นักวิชาการคาดปี 54 GDP โต 4-5% ภาคส่งออก-การลงทุนเอกชนยังขับเคลื่อนศก.

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday December 22, 2010 16:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมชาย ภคภาสวิวัฒน์ นักวิชาการด้านเศรษฐศาสตร์และการเมือง ให้มุมมองต่อเศรษฐกิจไทยในปี 54 ว่า GDP จะขยายตัวได้ในอัตรา 4-5% ส่วนภาคการส่งออกคาดว่าจะขยายตัวได้ 12-15% ชะลอตัวลงจากปี 53 โดยตัวแปรสำคัญต่อการกระตุ้นเศรษฐกิจปีหน้ายังมาจากภาคการส่งออก และการลงทุนภาคเอกชน ขณะที่ความเสี่ยงทางธุรกิจในปีหน้ายังมาจากความไม่แน่นอนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป(EU)

ในขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯ อาจจะมีการออกมาตรการ QE รอบ 3 ที่คาดว่าจะต้องใช้เม็ดเงินประมาณ 8 แสนล้านดอลลาร์ ซึ่งนักเศรษฐศาสตร์มองว่าจะช่วยเศรษฐกิจสหรัฐฯได้ในระยะสั้น แต่ระยะกลางและระยะยาวอาจเป็นปัญหาต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และส่งผลต่อค่าเงินดอลลาร์ได้

ส่วนเศรษฐกิจไทยในปีหน้าคาดว่ายังคงเกินดุลบัญชีเดินสะพัด ส่งผลให้เงินบาทยังคงแข็งค่าต่อเนื่อง โดยคาดว่าปี 54 เงินบาทมีโอกาสแข็งค่าไปอยู่ที่ 29 บาท/ดอลลาร์ และช่วงครึ่งปีหลังอาจแข็งค่าได้ถึงระดับ 28 บาท/ดอลลาร์ ขณะที่อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังคงเป็นขาขึ้น โดยคาดว่าอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะปรับขึ้นได้อีก 0.75-1.00% จากระดับปัจจุบัน

อย่างไรก็ดี มองว่าการลงทุนในตลาดหุ้นไทยปีหน้าจะปรับตัวดีขึ้น แต่อาจแผ่วลงจากปี 53 ส่วนราคาทองคำ สินค้าโภคภัณฑ์ อาจปรับตัวสูงขึ้น รวมถึงราคาสินค้าเกษตร เช่น ยางพาราที่มีราคาสูงเป็นประวัติการณ์ในปีนี้ ดังนั้นจึงควรระมัดระวังเพราะถือเป็นราคาที่สูงขึ้นผิดปกติ และอาจมีการปรับตัวลงแรงได้

ด้านราคาน้ำมันในตลาดโลก มีโอกาสปรับสูงขึ้นจากการที่เศรษฐกิจโลกเริ่มเห็นสัญญาณการฟื้นตัว ซึ่งบางช่วงอาจได้เห็นราคาน้ำมันขึ้นไปแตะระดับ 100 ดอลลาร์/บาร์เรลได้

ส่วนปัจจัยการเมืองในประเทศนั้น อาจจะมีการเลือกตั้งในช่วงครึ่งปีหลัง และมองว่ารัฐบาลยังเป็นฝ่ายได้เปรียบในการเลือกตั้งครั้งหน้า โดยฝ่ายตรงข้ามมีโอกาสน้อยมากที่จะกลับมาเป็นรัฐบาล

นายสมชาย ยังแนะว่าแม้ในปี 2015 ที่จะมีการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) แต่ต้องการให้มองข้ามไปว่าในระยะไม่เกิน 10 ปีข้างหน้านี้จะมีความร่วมมือทางการเงินในภูมิภาคเอเชียในการใช้เงินสกุลเดียว โดยมองว่าจะใช้เงินหยวนจีนและเงินเยนญี่ปุ่นในการซื้อขายสินค้ามากขึ้น และลดการใช้เงินสกุลดอลลาร์ลง


แท็ก การส่งออก   GDP  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ