โตโยต้า เผยยอดขายตลาดรถยนต์ในประเทศ มี.ค.54 โต 47.5% มาที่ 93,008 คัน

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 20, 2011 16:50 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวุฒิกร สุริยะฉันทนานนท์ ผู้ช่วยกรรมการผู้จัดการใหญ่อาวุโส บริษัท โตโยต้า มอเตอร์ ประเทศไทย จำกัด รายงานสถิติการขายรถยนต์เดือน มี.ค.54 มีปริมาณการขายทั้งสิ้น 93,008 คัน เพิ่มขึ้น 47.5% ประกอบด้วย รถยนต์นั่ง 41,692 คัน เพิ่มขึ้น 80.3% รถเพื่อการพาณิชย์ 51,316 คัน เพิ่มขึ้น 28.5% รวมทั้ง รถกระบะขนาด 1 ตัน ในเซกเมนท์นี้ จำนวน 44,106 คัน เพิ่มขึ้น 26.2%

ตลาดรถยนต์เดือน มี.ค.54 มีปริมาณการขายสูงสุดเป็นสถิติใหม่ของยอดขายในเดือนมี.ค.ด้วยอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 47.5% ซึ่งเป็นการเติบโตที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 19 เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา

โดยเฉพาะอย่างยิ่งตลาดรถยนต์นั่งที่มีปริมาณการขาย 41,692 คัน เพิ่มขึ้น 80.3% เป็นยอดจำหน่ายต่อเดือนที่สูงที่สุดในประวัติศาสตร์ของตลาดรถยนต์นั่ง ส่วนหนึ่งเป็นผลจากความนิยมอย่างต่อเนื่องของรถยนต์นั่งขนาดเล็กและรถยนต์ประหยัดพลังงานที่เพิ่มสูงขึ้น โดยสามารถครองส่วนแบ่งในตลาดรถยนต์นั่งได้มากกว่า 60% ด้านตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีปริมาณการขาย 51,316 คัน เพิ่มขึ้น 28.5%

ส่วนภาพรวมตลาดรถยนต์ไตรมาสแรกของปี 54 มีปริมาณการขาย 238,619 คัน สูงสุดเป็นสถิติใหม่ของยอดขายในไตรมาสแรกด้วยอัตราการเติบโตที่เพิ่มขึ้น 43.1% เมื่อเทียบกับช่วงเวลาเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยตลาดรถยนต์นั่งมีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 60.3% ตลาดรถยนต์เพื่อการพาณิชย์มีอัตราการเติบโตเพิ่มขึ้น 31.7% สะท้อนถึงภาวะเศรษฐกิจในประเทศที่ดีทั้งจากการขยายตัวในภาคการลงทุน การส่งออกที่ดีขึ้นจากปัจจัยในด้านราคา ประกอบกับการแข่งขันในการปล่อยสินเชื่อรถยนต์ที่เอื้อต่อการตัดสินใจซื้อ ตลอดจนความนิยมอย่างต่อเนื่องในรถยนต์รุ่นใหม่

นายวุฒิกร กล่าวว่า ตลาดรถยนต์ในเดือน เม.ย.54 คาดว่าอยู่ในระดับทรงตัว จากยอดจองที่สูงสุดของการจัดงานมอเตอร์โชว์ การแนะนำรถยนต์รุ่นใหม่ รุ่นปรับปรุงโฉม รุ่นพิเศษ ข้อเสนอพิเศษและเงื่อนไขการเช่าซื้อที่หลากหลายจากค่ายรถยนต์ต่างๆ

แต่ทั้งนี้เหตุการณ์สึนามิและแผ่นดินไหวที่เกิดขึ้นในประเทศญี่ปุ่นในช่วงกลางเดือน มี.ค.ที่ผ่านมาโรงงานผลิตรถยนต์และโรงงานของผู้ผลิตชิ้นส่วนรถยนต์ในประเทศญี่ปุ่นจำเป็นต้องหยุดการผลิตไประยะหนึ่ง ซึ่งขณะนี้ได้เริ่มกลับมาเดินเครื่องจักรในการผลิตแล้ว แต่ยังไม่เต็มกำลังการผลิตสูงสุดอาจส่งผลต่อยอดการผลิตและเกิดความล่าช้าในการส่งมอบรถยนต์ให้กับลูกค้าในประเทศไทย

ประกอบกับปัญหาอุทกภัยทางภาคใต้ การปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ตลอดจนปัญหาทางการเมืองในตะวันออกกลางและแอฟริกาเหนือที่ส่งผลให้ราคาน้ำมันมีแนวโน้มสูงขึ้น อาจส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้บริโภค และเป็นปัจจัยกดดันตลาดรถยนต์


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ