ดัชนี FCI ก.พ.ชะลอจากเดือนก่อนหน้า แต่คาดมี.ค.อาจวูบแรงจากดบ.ขาขึ้น

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 30, 2011 18:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย ระบุว่า ดัชนีต้นทุนทางการเงินของภาคธุรกิจ (FCI) ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 อยู่ที่ระดับ 126.2 โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงจากปีก่อน (YoY) ที่ชะลอตัวลงจาก 1.7% ในเดือนมกราคม มาที่ 1.4% ซึ่งชะลอลงติดต่อกันเป็นเดือนที่ 4 ขณะที่ เมื่อพิจารณาดัชนีที่ปรับฤดูกาล (Seasonally Adjusted: S.A.) พบว่าอยู่ที่ 0.1% หรือค่อนข้างทรงตัวจากเดือนก่อนหน้า

การระดมทุนเชิงปริมาณเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ซึ่งเป็นผลรวมของการระดมทุนในตลาดหุ้น (เน้นไปที่หุ้นเพิ่มทุน) ตลาดหุ้นกู้ และเงินให้กู้ยืมจากธนาคารพาณิชย์ ในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 นั้น อยู่ที่ระดับ 1.0 แสนล้านบาท ซึ่งขยับขึ้นจาก 9.7 หมื่นล้านบาทในเดือนมกราคม 2554 นำโดยสินเชื่อปล่อยใหม่ที่ยังเพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงจาก 8.3 หมื่นล้านบาท มาที่ 9.2 หมื่นล้านบาทในเดือนกุมภาพันธ์ 2554 ขณะที่ การระดมทุนของธุรกิจเอกชนผ่านตลาดตราสารหนี้และตลาดหุ้นชะลอลง

อย่างไรก็ตาม แม้ว่าดัชนี FCI จะทรงตัวในเดือนกุมภาพันธ์ แต่จุดที่น่าจับตาคือ ทิศทางดัชนีในเดือนมีนาคม 2554 เนื่องจากคาดว่าจะปรับตัวลดลงค่อนข้างแรง อันส่งสัญญาณถึงต้นทุนของการระดมทุนที่ปรับขึ้นชัดเจนจากเดือนก่อนหน้า โดยเฉพาะอย่างยิ่งหลังจากที่ ธปท.ประกาศปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบายอีก 0.25% มาที่ 2.5% ในช่วงระหว่างเดือน ซึ่งกระตุ้นให้ธนาคารพาณิชย์ต่างขยับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ตาม (พร้อมๆ กับการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเงินฝากออมทรัพย์ และประจำ) ตลอดจน มีส่วนดันให้ผลตอบแทนตราสารหนี้ขยับขึ้นต่อเนื่อง ไม่ว่าจะเป็นอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาล และสเปรดของหุ้นกู้เอกชน (เรตติ้ง AAA) ที่กว้างขึ้นจากเดือนก่อนหน้าอีก 2.1-5.5 จุด (bps.)

ทิศทางอัตราดอกเบี้ยขาขึ้นดังกล่าว นอกจากจะกดดันให้ต้นทุนทางการเงินของธุรกิจเอกชนเพิ่มขึ้นแล้ว ก็ยังจะส่งผลกระทบต่อด้านรายได้ของภาคธุรกิจเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจที่พึ่งพิงการบริโภคและการใช้จ่ายในประเทศ ผ่านอำนาจซื้อของผู้บริโภคเผชิญปัจจัยลบจากทั้งการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยและเงินเฟ้อ รวมถึงความเชื่อมั่นของผู้บริโภคที่บั่นทอนลงจากสถานการณ์แวดล้อมทางเศรษฐกิจที่มีความไม่แน่นอนมากขึ้นในระยะนี้

ทั้งนี้ กลุ่มสินค้าที่เผชิญความอ่อนไหวต่อการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยค่อนข้างสูง คงจะหนีไม่พ้นสินค้าคงทนอย่างเช่น ที่อยู่อาศัย และยานยนต์ (ดังจะเห็นได้จากค่าความยืดหยุ่น หรือ Elasticity ของการเปลี่ยนแปลงของปริมาณที่อยู่อาศัยสร้างเสร็จจดทะเบียน และยอดจำหน่ายยานยนต์ต่อการเปลี่ยนแปลงอัตราดอกเบี้ย ที่สูงกว่าสินค้าไม่คนทน อาทิ ยอดค้าปลีก) ซึ่งบ่งชี้ถึงความจำเป็นที่ผู้ประกอบการอาจต้องปรับการวางตลาดเป้าหมายในปีนี้ ให้มีความเหมาะสมกับอำนาจซื้อของผู้บริโภคมากขึ้น เพื่อประคับประคองสถานการณ์ด้านรายได้ในภาพรวม

นอกจากนี้ ยังเป็นที่น่าติดตามว่า เงินให้สินเชื่อของธนาคารพาณิชย์ ซึ่งมีบทบาทสำคัญในฐานะแหล่งเงินทุนของธุรกิจเอกชนนั้น จะสามารถประคับประคองโมเมนตัมที่แข็งแกร่งดังเช่นในช่วง 2 เดือนแรกของปี ได้หรือไม่ เนื่องจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ โดยเฉพาะน้ำมันในตลาดโลกเริ่มเคลื่อนไหวค่อนข้างทรงตัวในเดือนมีนาคม 2554 แทนที่จะไต่ระดับขึ้นชัดเจนดังเช่นในช่วง 2 เดือนก่อนหน้า ซึ่งอาจส่งผลกระทบตามมาถึงความต้องการสินเชื่อหมุนเวียนระยะสั้นของภาคธุรกิจ ขณะที่ ความไม่แน่นอนของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจ อาทิ ผลกระทบที่สืบเนื่องจากเหตุธรณีพิบัติภัยในญี่ปุ่น แผ่นดินไหวในพม่าที่สร้างความเสียหายมายังพื้นที่หลายจังหวัดในไทย และอุทกภัยในหลายจังหวัดทางภาคใต้ อาจทำให้ภาคธุรกิจเลื่อนแผนการขยายการลงทุนและการขอสินเชื่อเพื่อขยายการลงทุนดังกล่าวออกไป จนกว่าสถานการณ์จะคลี่คลายลง หรือมีความชัดเจนมากขึ้น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ