ผู้ส่งออกรายใหญ่แนะเพิ่มมูลค่าการตลาดข้าวไทย-ตั้ง Rice Board คุมนโยบาย

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday November 24, 2010 18:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสุเมธ เหล่าโมราพร ประธานผู้บริหารฝ่ายปฏิบัติการ บริษัท ซี.พี. อินเตอร์ เทรด จำกัด ในฐานะผู้ส่งออกรายใหญ่ กล่าวว่า ข้าวไทยในปีหน้าจะยังสามารถแข่งขันได้ แต่ต้องเน้นการสร้างมูลค่าตลาดให้มากขึ้น สร้างแบรนด์เนม สร้างช่องทางการขายให้มีประสิทธิภาพ รัฐบาลเองก็ควรมีส่วนสนับสนุนด้วย พร้อมเสนอว่า ควรมี Rice Board ที่เป็นคณะกรรมการของเอกชน เพื่อจะได้กำหนดนโยบาย หรือการตลาด

ทั้งนี้ คาดว่าราคาข้าวหอมมะลิปี 54 จะอยู่ที่ระดับ 1,100-1,200 เหรียญ/ตัน จากปัจจุบัน 1,040-1,050 เหรียญ/ตัน ส่วนข้าวขาวคาดว่าราคาจะอยู่ที่ราว 500 เหรียญ/ตัน อย่างไรก็ตาม ต้องดูปัจจัยอื่นประกอบด้วย อาทิ เรื่องของอัตราแลกเปลี่ยน ดีมานด์ซัพพลาย

"ปีหน้าไม่สบายแต่ไม่ทุลักทุเล อุปทาน ปี 54 ไม่ขาดแคลนแต่จะใกล้เคียงกับอุปสงค์ ปีนี้ประมาณ 400 ล้านตัน ซึ่งแต่ละปีบวกเพิ่มขึ้นประมาณ 3-5%" นายสุเมธ กล่าว

นายสุเมธ กล่าวถึงผลกระทบจากภาวะน้ำท่วมว่า คาดว่าผลผลิตข้าวนาปี 53/54 จะลดเหลือ 21.84 ล้านตัน ลดลง 1.1 ล้านตันจากที่คาดการผลผลิตที่จะออกใหม่ 22.94 ล้านตัน

สำหรับในส่วนของซี.พี .ในปี 54 จะมุ่งเน้นเจาะตลาดแอฟริกามากขึ้น ซึ่งเป็นตลาดใหญ่ 50% ของตลาดส่วงออกข้าวทั่วโลก โดยแอฟริกาบริโภคข้าวปีละ 8-9 ล้านตัน

ด้าน น.ส.กอบสุข เอี่ยมสุรีย์ นายกสมาคมผู้ส่งออกข้าวไทย กล่าวว่า ปัญหางินเบาทแข็งค่าทำให้ข้าวไทยเสียเปรียบคู่แข่งสำคัญอบ่างเวียดนาม โดยขณะนี้ราคาข้าวไทยแพงกว่าเวียดนามถึง 16-17% เนื่องจากตั้งแต่ต้นปีค่าเงินบาทแข็งค่า 10% ขณะที่เงินดองเวียดนามอ่อนค่าลง 6-7%

"ถ้าไทยมีความเสียหายอะไรเกิดขึ้น เราก็อยากให้คู่แข่งเสียหายตาม อย่างเงินบาทแข็งก็อยากให้ค่าเงินเวียดนามแข็งด้วยเพื่อให้การแข่งขันเป็นไปอย่างใกล้เคียงกัน แต่กลับเป็นว่า บาทแข็ง แต่เงินดองอ่อนเป็นไปในทิศทางที่ตรงกันข้ามกัน อันนี้อันตรายมากๆ ... เบื่อที่จะสู้รบปรบมือกับผู้ไม่รู้ ...คือ ธปท"

"คนที่แข็งค่าเหมือนกับเรา อย่างมาเลเซีย คือคนที่เป็นลูกค้า มันไม่ได้เกิดประโยชน์ สู้ทำให้ค่าเงินของเราแข่งขันกับคู่แข่ง กับสินค้าชนิดเดียวกันถึงจะเกิดประโยชน์มากกว่า"น.ส.กอบสุข กล่าว

ขณะที่นายชาญชัย รักษ์ธนานนท์ นายกสมาคมโรงสีข้าว กล่าวว่า ไทยเสียเปรียบด้านการแข่งขันในอาเซียน โดยเฉพาะประเทศเพื่อนบ้าน อย่างเวียดนามที่ค่าเงินอ่อนกว่า ขณะที่กัมพูชาที่ได้เปรียบเราเรื่องสิทธิประโยชน์ทางภาษี EU ที่เป็นเงื่อนไขสำคัญที่ทำให้เราเสียเปรียบ

"เรื่องต้นทุนไม่น่ากลัว แต่เราเก่งกว่าเวียดนาม คือ เวียดนามปลูกข้าว 50 ไร่ ใช้แรงงาน 4 คน ขณะที่ไทยใช้แค่ 2 คน ถ้าเราได้ขายข้าวได้ตันละ 1 หมื่นบาท เงินจะหลุดออกไปนอกประเทศไม่เกิน 2 พันบาทส่วนใหญ่เป็นค่าปุ๋ย ค่ายาปราบศตรูพืช น้ำมัน ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิต"นายชาญชัย กล่าวง

นายชาญชัย กล่าวถึงโครงการประกันราคาว่า เป็นโครงการที่ดี มาถูกทางถูกต้อง ไม่บิดเบือนตลาด แต่ยังไม่ครบถ้วน เพราะถือเป็นการชี้นำราคาให้กับต่างประเทศอย่างหนึ่ง อย่างกรณีรัฐบาลประกันราคาไว้ที่ 10,000 บาท แต่ราคาในตลาดตกเหลือ 7,000 บาท ต้องชดเชย 3,000 บาท ซึ่งทำให้ต่างประเทศรู้และมาซื้อในช่วงราคาตก เป็นการกดดันราคาทำให้ขายลำบาก


แท็ก ข้าวไทย   Rice  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ