(เพิ่มเติม1) ครม.ผ่านมาตรการบ้านหลังแรกเริ่ม 22ก.ย.54-สิ้นปี 55 สูญรายได้1.7พันลบ/ปี

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 20, 2011 16:57 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสาธิต รังคสิริ อธิบดีกรมสรรพากร เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้ได้เห็นชอบมาตรการภาษีบ้านหลังแรกแล้ว โดยกำหนดราคาซื้อบ้านหลังละไม่เกิน 5 ล้านบาท นำมาขอทยอยคืนเงินในการคำนวณภาษี 10% ภายใน 5 ปี เริ่มมาตรการตั้งแต่ 22 ก.ย.54-31 ธ.ค.55 โดยคาดว่ารัฐบาลจะสูญเสียรายได้ปีละ 1.7 พันล้านบาท แต่ผลของมาตรการดังกล่าวยังทำให้ธุรกิจอสังหาริมทรัพย์และธุรกิจเกี่ยวเนื่องมีการขยายตัวเพิ่มขึ้น เกิดการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก

"รัฐจะสูญเสียรายได้ราวปีละ 1,700 ล้านบาท แต่คิดว่าผลที่จะได้กลับมาคุ้มค่า เพราะไม่ได้กระตุ้นแค่ธุรกิจอสังหาฯ แต่ยังขยายไปยังธุรกิจเกี่ยวเนื่อง เช่น เฟอร์นิเจอร์ ออกแบบตกแต่ง สินค้าอิเลคทรอนิกส์ ซึ่งทำให้มีการจ้างงานอีกเป็นจำนวนมาก" นายสาธิต กล่าว

สำหรับการซื้อบ้านที่ได้รับสิทธิจากมาตรการดังกล่าวจะต้องเป็นบ้านใหม่ ไม่ใช่บ้านมือสอง หรือบ้านสร้างเอง เพราะอาจเกิดช่องโหว่ให้เกิดการทุจริต เช่น ตั้งราคาประเมินสูงกว่าความเป็นจริง โดยขณะนี้มีบ้านในสต็อคที่เข้าข่ายได้รับประโยชน์ประมาณ 9.3 หมื่นยูนิต

อธิบดีกรมสรรพากร กล่าวว่า มาตรการนี้เป็นเครื่องจูงใจให้มีผู้เข้ามาในระบบภาษีเพิ่มมากขึ้น และเป็นการให้รางวัลตอบแทนกับผู้ที่เสียภาษา โดยผู้ที่จะได้รับประโยชน์จากมาตรการนี้น่าจะมีรายได้ตั้งแต่เดือนละ 2 หมื่นบาทขึ้นไป เพราะสามารถนำไปเป็นส่วนลดหย่อนเพิ่มเติมในการเสียภาษีเงินได้

ด้านนายบุญทรง เตริยาภิรมย์ รมช.คลัง กล่าวว่า มาตรการดังกล่าว เป็นการช่วยเหลือประชาชนผู้มีรายได้น้อยและยังไม่เคยมีบ้านหรือที่อยู่อาศัยให้ได้มีที่อยู่อาศัยเป็นของตนเอง โดยยกเว้นเงินได้ที่ได้จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ซึ่งมีมูลค่าไม่เกิน 5 ล้านบาท เป็นเงินได้พึงประเมินที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องรวมคำนวณเพื่อเสียภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาตามหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้

1. เป็นเงินได้ที่จ่ายเป็นค่าซื้ออสังหาริมทรัพย์ที่เป็นอาคารพร้อมที่ดิน หรือห้องชุดในอาคารชุด เพื่อเป็นที่อยู่อาศัย ตามจำนวนที่จ่ายจริง ในอัตราไม่เกินร้อยละ 10 ของมูลค่าอสังหาริมทรัพย์ แต่ไม่เกิน 500,000 บาท

2. ผู้มีเงินได้มีสิทธิยกเว้นภาษีเป็นจำนวนเท่าๆ กันในแต่ละปีเป็นเวลา 5 ปีภาษีต่อเนื่องกันตามจำนวนที่จ่ายจริง แต่รวมกันแล้วไม่เกิน 500,000 บาท

3. การยกเว้นภาษีจะใช้วิธีการหักค่าลดหย่อน ซึ่งผู้มีเงินได้สามารถเลือกใช้สิทธิ์ครั้งแรกสำหรับเงินได้ในปีที่ได้โอนกรรมสิทธิ์หรือปีถัดไปก็ได้ โดยสามารถหักเป็นค่าลดหย่อนได้ต่อเนื่องกันเป็นเวลา 5 ปี

4. ผู้มีเงินได้ต้องจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ให้แล้วเสร็จ ตั้งแต่วันที่ 22 ก.ย.54 ถึงวันที่ 31 ธ.ค.55

5. ผู้มีเงินได้ต้องไม่เคยมีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เพื่อเป็นที่อยู่อาศัยมาก่อน

6. ผู้มีเงินได้ต้องมีชื่อเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ที่ซื้อเป็นเวลาติดต่อกันไม่น้อยกว่า 5 ปีนับแต่วันที่จดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์และอสังหาริมทรัพย์นั้นต้องไม่เคยผ่านการจดทะเบียนโอนกรรมสิทธิ์มาก่อนไม่ว่าทั้งหมดหรือบางส่วน

ทั้งนี้ กรมสรรพากรจะได้มีประกาศอธิบดีกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขต่อไป

ส่วนมาตรการสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยอัตราดอกเบี้ย 0% ในช่วง 2 ปีแรกที่รัฐบาลชุดก่อนอนุมัติในธนาคารอาคารสงเคราะห์(ธอส.)ดำเนินการนั้น รัฐบาลนี้จะไม่อนุมัติเพิ่มเติม เนื่องจากเห็นว่าปัจจุบันมีธนาคารพาณิชย์เอกชนเข้ามาทำการตลาดในเรื่องดังกล่าวเช่นเดียวกัน หากรัฐบาลไปอนุมัติเพิ่มเติมจะส่งผลกระทบต่อการแข่งขันของภาคเอกชน เพราะธนาคารของรัฐจะมีความได้เปรียบในเรื่องเงินทุน ดังนั้นจึงเป็นเรื่องที่ทาง ธอส.จะพิจารณาเองว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ