รัฐสภาไทย พร้อมเป็นเจ้าภาพจัดประชุม APPF 26-29 ต.ค.นี้

ข่าวการเมือง Thursday September 29, 2022 15:56 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายชวน หลีกภัย ประธานรัฐสภา กล่าวถึงการเป็นเจ้าภาพการประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก ครั้งที่ 30 ระหว่างวันที่ 26-29 ต.ค.65 ภายใต้หัวข้อ "บทบาทของรัฐสภาในการเร่งรัดการพัฒนาอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019" โดยมีเอกอัครราชทูตจาก 7 ประเทศ ได้แก่ สาธารณรัฐฟิลิปปินส์ สาธารณรัฐสังคมนิยมเวียดนาม เม็กซิโก สาธารณรัฐโคลอมเบีย สาธารณรัฐชิลี สาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาว และสาธารณรัฐเปรู พร้อมด้วยคณะทูตานุทูต ประเทศผู้สังเกตการณ์ องค์การระหว่างประเทศ รวมทั้งสิ้น 20 ประเทศสมาชิก 1 ประเทศผู้สังเกตการณ์ และ 1 องค์การระหว่างประเทศ เข้าร่วมงาน

ประธานรัฐสภา กล่าวว่า ขณะนี้มีประเทศสมาชิกและผู้สังเกตการณ์ตอบรับเข้าร่วมการประชุมแล้วกว่า 20 ประเทศจากทั้งหมด 28 ประเทศที่มีสำนักงานในประเทศไทย โดยจะเป็นครั้งแรกของรัฐสภาที่จะใช้อาคารรัฐสภาแห่งใหม่เป็นสถานที่จัดการประชุม และรองรับคณะทูตานุทูตจากต่างประเทศ และจะเป็นครั้งสุดท้ายของสภาผู้แทนราษฎรในชุดนี้

ในการประชุมดังกล่าวประเทศไทยจะหยิบยกบทบาทของฝ่ายนิติบัญญัติในการเดินหน้าหลังผ่านพ้นสถานการณ์โควิด-19 รวมถึงการเผชิญหน้ากับปัญหาอื่นๆ ที่แม้การระบาดโควิด-19 จะผ่านพ้นไปแล้วแต่ยังถือเป็นโรคติดต่อ และการรับมือกับโรคติดต่ออื่นๆ ที่จะมีโอกาสเกิดขึ้นในอนาคตด้วย

การประชุมครั้งนี้มีวาระครอบคลุมประเด็นหลากหลายต่างๆ จึงเป็นโอกาสอันดีของไทยที่จะผลักดันวาระที่มีความสำคัญและเพิ่มพูนผลประโยชน์แก่ประเทศ ประชาชน ภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก นอกจากนี้ยังเป็นโอกาสสำคัญของรัฐสภาไทยที่จะแสดงบทบาทการเป็นศูนย์กลางความร่วมมือในเวทีรัฐสภาระหว่างประเทศ และช่วยฟื้นความเชื่อมั่นของประเทศจากวิกฤต การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ซึ่งไม่เพียงส่งผลในด้านสาธารณสุข แต่ยังกระทบต่อเศรษฐกิจและการพัฒนา รวมทั้งวิถีชีวิตของประชาชนในทุกระดับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งต่อการดำเนินการของประเทศต่างๆ เพื่อบรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goals : SDGs) โดยผลกระทบจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ทำให้ความก้าวหน้าในการดำเนินการในหลายประเทศประสบปัญหา และอาจส่งผลให้ไม่สามารถบรรลุเป้าหมายภายในระยะเวลาที่กำหนดได้ รัฐสภาไทยได้ตระหนักถึงปัญหาดังกล่าว และเห็นว่าการประชุม APPF ครั้งที่ 30 ควรนำประเด็นการพัฒนาที่ยั่งยืนมาหารือในกลุ่มประเทศสมาชิกของภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก เพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลความเห็น และประสบการณ์ของสมาชิกรัฐสภาจากประเทศต่างๆ ในภูมิภาค จากการหารือร่วมกันเพื่อนำเสนอแนวทางในบริบทของฝ่ายนิติบัญญัติ โดยคาดหวังว่าแนวทางการดำเนินการด้านนิติบัญญัติจะมีส่วน ช่วยสนับสนุนการดำเนินการของประเทศสมาชิกให้บรรลุเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนได้ทันภายในปี 2573

หัวข้อสำหรับการประชุมทั้ง 4 ด้านของการประชุมประจำปี APPF ครั้งที่ 30 ได้แก่

ด้านสตรี หัวข้อ "การเสริมสร้างศักยภาพของสตรีเพื่อรับมือกับวิกฤตการณ์ในอนาคต การส่งเสริมการมีส่วนร่วมของสตรีในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019"

ด้านการเมืองและความมั่นคง หัวข้อ "บทบาทการทูตเชิงรัฐสภาในการส่งเสริมความมั่นคง ในภูมิภาค / การส่งเสริมความมั่นคงปลอดภัยทางไซเบอร์ในภูมิภาค /รัฐสภาและการฟื้นฟูอย่างยั่งยืนภายหลังการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา2019 เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพ และความมั่นคง"

ด้านเศรษฐกิจและการค้า หัวข้อ "การส่งเสริมความหลากหลายทางชีวภาพและเศรษฐกิจสีเขียวเพื่อการพัฒนาที่ครอบคลุม / การเพิ่มความเชื่อมโยงและการพัฒนาด้านเศรษฐกิจดิจิทัลในภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก"

ด้านความร่วมมือระดับภูมิภาคภายในเอเชีย-แปซิฟิก หัวข้อ "บทบาทของรัฐสภาในการส่งเสริมการใช้พลังงานหมุนเวียนเพื่อบรรลุเป้าหมายความเป็น กลางทางคาร์บอนการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ /การพัฒนาและการขยายการเข้าถึงสาธารณสุขมูลฐานอย่างเท่าเทียม/การส่งเสริมการท่องเที่ยวระดับภูมิภาคและการสนับสนุนความเข้าใจในความหลากหลายทางวัฒนธรรม"

ทั้งนี้ การประชุมประจำปีรัฐสภาภาคพื้นเอเชียและแปซิฟิก (APPF) ประกอบด้วย 4 อนุภูมิภาค ได้แก่

1.เอเชียตะวันออกเฉียงเหนือ (5 ประเทศ) ได้แก่ จีน ญี่ปุ่น สาธารณรัฐเกาหลี มองโกเลีย และรัสเซีย

2.เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ (9 ประเทศ) ได้แก่ กัมพูชา อินโดนีเซีย ลาว มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ สิงคโปร์ ไทย เวียดนาม และบรูไนดารุสซาลาม

3.โอเชียเนีย/หมู่เกาะต่างๆ ในมหาสมุทรแปซิฟิกตอนกลาง ตะวันตก และตอนใต้ (6 ประเทศ) ได้แก่ ออสเตรเลีย ฟิจิ ไมโครนีเซีย นิวซีแลนด์ ปาปัวนิวกินี และหมู่เกาะมาร์แชลล์

4.อเมริกา (8 ประเทศ) ได้แก่ แคนาดา ชิลี โคลัมเบีย เม็กซิโก เปรู สหรัฐอเมริกา เอกวาดอร์ และคอสตาริกา


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ