เอแบคโพลล์ระบุ ปชช.เห็นด้วยเลือกตั้ง 23 ธ.ค.นี้ คาดหวังศก.ดีขึ้น

ข่าวการเมือง Sunday October 7, 2007 11:01 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

          ศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ เปิดเผยผลสำรวจเรื่อง “ความคิดเห็นของสาธารณชนต่อสถานการณ์การเมืองในปัจจุบัน ประเด็นที่น่าสนใจคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 89.1 ระบุเห็นด้วยกับการกำหนดการเลือกตั้งในวันที่ 23 ธันวาคม 2550 ในขณะที่เพียงร้อยละ 10.9 เท่านั้นไม่เห็นด้วย  โดยครึ่งหนึ่งเชื่อว่าจะช่วยให้ภาวะเศรษฐกิจดีขึ้น แต่ก็ยังไม่ค่อยมั่นใจการทำงาน กกต.จะควบคุมการเลือกตั้งให้เกิดความบริสุทธิ์ยุติธรรม
ถ้าไม่มีการเลือกตั้งปลายปีนี้ ประชาชนคิดว่า สถานการณ์การเมืองจะเป็นอย่างไร ผลสำรวจพบว่า เกือบร้อยละ 90 ระบุจะแย่เหมือนเดิม จนถึง แย่ลง คือร้อยละ 43.9 ระบุจะแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 45.6 คิดว่าจะแย่ลง ในขณะที่เพียงร้อยละ 5.4 คิดว่าจะดีเหมือนเดิม และร้อยละ 5.1 คิดว่าจะดีขึ้น
โดยประชาชนร้อยละ 53.4 ระบุถ้ามีการเลือกตั้งปลายปีนี้ คิดผลดีคือเศรษฐกิจจะดีขึ้น ร้อยละ 27.1 คิดว่าจะได้ รัฐบาลที่มาจากการเลือกตั้งโดยประชาชนเลือกมาเอง ร้อยละ 19.9 คิดว่า บ้านเมืองจะสงบสุข ร้อยละ 17.3 คิดว่าต่างชาติ จะให้การยอมรับประเทศไทยมากขึ้น และร้อยละ 16.9 คิดว่าบ้านเมืองจะมีความชัดเจนมากขึ้น ตามลำดับ
เมื่อถามถึงผลเสีย ถ้ามีการเลือกตั้งปลายปีนี้ ผลสำรวจพบว่า ประชาชนร้อยละ 45.7 ไม่คิดว่าจะมีผลเสีย ในขณะที่ ร้อยละ 18.4 คิดว่า สถานการณ์การเมืองจะยังไม่เรียบร้อย ยังมีความขัดแย้งอยู่ ร้อยละ 9.0 ประชาชนยังตัดสินใจไม่ถูก ไม่พร้อมกับการเลือกตั้ง ร้อยละ 8.3 ระบุอาจมีคนไปใช้สิทธิเลือกตั้งน้อย และร้อยละ 7.2 อาจได้พรรคการเมืองที่ไม่มีความสามารถจริงๆ ตามลำดับ
เมื่อถามถึงสภาวะเศรษฐกิจหลังการเลือกตั้ง พบว่า ร้อยละ 50.2 คิดว่าจะดีขึ้น ร้อยละ 15.9 คิดว่าจะดีเหมือนเดิม ร้อยละ 26.4 คิดว่าจะแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 7.5 คิดว่าจะแย่ลง
ที่น่าเป็นห่วงคือ มีประชาชนเพียงร้อยละ 4.1 เท่านั้นที่มั่นใจว่า คณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) จะควบคุมการเลือกตั้งให้บริสุทธิ์ยุติธรรม ร้อยละ 12.4 ค่อนข้างมั่นใจ ร้อยละ 42.2 ระบุปานกลาง ร้อยละ 25.0 ไม่ค่อยมั่นใจ และร้อยละ 16.3 ระบุไม่มั่นใจ
แต่ที่น่าสนใจคือ ประชาชนมีความรู้สึกคาดหวังต่อแนวโน้มสถานการณ์ต่างๆ ภายหลังการเลือกตั้งในทิศทางที่ดีขึ้น คือร้อยละ 48.8 คิดว่าสถานการณ์การเมืองโดยรวมจะดีขึ้น ร้อยละ 15.1 คิดว่าจะดีเหมือนเดิม ร้อยละ 28.5 คิดว่าจะแย่เหมือนเดิม และเพียงร้อยละ 7.6 คิดว่าจะแย่ลง
อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 42.5 คิดว่าจะได้นักการเมืองที่มีคุณภาพแย่เหมือนเดิม ร้อยละ 7.9 คิดว่าจะแย่ลง ในขณะที่ร้อยละ 19.9 คิดว่าจะดีเหมือนเดิม ร้อยละ 29.7 คิดว่าจะดีขึ้น ประชาชนร้อยละ 36.8 คิดว่าความรักความสามัคคีของคนในชาติจะดีขึ้น ร้อยละ 22.7 คิดว่าจะดีเหมือนเดิม ร้อยละ 32.9 คิดว่าจะแย่เหมือนเดิม และร้อยละ 7.6 คิดว่าจะแย่ลง
ที่น่าเป็นห่วงอย่างยิ่งคือ ประชาชนส่วนใหญ่หรือร้อยละ 66.7 ระบุแนวโน้มปัญหาทุจริตคอรัปชั่นในคณะรัฐบาล ชุดใหม่ภายหลังการเลือกตั้งจะเหมือนเดิม ร้อยละ 12.4 คิดว่าจะเพิ่มขึ้น และร้อยละ 20.9 คิดว่าจะลดน้อยลง
ดร.นพดล กรรณิกา ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเอแบคนวัตกรรมทางสังคม การจัดการและธุรกิจ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ กล่าวว่า ผลวิจัยครั้งนี้น่าจะเป็นประโยชน์ต่อส่วนรวมหลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องกับบรรยากาศการเมืองของประเทศในขณะนี้ เพราะพบว่าประชาชนส่วนใหญ่มีความคาดหวังที่ชัดเจนต่อการเลือกตั้งตามกำหนดเวลาวันที่ 23 ธันวาคม โดยส่วนใหญ่คิดว่าเมื่อมีการเลือกตั้ง ชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนทั่วไปจะดีขึ้น และต่างชาติยอมรับประเทศไทยมากขึ้น
"ประชาชนส่วนน้อยมีความมั่นใจว่า กกต. จะสามารถจัดการเลือกตั้งด้วยความบริสุทธิ์เที่ยงธรรม และมองว่าคุณภาพของนักการเมืองที่จะเข้ามาหลังการเลือกตั้งจะแย่เหมือนเดิม นอกจากนี้ รัฐบาลที่จะมาบริหารประเทศหลังการเลือกตั้งก็ยังถูกมองจากประชาชนส่วนใหญ่ว่าจะมีปัญหาทุจริตคอรัปชั่นเหมือนเดิมด้วยเช่นกัน"ดร.นพดลกล่าว
แต่อย่างไรก็ตาม กกต. และกลุ่มการเมืองต่างๆ น่าจะนำผลวิจัยครั้งนี้ไปพิจารณาเพื่อประกาศยกระดับมาตรฐานด้านคุณธรรมจริยธรรมของนักการเมืองเป็น “ยุทธศาสตร์คุณธรรมนิยม" และจัดให้เป็นเรื่องสำคัญลำดับต้นๆ ควบคู่ไปกับแนวทางการรณรงค์หาเสียงด้วย ยุทธศาสตร์ประชานิยม แต่ก็ควรมีการปรับแก้ไม่ให้เกิดปัญหาใหญ่ตามมาจากนโยบายประชานิยมเหมือนรัฐบาลก่อนหน้านี้
ดังนั้นทางออกคือ ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง ได้แก่ รัฐบาลชุดปัจจุบัน กกต. กลไกต่างๆ ของรัฐ และบรรดาพรรคการเมืองต่างๆ ควรใช้ช่วงเวลาที่เหลืออยู่นี้เร่งหนุนเสริมจิตสำนึกของประชาชนให้มองเห็นสิ่งสำคัญอย่างน้อยสองประการ คือ การซื้อสิทธิขายเสียงและนักการเมืองที่พัวพันการทุจริตคอรัปชั่นอันเป็นสาเหตุทำให้เศรษฐกิจของประชาชนย่ำแย่อยู่ทุกวันนี้ และประการที่สอง ควรทำให้ประชาชนตระหนักว่าผลประโยชน์ของประเทศชาติคือผลประโยชน์ของประชาชนแต่ละคนเอง เพื่อเสริมความเชื่อมั่นให้กับสาธารณชนและเป็นหลักประกันว่า ฝ่ายที่จ้องโค่นล้มรัฐบาลในอนาคตจะไม่มีมูลเหตุปัจจัยในการกล่าวอ้างใดๆ เพื่อให้เกิดการปฏิวัติหรือรัฐประหารได้อีกต่อไป
ทั้งนี้ผลสำรวจดังกล่าวเป็นกรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนอายุ 18 ปีขึ้นไป ในเขตกรุงเทพมหานครและปริมณฑล จำนวนทั้งสิ้น 1,456 ตัวอย่าง ซึ่งดำเนินโครงการสำรวจในระหว่างวันที่ 4-6 ตุลาคม 2550 พบว่า ประชาชนส่วนใหญ่หรือกว่าร้อยละ 70 ยังคงให้ความสนใจติดตามข่าวการเมืองเป็นประจำทุกสัปดาห์ ในขณะที่ส่วนใหญ่หรือร้อยละ 72.8 ทราบข่าวกระแสกดดันให้ พล.อ.สุรยุทธ์ จุลานนท์ ลาออกจากตำแหน่งนายกรัฐมนตรี อย่างไรก็ตาม ประชาชนจำนวนมากหรือร้อยละ 44.8 ไม่เห็นด้วยกับกระแสกดดันดังกล่าว ในขณะที่ร้อยละ 15.5 เห็นด้วย และร้อยละ 39.7 ไม่มีความเห็น
แต่ถ้า พล.อ.สุรยุทธ์ จะลาออก บุคคลที่ประชาชนผู้ตอบแบบสอบถามครั้งนี้นึกถึงจะให้เป็นนายกรัฐมนตรีแทน คือ ร้อยละ 26.8 ระบุนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ ร้อยละ 24.5 ระบุ พ.ต.ท.ดร.ทักษิณ ชินวัตร ร้อยละ 21.1 ระบุนายสมัคร สุนทรเวช ร้อยละ 13.5 ระบุ นายอานันท์ ปัญญารชุน ร้อยละ 13.3 ระบุ ร.ต.อ.ดร.ปุรชัย เปี่ยมสมบูรณ์ และร้อยละ 11.4 ระบุ พล.อ.สนธิ บุญยรัตกลิน เป็นต้น

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ