(เพิ่มเติม) สภาพัฒน์แถลงจีดีพี Q3 โต 6.7%ทั้งปีโต 7.9%แม้น้ำท่วม,ปี 54 โต 3.5-4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 22, 2010 11:21 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) หรือสภาพัฒน์ คาดการณ์อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจ(จีดีพี)ไทยในปี 53 ขยายตัว 7.9% จากเดิมที่คาดว่าจะขยายตัว 7.0-7.5% อัตราเงินเฟ้ออยู่ที่ 3.2% แม้ว่าจะมีภาวะน้ำท่วมที่ทำให้เกิดความเสียหายราว 2.9 หมื่นล้านบาทคาดว่าจะส่งผลกระทบต่อจีดีพีราว 0.3% ก็ตาม

อนึ่ง จีดีพีไตรมาส 3/53 เติบโตในระดับ 6.7% ส่วนไตรมาส 4/53 แม้ว่าจะชะลอลงจากไตรมาสก่อนหน้า แต่ยังขยายตัวต่อเนื่องและเชื่อว่าจะเป็นบวกได้ หากสามารถรักษาระดับการเติบโตของส่งออกไว้ได้ที่ระดับ 15-20%

ปัจจัยที่เป็นแรงส่งในการเติบโตของจีดีพีปีนี้มาจากทั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจโลกที่เอื้อต่อการส่งออก และอุปสงค์ภายในประเทศ โดยการลงทุนและการบริโภคภาคเอกชนขยายตัว 13.9% และ 4.9% ตามลำดับ ขณะที่การส่งออกในรูปดอลลาร์ขยายตัว 25.1% นอกจากนี้ยังมีปัจจัยหนุนจากการท่องเที่ยว สภาพคล่องในระบบเศรษฐกิจที่อยู่ในเกณฑ์ที่ดีทำให้สามารถระดมทุนผ่านตลาดทุนและตลาดพันธบัตร อัตราดอกเบี้ยอยุ่ในระดับต่ำ

"ถือว่าเศรษฐกิจไทยมีแรงขับเคลื่อนจากการส่งออกเป็นหลัก ประกอบกับการท่องเที่ยวฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว การใช้จ่ายภาคครัวเรือนอยู่ในเกณฑ์ดี และการลงทุนภาคเอกชนขายตัว" นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ กล่าว

สำหรับในปี 54 คาดว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ที่ 3.5-4.5% ต่อเนื่องจากปี 53 แต่มีแนวโน้มชะลอตัวลง โดยยังมีปัจจัยที่ต้องติดตาม คือเรื่องของเงินบาทที่แข็งค่าขึ้น โดยสภาพัฒน์ประเมินค่าเงินบาทในปีหน้าไว้ที่ 29 บาท/ดอลลาร์ ซึ่งทำให้เกิดความเสียเปรียบในการส่งออก และเรื่องของปัญหาน้ำท่วม ตลอดจนความผันผวนของสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก

นอกจากนี้ยังมีปัจจัยเสี่ยงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่มีความเปราะบาง สถานการณ์ทางการเมืองในประเทศที่ความขัดแย้งในสังคมยังมีอยู่แม้จะคลี่คลายลงซึ่งจะส่งผลต่อความต่อเนื่องในการบริหารราชการแผ่นดินและความเชื่อมั่นของนักลงทุน รายได้ของเกษตรกรมีความเสี่ยงจากความผันผวนของสภาพอากาศ การขาดแคลนแรงงงานในบางอุตสาหกรรม

ทั้งนี้ สิ่งที่ภาครัฐควรต้องเร่งดำเนินการ คือ เร่งฟื้นฟูน้ำท่วม การบริหารจัดการราคาสินค้าที่มีแนวโน้มเพิ่มขึ้น เนื่องจากราคาสินค้าเกษตรมีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจากผลกระทบอุทกภัย และต้นทุนการผลิตที่มีแนวโน้มปรับสูงขึ้น นอกจากนี้การส่งเสริมและจูงใจภาคธุรกิจส่งออกให้ใช้เครื่องมือบริหารความเสี่ยงอัตราแลกเปลี่ยนอย่างสม่ำเสมอ และเร่งแก้ไขปัญหาและบริหารจัดการแรงงาน ทั้งในส่วนได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมและการขาดแคลนในภาคอุตสาหกรรมต่างๆ และการเร่งรัดการการดำเนินการตามแผนปรองดองอย่างเป็นรูปธรรม

เลขาธิการสภาพัฒน์ คาดว่า คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) จะคงอัตราดอกเบี้ยนโยบายไว้ที่ 1.75% ในการประชุมเดือน ธ.ค.นี้ และต่อเนื่องจนถึงปี 54 เพราะยังมีความจำเป็นต้องใช้นโยบายดอกเบี้ยต่ำเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจต่อเนื่อง เพราะในปีหน้าเศรษฐกิจมีแนวโน้มที่จะชะลอตัวลงกว่าปีนี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ