ปธ.วิปฯ ระบุหาก กม.ประชามติ ถูกตีตกจากปมแก้ ม.9 ไม่ใช่ความรับผิดชอบของรัฐบาล

ข่าวการเมือง Wednesday March 24, 2021 17:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวิรัช รัตนเศรษฐ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ (พปชร.) ในฐานะประธานคณะกรรมการประสานงานพรรคร่วมรัฐบาล (วิปรัฐบาล) กล่าวถึงกรณี ส.ว.ออกมาระบุว่ารัฐบาลต้องรับผิดชอบหากร่าง พ.ร.บ.ประชามติที่มีการปรับแก้ไข ไม่ผ่านสภาในวาระ 3 ว่า การปรับแก้ไขนั้นเป็นสิทธิที่รัฐสภาจะดำเนินการได้ ส่วนการลงมตินั้นเป็นดุลยพินิจและเอกสิทธิของสมาชิกรัฐสภา หรือที่เรียกว่าฟรีโหวต

"สิ่งที่รัฐบาลต้องรับผิดชอบในเรื่องของกฎหมายไม่ผ่านสภาฯ ต้องเป็นกฎหมายที่สำคัญ เช่น กฎหมายการเงิน พ.ร.บ.งบประมาณ ถ้าไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบ เพราะหากจะยึดแค่ว่าเป็นร่างกฎหมายของรัฐบาล แต่มีการแก้ไข หากลงมติไม่ผ่าน รัฐบาลต้องรับผิดชอบนั้น อาจต้องเห็นการเปลี่ยนรัฐบาลทุกเดือนก็เป็นได้" นายวิรัช กล่าว

อย่างไรก็ตาม ในการลงมติของรัฐสภาที่เห็นชอบให้แก้ไขมาตรา 9 นั้น จะพบว่ามี ส.ส.ของพรรคร่วมรัฐบาลลงมติสนับสนุนด้วย ดังนั้นจึงไม่ใช่ปัญหา ดังนั้นกรณีมีผู้เรียกร้องให้รัฐบาลรับผิดชอบหากร่าง พ.ร.บ.ประชามติ ไม่ผ่านนั้น จึงไม่กังวล เพราะคนที่พูดนั้นเป็นแค่ความเห็นส่วนตัว และไม่ต้องการให้รัฐบาลอยู่

ขณะที่นายอิสระ เสรีวัฒนวุฒิ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคประชาธิปัตย์ ในฐานะคณะกรรมการธิการวิสามัญพิจารณาร่าง พ.ร.บ. ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ กล่าวถึงกรณีนายสมชาย แสวงการ ส.ว.ขู่จะส่งศาลรัฐธรรมนูญตีความการที่รัฐสภาที่มีมติให้แก้ไขเนื้อหามาตรา 9 ว่า สิ่งที่รัฐสภาแก้ไขมาตรา 9 มีผลทำให้เสียงของประชาชนดังขึ้นกว่าเก่า การทำประชามติไม่ต้องขึ้นกับแค่ดุลพินิจของ ครม.เป็นหลักอีกต่อไป

ดังนั้น ข้ออ้างว่ารัฐสภากระทำขัดรัฐธรรมนูญ เพราะเพิ่มอำนาจให้ฝ่ายนิติบัญญัติ มีอำนาจเหนือฝ่ายบริหารนั้น ก็ยิ่งทำให้เห็นเนื้อในของผู้ที่พยายามไม่เข้าใจหลักของการถ่วงดุลอำนาจ ซึ่งครม.และรัฐสภา คานอำนาจทัดเทียมกันใน 3 เสาหลักของการเมืองไทย และควรจะดีใจที่ต่อจากนี้เสียงของประชาชนจะกังวานกว่าเก่า

"อ้างข้างๆคูๆ เช่น กลัวว่าถ้าให้ต้องทำประชามติทุกเรื่องตามที่ภาคประชาชนเข้าชื่อเสนอ จะเกิดความโกลาหลต้องทำประชามติในทุกเรื่อง ก็เป็นข้ออ้างที่ไร้สาระ จะกลัวอะไรในเมื่อไม่ใช่แค่คน 1-2 คน เข้าชื่อแล้วชงทำประชามติได้ทันทีเสียเมื่อไหร่ แต่ต้องใช้ชื่อของประชาชนในจำนวนที่มากพอจะชี้ให้เห็นและสะท้อนเสียงของผู้คนว่าเรื่องนั้นๆสังคมอยากให้เกิดการปฏิรูปเปลี่ยนแปลงหรือไม่"นายอิสระ กล่าว

ส่วนกรณีที่นายวันชัย สอนศิริ ส.ว. มองว่าหากตกลงกันไม่ได้อาจนำไปสู่การยุบสภานั้น นายอิสระ ลก่าวว่า ไม่ได้มองแค่ว่ากรณีนี้คนแพ้แล้วพาล แต่เข้าใจธรรมชาติของคนที่มีอำนาจมาเป็น 10 ปีไม่คุ้นกับการฟังเสียงชาวบ้าน และหากยุบสภาก็ไม่ได้มีผลอะไรกับตำแหน่ง ส.ว.

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา ยืนยันว่าการเปิดประชุมสมัยวิสามัญรัฐสภาสมัยวิสามัญ เพื่อพิจารณาร่างพ.ร.บ.ว่าด้วยการออกเสียงประชามติ และร่างกฎหมายที่ค้างพิจารณาในวันที่ 7-8 เม.ย.นี้เป็นช่วงเวลาที่เหมาะสมแล้ว แต่หากรัฐบาลเห็นว่า กฏหมายประชามติไม่ใช่เรื่องด่วน ยังไม่มีความจำเป็นต้องพิจารณาในสมัยวิสามัญนี้ ก็เป็นสิทธิที่รัฐบาล จะนำไปพิจารณาในการประชุมสมัยสามัญทั่วไปที่จะมีขึ้นในเดือนพ.ค.ได้ เพราะสภาฯ มีหน้าที่เพียงแค่ ประสานงานให้ทุกฝ่ายเท่านั้น และหากร่าง พ.ร.บ. ประชามติ ไม่ผ่านความเห็นชอบจากรัฐสภา รัฐบาลต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยลาออกหรือไม่ นายชวน ปฏิเสธแสดงความเห็นและไม่แน่ใจว่าในอดีต เคยมีเหตุการณ์แบบนี้เกิดขึ้นหรือไม่


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ