(เพิ่มเติม1) 3องค์กรรัฐจับมือ BCPพลิกสวนส้มร้าง 1.5แสนไร่เป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday January 20, 2011 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

4 องค์กรรัฐและเอกชน ประกอบด้วย กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กระทรวงพลังงาน ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร(ธ.ก.ส.) และ บมจ.บางจากปิโตรเลียม (BCP) ร่วมพลิกฟื้นสวนส้มร้างทุ่งรังสิตกว่า 1.5 แสนไร่มาเป็นพื้นที่ปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับความต้องการใช้ที่เพิ่มขึ้นในอนาคต ทั้งในด้านอาหารและพลังงาน

นายลักษณ์ วจนานวัช ผู้จัดการ ธ.ก.ส. กล่าวว่า ธ.ก.ส.จะให้การสนับสนุนโดยให้ BCP เช่าที่ดิน 1,200 ไร่ เพื่อจัดตั้งศูนย์ศึกษาและพัฒนาการปลูกปาล์มน้ำมัน เพื่อรองรับความต้องการในอนาคตทั้งทางด้านอาหารและทางด้านพลังงาน

ที่ดินดังกล่าวเป็นทรัพย์สินของ ธ.ก.ส. และมีเกษตรกร 6 พันรายที่เคยขอสินเชื่อไปทำสวนส้ม แต่เนื่องจากเกิดปัญหาดินเปรี้ยวทำให้เพาะปลูกไม่ได้ ทำให้ขาดทุนจนส่งผลให้กลายเป็นหนี้เสีย รวมมูลหนี้ประมาณ 500 ล้านบาท และที่ดินตรงนี้เมื่อศึกษาแล้วพบว่าพืชที่มีศักยภาพและสามารถใช้ประโยชน์จากที่ดินตรงนี้ได้คือ ปาล์มน้ำมัน เนื่องจากสามารถทนดินเปรี้ยวได้

นอกจากนี้ ธ.ก.ส.พร้อมจะให้การสนับสนุนสินเชื่อแก่เกษตรกรที่อยากจะลงทุนปลูกปาล์มน้ำมันเองแต่ขาดเงินลงทุน โดยจะคิดดอกเบี้ยต่ำ และมีระยะเวลาในการผ่อนชำระได้นาน เพราะการปลูกปาล์มต้องใช้เวลาอย่างน้อยประมาณ 3 ปีจึงจะสามารถเก็บเกี่ยวผลผลิตได้ ซึ่งเบื้องต้นคาดว่าจะให้การสนับสนุนสินเชื่อเป็นเงิน 15,000 บาทต่อไร่

อย่างไรก็ตาม ธ.ก.ส.ไม่จำกัดวงเงินสนับสนุนการปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากการปลูกปาล์มน้ำมันต้องใช้เงินลงทุนค่อนข้างสูง

ส่วนในกรณีที่เกษตรกรอยากจะลงทุนแต่ไม่มั่นใจไม่ว่าจะเป็นเรื่องสภาพดินเปรี้ยว ไม่มีประสบการณ์ ทางกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ โดยกรมพัฒนาที่ดินก็จะเข้าไปช่วยปรับสภาพดิน ขณะที่บางจากฯ ก็พร้อมจะเข้าไปลงทุนให้และขอเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงแรก รวมทั้งจะรับซื้อผลผลิตไว้ทั้งหมด

นายลักษณ์ กล่าวต่อว่า โครงการพลิกฟื้นสวนส้มร้างทุ่งรังสิตเพื่อปลูกปาล์มน้ำมันนี้ นอกจากจะเป็นการสร้างและพัฒนาแหล่งพลังงานขนาดใหญ่แหล่งใหม่ในพื้นที่ภาคกลางให้กับประเทศไทย เพราะปัจจุบันพื้นที่ปลูกปาล์มส่วนใหญ่จำกัดอยู่เฉพาะภาคใต้ เวลาเกิดภัยธรรมชาติในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้ผลผลิตปาล์มเกิดปัญหาขาดแคลนอย่างหนัก

นอกจากนี้ การมีแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันอยู่ในเขตภาคกลางยังเป็นการช่วยดูดซับป้องกันน้ำท่วมได้ในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพมหานครได้อีกด้วย

ด้านนายเฉลิมพร พิรุณสาร ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าวเสริมว่า สวนส้มร้างทุ่งรังสิตมีศักยภาพในการปลูกปาล์มน้ำมัน เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีระบบชลประทานที่ดี ปาล์มน้ำมันสามารถปลูกได้ในดินเปรี้ยว ซึ่งจากการทดลองปลูกในพื้นที่ดังกล่าวมากว่า 6 ปี พบว่าให้ผลผลิตที่ดีไม่แพ้ภาคใต้ จนสามารถพัฒนาเป็นแหล่งปลูกปาล์มน้ำมันขนาดใหญ่ได้ "ที่สำคัญ ปาล์มน้ำมันเป็นพืชที่ชอบน้ำ การขยายพื้นที่ปลูกปาล์มในบริเวณทุ่งรังสิต จึงเป็นการช่วยเพิ่มพื้นที่ดูดซับน้ำในช่วงฤดูน้ำหลาก เพื่อป้องกันน้ำท่วมกรุงเทพได้อีกด้วย"ปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ กล่าว

ส่วนนายอนุสรณ์ แสงนิ่มนวล กรรมการผู้จัดการใหญ่ BCP กล่าวว่า หากผลผลิตปาล์มน้ำมันจากพื้นที่ดังกล่าวออกมาตามเป้าหมาย บริษัทก็จะพิจารณาสร้างโรงงานสกัดปาล์มน้ำมันขนาดมาตรฐาน มูลค่า 350 ล้านบาท เพื่อต่อยอดทำให้อนาคต BCP สามารถเพิ่มกำลังผลิตไบโอดีเซลเป็น 4 แสนลิตรต่อวัน จากปัจจุบันมีการผลิต 3 แสนลิตรต่อวัน

"ตอนนี้บางจาก มีผลผลิตไบโอดีเซล บี 100 เพิ่มขึ้น โดยตั้งเป้าจะขยายกำลังการผลิตไบโอดีเซล บี 100 ได้ 400,000 ตันต่อวัน ขึ้นอยู่กับนโยบายของรัฐบาลว่า จะมีแนวทางส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล บี 5 เกรดเดียวหรือไม่"

ทั้งนี้ การส่งเสริมให้เกษตรกรในพื้นที่สวนส้มร้างทุ่งรังสิต หันมาปลูกปาล์มน้ำมัน เพิ่มรายได้และแก้ปัญหาหนี้สินให้กับเกษตรกร ป้องกันปัญหาน้ำท่วมกรุงเทพมหานคร บรรเทาปัญหาภาวะโลกร้อน และช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ รวมทั้งยังเป็นแหล่งดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้ถึง 500,000 ตันต่อปี

นอกจากนี้ยังเป็นหนึ่งในโครงการลดโลกร้อนถวายพ่อ เพื่อร่วมเทิดพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวในโอกาสครบ 7 รอบ 84 พรรษา 5 ธันวาคม 2554

นายอนุสรณ์ กล่าวต่อว่า โครงการนี้หากเกษตรกรปลูกปาล์ม 5-6 หมื่นไร่ จะสามารถสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบได้ถึง 1.5 แสน ลิตรต่อวัน อย่างไรก็ตาม หากผลการศึกษาที่ดินพบว่าบริเวณใดสามารถเพาะปลูกข้าวได้ ก็จะไม่เข้าไปแย่งพื้นที่ปลูกพืชอาหาร และหากเกษตรกรรายใดสนใจอยากปลูกปาล์ม แต่ไม่มั่นใจหรือไม่พร้อมด้านเงินลงทุน บริษัทก็ยินดีเข้าไปลงทุนให้เพื่อลดความเสี่ยงให้เกษตรกร ภายใต้เงื่อนไขเมื่อได้ผลผลิตปาล์ม บริษัทจะขอเข้าไปเก็บเกี่ยวผลผลิตในช่วงครึ่งแรกของช่วงอายุต้นปาล์ม เพื่อนำไปสกัดเป็นน้ำมันปาล์มดิบและผลิตเป็นไบโอดีเซล ณ ศูนย์ผลิตไบโอดีเซล อ.บางปะอิน จ.พระนครศรีอยุธยา

"บางจากฯ จะขอเก็บเกี่ยวผลปาล์มในช่วงแรกคือปีที่ 4 จนถึงปีที่ 12 (ต้นปาล์ม 1 ต้นมีอายุ 25 ปี) หลังจากนั้นคือปีที่ 13 จนถึงปีที่ 25 จะให้เกษตรกรเป็นผู้เก็บเกี่ยวผลปาล์มเองและบางจากฯ จะเป็นผู้รับซื้อผลปาล์มไว้เองทั้งหมด

ขณะที่นายณอคุณ สิทธิพงศ์ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า กระทรวงพลังงานมีนโยบายส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล บี 5 เกรดเดียวทั่วประเทศภายในปี 54 ซึ่งจะส่งผลให้ปริมาณการใช้ไบโอดีเซล บี 100 เพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านลิตรต่อวัน จากปัจจุบัน 1.8 ล้านลิตรต่อวัน

นอกจากนี้ จะส่งเสริมการใช้ไบโอดีเซล บี 10 เป็นพลังงานทางเลือกในอนาคต เพื่อช่วยสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศอีกด้วย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ