่เป็น "บทบัญญัติแห่งกฎหมาย" ตามความหมายดังที่กล่าวมาแล้วในเบื้องต้น ดังนั้นจึงไม่มีประเด็นที่จะให้ผู้ตรวจการแผ่นดินพิจารณาต่อไปว่าข้อความหรือถ้อยคำในคำกล่าวถวายสัตย์ปฎิญาณมีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญ เพื่อเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลรัฐธรรมนูญวินิจฉัยได้

และกรณีที่ผู้ร้องเรียนขอให้เสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองนั้น พิเคราะห์แล้วเห็นว่า มาตรา 231 (2) ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 23 (2) แห่งพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยผู้ตรวจการแผ่นดิน พ.ศ.2560 ที่บัญญัติให้ผู้ตรวจการแผ่นดินอาจเสนอเรื่องพร้อมด้วยความเห็นต่อศาลปกครองได้ เมื่อเห็นว่า "กฎ คำสั่ง หรือ การกระทำอื่นใดของหน่วยงานของรัฐหรือเจ้าหน้าที่ของรัฐ มีปัญหาเกี่ยวกับความชอบด้วยรัฐธรรมนูญหรือกฎหมาย ทั้งนี้ตามกฎหมายว่าด้วยการจัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง"

เมื่อคำกล่าวถวายสัตย์ปฏิญาณตามคำร้องเรียนนั้นเป็นการกระทำตามกระบวนการขั้นตอนที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ จึงมิใช่เป็นการกระทำทางปกครองหรือการใช้อำนาจทางปกครอง มิได้อยู่ในอำนาจพิจารณาพิพากษาของศาลปกครองตามมาตรา 197 วรรคหนึ่ง ของรัฐธรรมนูญ ประกอบมาตรา 9 วรรคหนึ่ง แห่งพ.ร.บ.จัดตั้งศาลปกครองและวิธีพิจารณาคดีปกครอง พ.ศ.2542 (ตามแนวคำสั่งศาลปกครองสูงสุด คำร้องที่ คร.69/2562 คำสั่งที่ 11/2562 ลงวันที่ 28 พฤษภาคม 2562)

ทั้งนี้ ผู้ตรวจการแผ่นดินแถลงคำร้องของนายศรีสุวรรณและนายอัยย์ก่อนจะแถลงคำวินิจฉัยคำร้องของนายภาณุพงศ์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ