เลขาอังค์ถัดแนะตั้งกมธ.ติดตามข้อมูล-ผลกระทบจาก AEC ดันเป็นวาระแห่งชาติ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 14, 2011 15:33 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการการประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (อังค์ถัด) เสนอแนะให้รัฐบาลจัดตั้งคณะกรรมาธิการร่วมระหว่างภาครัฐและเอกชนในการให้ข้อมูลและติดตามผลกระทบที่จะเกิดขึ้นจากการรวมกลุ่มประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน(AEC) ที่จะเกิดขึ้นในปี 58 และควรจัดทำเรื่องดังกล่าวให้เป็นวาระแห่งชาติ ทั้งนี้เพื่อให้ทั้งภาครัฐและภาคเอกชนไทยได้รับทราบข้อมูลที่เป็นประโยชน์และถูกต้องในทุกแง่มุมที่จะเกิดขึ้นจากการเป็น AEC

"เราอาจจะต้องมีคณะกรรมาธิการแห่งชาติ เป็นหน่วยงานของรัฐร่วมกับเอกชน กำหนดวาระต่างๆ ในการปรับโครงสร้าง ให้ข้อมูล รวมถึงแก้ไขข้อบกพร่องในสัญญา(การค้า)เดิมๆ ควรต้องมีกรรมาธิการมาประสานงานกัน มีฝ่ายการเมืองเข้ามาร่วม เป็นการทำงานของเอกชนและรัฐบาล เสนอข้อมูลผ่าน กรอ. และต่อไปยัง ครม.เศรษฐกิจ น่าทำให้เป็นวาระแห่งชาติ" นายศุภชัย กล่าวในงานเสวนา "ความพร้อมของเอกชนไทยในเวที AEC - การค้าโลก"

นายศุภชัย กล่าวว่า เมื่อเข้าสู่การเป็น AEC แล้วมีแนวโน้มว่าจะมีการแข่งขันสูงในประเภทสินค้าบริการ เช่น กลุ่มธนาคารพาณิชย์, บริษัทประกัน และบริการด้านการขนส่ง เป็นต้น ซึ่งทำให้ในอนาคตจะต้องมีการเข้ามาเปิดตลาดมากขึ้น และทำให้ภาคเอกชนของไทยจะต้องมีการปรับเปลี่ยนโครงสร้างการแข่งขัน

อย่างไรก็ดี ต้องยอมรับว่าการเข้าสู่ประชาคม AEC ไม่ได้หมายความว่าประเทศไทยจะต้องได้รับประโยชน์หรือได้เปรียบในทุกด้าน เพราะจะต้องมีบางเรื่องที่ไทยอาจเสียเปรียบประเทศสมาชิก ดังนั้นการปรับตัวให้สามารถแข่งขันได้จึงเป็นสิ่งสำคัญที่ต้องปฏิบัติ ไมว่าจะเป็นเรื่องประสิทธิภาพการผลิตสินค้า เครื่องมือเครื่องจักร รวมถึงศักยภาพของแรงงาน เป็นต้น

เลขาธิการอังค์ถัด แสดงความกังวลว่าอุปสรรคส่วนหนึ่งในการเข้าสู่ประชาคม AEC ของผู้ประกอบการไทยคือ การขาดความรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องผ่านการให้ข้อมูลของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ทั้งนี้ปัญหาดังกล่าวไม่ได้เกิดขึ้นกับประเทศไทยเพียงประเทศเดียว เพราะขณะนี้ยังมีอีกหลายประเทศที่ประสบปัญหาในการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารในเรื่องนี้ ดังนั้นจึงเสนอแนะให้ประเทศไทยมีบทบาทนำในการประสานงานการเจรจาโดยใช้โอกาสผ่านทางสำนักงานเลขาธิการอาเซียนได้มีบทบาทในการทำหน้าที่เสริมความแข็งแกร่งให้กับกลุ่มประเทศสมาชิกเพื่อเสริมสร้างความเข้มแข็งทางการแข่งขันในกลุ่ม AEC

"ปัญหาเรื่องการขาดข้อมูลข่าวสาร ผมวิตกมาก เพราะภาคธุรกิจที่รู้เรื่องข้อตกลงต่างๆ มีไม่ถึง 50% นี่คือจุดอ่อนทั้งหมด ไม่ใช่เฉพาะของไทยประเทศเดียว" นายศุภชัย กล่าว

นายศุภชัย กล่าวว่า เมื่อมีการรวมกลุ่มเป็น AEC แล้วจะต้องพยายามทำให้กลุ่ม AEC มีความเข้มแข็งมีแต้มต่อและสามารถช่วยเหลือพึ่งพากันเองในกลุ่มอาเซียนได้ โดยเฉพาะความเข้มแข็งทางด้านการเงิน การคลัง รวมถึงการดูแลอัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพไม่ใช่ไปกันคนละทิศละทาง เนื่องจากในปีนี้เชื่อว่าจะยังมีปัญหาเรื่องความผันผวนของค่าเงินอยู่มาก ซึ่งส่วนหนึ่งมีผลมาจากปัญหาเศรษฐกิจในสหภาพยุโรป

ดังนั้นในระดับ AEC จึงควรมีการจัดตั้งคณะกรรมการด้านการเงินขึ้น เพื่อเข้ามาดูแลเรื่องอัตราดอกเบี้ย การประสานนโยบายการเงินการคลัง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยน เพื่อป้องกันไม่ให้มีการเข้ามาเก็งกำไรค่าเงินหรือมีการเข้ามาโจมตีค่าเงินในภูมิภาค

โดยมองว่า ประเทศไทยน่าจะมีบทบาทนำในการประสานงานกับสมาชิก AEC ในเรื่องนี้ และจัดตั้งเป็นกองทุนขึ้นเพื่อการพัฒนาในด้านต่างๆ ของประเทศสมาชิก เช่น ระบบสาธารณูปโภค ระบบโลจิสติกท์ เป็นต้น โดยให้แต่ละประเทศนำเงินทุนสำรองระหว่างประเทศที่มีอยู่มาร่วมลงขันกันตั้งกองทุนนี้ให้เกิดเป็นรูปธรรม ซึ่งจะทำให้ประเทศที่กำลังพัฒนาได้มีแต้มต่อ และสามารถสร้างการต่อรองได้โดยไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งพาแต่กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) เพียงอย่างเดียว

"น่าจะมีคณะกรรมการการเงินเข้ามาดูแลเรื่องดอกเบี้ย ประสานการทำนโยบายการเงินการคลัง อัตราแลกเปลี่ยนให้มีเสถียรภาพ การเป็นประชาคม AEC จะต่างคนต่างอยู่ไม่ได้ เรื่องอัตราแลกเปลี่ยน นโยบายการเงินการคลัง คงไม่ตรงกันหมดแต่อย่าให้ต่างกันมากจนมีคนเข้ามาเก็งกำไรได้...การแกว่งของค่าเงินเริ่มมีมากยิ่งขึ้น เราจะอยุ่ได้ก็ต่อเมื่อเราไปด้วยกัน" นายศุภชัย กล่าว

เลขาธิการอังค์ถัด กล่าวต่อว่า การจัดตั้งประชาคม AEC ในช่วงนี้ถือว่ามีความเหมาะสมกับสถานการณ์ภายใต้การเปลี่ยนแปลงด้านการเงินของโลก การรวมกลุ่มกันจะช่วยลดทอนความจำเป็นในการพึ่งพาประเทศที่พัฒนาแล้ว อย่างไรก็ดี ประเทศสมาชิก AEC จะต้องปรับสมดุลระหว่างอุปสงค์ในประเทศกับต่างประเทศให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ไม่ควรหวังพึ่งพาตลาดส่งออกมากจนเกินไป เนื่องจากเชื่อว่าขณะนี้ตลาดในประเทศที่พัฒนาแล้วมาถึงจุดที่อิ่มตัวแล้ว ไม่ว่าจะเป็นสหรัฐฯ หรือสหภาพยุโรป ขณะเดียวกันจะต้องสร้างแรงจูงใจให้เกิดการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ(FDI) เข้ามาในอาเซียนให้มากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ