(เพิ่มเติม) รมว.คลังมอบหน่วยงานเกี่ยวข้องศึกษาการดำเนินนโยบาย พท. รายงานใน 1 สัปดาห์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday August 15, 2011 12:54 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายธีระชัย ภูวนาถนรานุบาล รมว.คลัง ได้มอบหมายให้ข้าราชการระดับสูงของกระทรวงการคลังเตรียมความพร้อมในหลายเรื่อง โดยเฉพาะนโยบายของพรรคเพื่อไทยที่ได้หาเสียงไว้ เช่น การลดภาษีเงินได้นิติบุคคล การเพิ่มเงินกองทุนหมู่บ้าน บัตรเครดิตเกษตรกรนั้น ได้ขอให้ข้าราชการที่เกี่ยวข้องแต่ละหน่วยงานนำแต่ละนโยบายไปศึกษา และให้เสนอความคิดเห็นได้อย่างอิสระ โดยยึดหลักความยั่งยืนทางการคลัง

ซึ่งการดำเนินนโยบายของพรรคเพื่อไทยนี้ ตนจะทำหน้าที่ประสานความใฝ่ฝันทางการเมือง และความเป็นไปได้ทางวิชาการ โดยกำหนดให้ศึกษาให้แล้วเสร็จภายใน 1 สัปดาห์ เพื่อให้ปลัดกระทรวงการคลัง และผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง(สศค.) นำมาพิจารณาต่อ ก่อนจะรายงานให้ตนได้รับทราบต่อไป

นอกจากนี้ ยังมอบหมายให้ปลัดกระทรวงการคลัง และสศค.จัดเตรียมข้อมูลเพื่อเตรียมหารือกับธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) เกี่ยวกับความเสี่ยงจากปัจจัยภายนอก จากภาวะของเศรษฐกิจโลกที่มีแนวโน้มชะลอตัว ซึ่งถือเป็นความเสี่ยงและความท้าทายเพื่อนำไปพิจารณาร่วมกับ ธปท.เพื่อวางแผนรับมือ โดยจะมีการจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชน ในการติดตามภาวะเศรษฐกิจ โดยมี รมว.คลังเป็นประธาน ร่วมด้วยผู้ว่าฯ ธปท. ประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย, ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) และภาคเอกชนต่างๆ เป็นกรรมการ

รมว.คลัง กล่าวว่า นโยบายเร่งด่วนที่ต้องดำเนินการขณะนี้ คือ มาตรการช่วยเหลือผู้ประสบอุทกภัย ซึ่งได้หารือกับปลัดกระทรวงการคลัง และอธิบดีกรมบัญชีกลาง พบว่ามีระบบการทำงานเกี่ยวกับการเบิกจ่ายเงินให้ความช่วยเหลือรองรับ โดยมีการประสานงานกับจังหวัดที่ทำหน้าที่ส่งผ่านข้อมูล ซึ่งมีวงเงินอนุมัติในเรื่องต่างๆ แต่กรณี จ.สุโขทัย อาจต้องขยายวงเงินช่วยเหลือเกินวงเงินที่กำหนดไว้ โดยช่วงบ่ายนี้จะประชุมประสานการทำงานเพื่อรับทราบปัญหาและอุปสรรค ขณะเดียวกันจะมีมาตรการยกเว้นภาษีให้กิจการที่ได้รับความเดือดร้อนไว้พร้อมแล้ว และประสานงานกับสถาบันการเงินเฉพาะกิจในการช่วยเหลือ

ส่วนนโยบายของพรรคเพื่อไทยบางเรื่องที่อาจเพิ่มต้นทุนให้ผู้ประกอบการ เช่น การปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำนั้น จะมีการดำเนินการควบคู่กับการหาวิธีการให้ภาคเอกชนโดยเฉพาะ SMEs ได้มีการปรับตัว โดยมอบหมายให้ สศค.ดำเนินการ เช่น การลงทุนเพิ่มในเครื่องมือเครื่องจักรเพื่อเพิ่มผลผลิต การลงทุนเพิ่มเพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มในสินค้าและบริการ โดยจะมีมาตรการด้านการคลังเข้ามาช่วยเหลือ เพื่อให้ธุรกิจได้ปรับตัว ซึ่งแนวทางการดำเนินการนี้อาจนำตัวอย่างจากต่างประเทศมาปรับใช้

สำหรับนโยบายด้านการเงินที่จะหารือกับ ธปท. ซึ่งนอกจากการจัดตั้งคณะกรรมการความร่วมมือภาครัฐและเอกชนในการติดตามภาวะเศรษฐกิจแล้ว ยังจะมอบหมายให้กระทรวงการคลังพิจารณาแนวทางการลดภาระขาดทุนของ ธปท. ซึ่งเดิมมีข้อตกลงให้ ธปท.มีบทบาทในการเข้ามาลดภาระหนี้ของกองทุนเพื่อการฟื้นฟูและพัฒนาระบบสถาบันการเงิน แต่ที่ผ่านมา ธปท.ยังขาดทุนมาโดยตลอด ดังนั้นการดำเนินนโยบายดอกเบี้ยสูงทำให้ยังมีเงินไหลเข้า และการที่ ธปท.ต้องเข้าไปดูแลเงินบาทก็จะทำให้มีผลขาดทุนกลายเป็นงูกินหาง

ทั้งนี้จึงได้มอบหมายให้ทีมวิชาการไปศึกษาแนวทางเพื่อช่วยให้ ธปท.มีรายได้ในการบริหารทุนสำรองระหว่างประเทศให้คล่องตัว เพื่อให้ ธปท.มีภาระขาดทุนน้อยลง หรือมีกำไรเพื่อมาช่วยลดภาระหนี้กองทุนฟื้นฟูฯ

ในส่วนของสถาบันการเงินนั้น จะวางแนวทางให้ธนาคารพาณิชย์เข้ามามีบทบาทช่วยนักธุรกิจได้อย่างเต็มที่ ซึ่งในอดีตทางการได้เข้ามาช่วยแก้ปัญหาให้ระบบสถาบันการเงินจนขณะนี้ถือว่ามีความเข้มแข็งแล้ว มีผลกำไรสูง ดังนั้นจึงมอบหมายให้มีการศึกษาแนวทางการเพิ่มกระบวนการแข่งขันในระบบธนาคารพาณิชย์ เพื่อให้ผลประโยชน์ตกอยู่กับประชาชนผู้ออมเงิน และผู้กู้ในระดับที่เหมาะสม เช่น การให้โบรกเกอร์ทำธุรกิจซื้อขายเงินตราต่างประเทศ การเปิดใบอนุญาตธนาคารพาณิชย์รายใหม่ หรือการเร่งให้เปิดเสรีการเงินเร็วขึ้น

นอกจากนี้ ระบบสถาบันการเงินที่เข้มแข็งจะต้องไม่เป็นภาระต่อรัฐบาลในอนาคตหากเกิดปัญหา ซึ่งไม่ได้เป็นนโยบายที่แทรกแซงการทำงานของ ธปท. โดยจะให้นำผลการศึกษาในต่างประเทศมาใช้ เช่น กรณีสหรัฐฯ เพื่อวางนโยบายดูแลระบบสถาบันการเงิน โดยไม่ให้เป็นภาระแก่ผู้เสียภาษีทั้งประเทศ แต่เมื่อสถาบันการเงินรายใดมีปัญหา ให้เรียกเก็บเงินจากธนาคารพาณิชย์ที่เหลืออยู่ หรือการนำโมเดลจากประเทศอื่นที่มีการออกหุ้นกู้ นอกจากนี้อาจใช้กลไกของตลาดทุน เช่น การผลักดันตลาดอนุพันธ์ในการซื้อขายเงินตราต่างประเทศ

อย่างไรก็ดี รมว.คลังจะนัดหารือกับผู้ว่าฯ ธปท. หลังมีการแถลงนโยบายรัฐบาลต่อรัฐสภาแล้ว

สำหรับกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ได้มอบหมายให้ สศค.ไปดูแนวทางการดำเนินนโยบายของธปท.ว่าเป็นภาระหรือเป็นอุปสรรคต่อการดำเนินนโยบายการเงินหรือไม่ เนื่องจากขณะนี้มีสิ่งที่ท้าทายเศรษฐกิจทั้งจากปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ซึ่งจะได้นำผลการศึกษามาหารือกับ ธปท. และยอมรับว่าการดำเนินนโยบายของพรรคเพื่อไทยอาจมีส่วนทำให้ต้นทุนเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจมีผู้ประกอบการบางรายยอมรับภาระโดยไม่ผลักภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปให้ผู้บริโภค แต่ผู้ประกอบการบางรายอาจต้องเพิ่มราคาสินค้า ซึ่งจะทำให้เงินเฟ้อสูงขึ้น ซึ่งถือเป็นเงินเฟ้อที่มาจาก Cost Push แต่ยังไม่รุนแรงเท่ากับเงินเฟ้อที่เกิดจาก Demand Pull ที่กำลังซื้อมีมากกว่ากำลังการผลิต ซึ่งจุดนี้จะทำให้ราคาสินค้าสูงขึ้นต่อเนื่อง

"เป้าหมายเงินเฟ้อ เป็นอำนาจของแบงก์ชาติ โดยคลังจะไม่เข้าไปยุ่งเกี่ยว แต่สิ่งที่ต้องตกลงคือ กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อทำให้แบงก์ชาติกังวล จนต้องมีการขึ้นดอกเบี้ย ทั้งนี้ต้องมาคุยกัน" รมว.คลัง กล่าว

ส่วนการจัดทำงบประมาณสมดุลในปี 58 นั้น คงยังไม่สามารถตอบได้ในขณะนี้ว่ารัฐบาลจะยึดตามกรอบเดิมหรือไม่ แต่ยืนยันว่าจะยึดหลักความยั่งยืนทางการคลัง แต่บางช่วงรัฐบาลอาจจำเป็นต้องมีการใช้จ่าย อย่างไรก็ดี ระดับหนี้ต้องควบคุมไม่ให้สูงเกินไป และมีเป้าหมายที่จะให้ระดับหนี้ลดลงมาอยู่ในระดับที่เหมาะสม ซึ่งการใช้จ่ายต่างๆ ของรัฐบาลจะต้องเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ มีการเลือกโครงการที่ให้ผลตอบแทนทางเศรษฐกิจที่ดี ดังนั้นการวางนโยบายการคลังควรมีการวางลำดับความสำคัญก่อนหลัง โดยมองในระยะข้างหน้า 3 เดือน 6 เดือน

รมว.คลัง กล่าวถึงการจัดเก็บภาษีของ พ.ต.ท.ทักษิณ ชินวัตร อดีตนายกรัฐมนตรี กรณีการขายหุ้นชินคอร์ปฯ ว่า ต้องปฏิบัติตามกฎหมายโดยไม่มีข้อยกเว้น แต่หากกระบวนการมีผลสรุปแล้วว่าไม่มีภาระภาษีที่ต้องจ่าย กรมสรรพากรก็ไม่สามารถจัดเก็บภาษีได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ