
สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยดัชนีราคาผู้บริโภคทั่วไป (CPI) เดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 100.14 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนเม.ย. ลดลงจากช่วงเดียวกันของปีก่อน -0.22% (YoY) โดยมีสาเหตุหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ประกอบกับการลดลงของราคาผักสด ในขณะที่สินค้าหมวดอาหารและเครื่องดื่ม ราคายังคงสูงขึ้น
"อัตราเงินเฟ้อเดือนเม.ย. ติดลบเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน เหตุผลสำคัญที่เงินเฟ้อลดลง มาจากปัจจัยเรื่องราคาพลังงานเป็นสำคัญ" นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการ สนค. ระบุ
สำหรับอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เฉลี่ยในช่วง 4 เดือนแรกของปีนี้ (ม.ค.-เม.ย.68) สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.75%
ขณะที่ดัชนีราคาผู้บริโภคพื้นฐาน (Core CPI) เดือนเม.ย.68 อยู่ที่ 101.28 ส่งผลให้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน เดือนเม.ย. สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.98% (YoY) โดยเงินเฟ้อพื้นฐานเฉลี่ย 4 เดือนแรกของปีนี้ สูงขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 0.91%
ผู้อำนวยการ สนค. คาดการณ์ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือนพ.ค.68 มีโอกาสจะติดลบต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 เนื่องจากสถานการณ์ราคาน้ำมันดิบดูไบอยู่ในระดับต่ำ ส่งผลให้ราคาน้ำมันขายปลีกในประเทศปรับตัวลดลง
อย่างไรก็ดี การที่เงินเฟ้อมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่อง 2 เดือนนั้น ยังไม่ได้บ่งบอกว่าจะเข้าสู่ภาวะเงินฝืดแต่อย่างใด
- ราคาพลังงานโลก กดเงินเฟ้อติดลบครั้งแรกในรอบ 13 เดือน
นายพูนพงษ์ กล่าวต่อว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนเม.ย.68 ที่ปรับตัวลดลงเป็นครั้งแรกในรอบ 13 เดือน มีปัจจัยหลักมาจากการลดลงของราคาสินค้าในกลุ่มพลังงาน ได้แก่ แก๊สโซฮอล์ น้ำมันเบนซิน และค่ากระแสไฟฟ้า ตามสถานการณ์ราคาน้ำมันในตลาดโลก และมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพของภาครัฐ ประกอบกับมีการลดลงของราคาผักสด และไข่ไก่ เนื่องจากสภาพอากาศที่ร้อนน้อยกว่าปีก่อน ขณะที่ราคาสินค้าอาหารบางชนิดปรับตัวสูงขึ้น อาทิ เนื้อสุกร อาหารสำเร็จรูป และเครื่องประกอบอาหาร สำหรับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ส่งผลกระทบต่อภาวะเงินเฟ้อไม่มากนัก
โดยก่อนหน้านี้ อัตราเงินเฟ้อของไทย เคยติดลบต่อเนื่องกัน 2 ไตรมาส (6 เดือน) มาแล้ว ตั้งแต่ในช่วงไตรมาส 4 ของปี 66 (ต.ค.-ธ.ค.66) ต่อเนื่องมาจนถึงไตรมาส 1 ของปี 67 (ม.ค.-มี.ค.67)
อย่างไรก็ดี หากเปรียบเทียบอัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทยกับต่างประเทศ ข้อมูลล่าสุดเดือนมี.ค.68 จะพบว่า อัตราเงินเฟ้อทั่วไปของไทย ยังคงอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีอัตราเงินเฟ้อต่ำ โดยอยู่ระดับต่ำเป็นอันดับ 24 จาก 134 เขตเศรษฐกิจที่ประกาศตัวเลข และต่ำเป็นอันดับ 2 ในกลุ่มประเทศอาเซียน จาก 8 ประเทศที่ประกาศตัวเลข (บรูไน สิงคโปร์ อินโดนีเซีย มาเลเซีย ฟิลิปปินส์ เวียดนาม สปป.ลาว)
ผู้อำนวยการ สนค. กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงราคาสินค้าและบริการสำคัญในเดือนเม.ย.68 เมื่อเทียบกับเดือนเม.ย.67 พบว่า มีรายการสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาเพิ่มขึ้น 270 รายการ ได้แก่ เนื้อสุกร, ปลานิล, กล้วยน้ำว้า, กาแฟผงสำเร็จรูป, น้ำมันพืช, ขนมหวาน, ค่าเช่าบ้าน, น้ำมันดีเซล เป็นต้น
ส่วนรายการสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาลดลง มี 145 รายการ ได้แก่ ไข่ไก่, มะนาว, ถั่วฝักยาว, ผักชี, แตงกวา, พริกสด, ส้มเขียวหวาน, ผลิตภัณฑ์ซักผ้า, สบู่, แชมพู, ค่าไฟฟ้า และน้ำมันแก๊สโซฮอล์ เป็นต้น
ส่วนรายการสินค้าและบริการสำคัญที่ราคาไม่เปลี่ยนแปลง มี 49 รายการ ได้แก่ ค่าน้ำประปา, ค่าโดยสารเรือ, ค่าโดยสารรถไฟ, ค่าโดยสารรถประจำทางปรับอากาศ ชั้น 1, ค่าใบอนุญาตขับขี่ เป็นต้น
- แนวโน้มเงินเฟ้อ พ.ค.ลงต่อ คาด Q2 อยู่ที่ 0.1-0.2%
ผู้อำนวยการ สนค. ประเมินว่า อัตราเงินเฟ้อไตรมาส 2 (เม.ย.-พ.ค.68) ของปีนี้ จะเฉลี่ยอยู่ที่ 0.1-0.2% จากไตรมาสแรก (ม.ค.-มี.ค.68) เฉลี่ยอยู่ที่ 1.08% ส่วนแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไป เดือนพ.ค.68 คาดว่าจะยังใกล้เคียงกับเดือนเม.ย.68 และมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 โดยปัจจัยสนับสนุนที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ได้แก่
1. ราคาน้ำมันดิบดูไบในตลาดโลกต่ำกว่าปีก่อนหน้าอย่างมีนัยสำคัญ และจะส่งผลให้ราคาแก๊สโซฮอล์ภายในประเทศ ปรับตัวลดลงทิศทางเดียวกัน
2. ภาครัฐมีแนวโน้มดำเนินมาตรการช่วยเหลือลดภาระค่าครองชีพอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะการปรับลดราคาค่ากระแสไฟฟ้า งวดเดือนพ.ค.-ส.ค.68 ลง 17 สตางค์ มาเหลือ 3.98 บาท/หน่วย
3. ฐานราคาผักสดในปีก่อนหน้าที่อยู่ระดับสูง เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติทางธรรมชาติ ขณะที่ในปี 2568 สภาพอากาศเอื้ออำนวยต่อการเพาะปลูกมากขึ้น ส่งผลให้ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น
4. การจัดทำกิจกรรมส่งเสริมการตลาดของผู้ประกอบการรายใหญ่ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ
อย่างไรก็ดี ยังมีปัจจัยที่ทำให้เงินเฟ้อมีโอกาสปรับตัวสูงขึ้นได้เช่นกัน ได้แก่ 1. ราคาน้ำมันดีเซลในประเทศปัจจุบันที่ระดับ 31.94 บาท/ลิตร ซึ่งสูงกว่าช่วงเดียวกันของปี 67 และ 2. ราคาสินค้าเกษตรบางชนิด และเครื่องประกอบอาหาร มีแนวโน้มสูงกว่าปีก่อน เช่น มะพร้าว, มะขามเปียก, กาแฟ, เกลือป่น, น้ำมันพืช และเนื้อสุกร เป็นต้น
- รอดูเงินเฟ้อพ.ค. ก่อนปรับเป้าปี 68 ใหม่
ทั้งนี้ สนค.จะขอดูความชัดเจนของอัตราเงินเฟ้อในเดือนพ.ค.68 ก่อนจะพิจารณาปรับเป้าหมายเงินเฟ้อของทั้งปี 68 ใหม่อีกครั้ง จากปัจจุบันที่ประเมินไว้ที่ 0.3-1.3% ในปีนี้
"จะขอดูเงินเฟ้อทั่วไปในเดือนพ.ค.ก่อน ซึ่งคาดว่าจะลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 2 ติดต่อกัน เมื่อข้อมูลมีความชัดเจน คิดว่าคาดการณ์เงินเฟ้อของปี 68 น่าจะมีการปรับลดลง" นายพูนพงษ์ ระบุ
อย่างไรก็ดี สำหรับการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต 10,000 บาท เฟส 3 ให้แก่กลุ่มเป้าหมายอายุ 16-20 ปี ซึ่งรัฐบาลคาดว่าจะแจกได้ภายในไตรมาส 2 ปีนี้นั้น ผู้อำนวยการ สนค. เชื่อว่า จะไม่ส่งผลกระทบต่ออัตราเงินเฟ้อ เนื่องจากการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ตดังกล่าว ไม่ได้มีผลกระทบหรือสร้างต้นทุนให้เพิ่มขึ้นในฝั่งของผู้ประกอบการหรือผู้ผลิตสินค้าแต่อย่างใด
"ไม่มีผลต่อเงินเฟ้อ เพราะการแจกเงินดิจิทัลวอลเล็ต ไม่ได้เป็นฝั่งของธุรกิจ ไม่ได้สร้างต้นทุนให้ภาคธุรกิจเพิ่มขึ้น" นายพูนพงษ์ กล่าว
