
ในยุคที่เศรษฐกิจโลกเผชิญกับความไม่แน่นอนและการแข่งขันที่รุนแรง ภาษี (Tariffs) ได้กลายเป็นเครื่องมือเชิงนโยบายสำคัญที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อปกป้องผลประโยชน์ภายในประเทศ แต่ในขณะเดียวกันก็อาจส่งผลกระทบเชิงลบต่อระบบการค้าเสรีระหว่างประเทศที่ดำเนินการอยู่ภายใต้กรอบขององค์การการค้าโลก (World Trade Organization: WTO) ที่มุ่งส่งเสริมความเป็นธรรมและการไม่เลือกปฏิบัติในการค้าระหว่างประเทศ
เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568 ประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ได้ประกาศขึ้น "ภาษีแบบตอบโต้" (Reciprocal Tariffs) ต่อสินค้านำเข้าจากหลายประเทศทั่วโลก โดยประเทศไทยถูกกำหนดอัตราภาษีที่ร้อยละ 37 มาตรการนี้ส่งผลกระทบอย่างมีนัยสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเฉพาะภาคการส่งออก ในปี 2567 การส่งออกสินค้าของไทยไปยังสหรัฐฯ มีมูลค่ารวม 54.96 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ คิดเป็นร้อยละ 18.3 ของการส่งออกทั้งหมดของไทย การขึ้นภาษีดังกล่าวอาจทำให้การส่งออกของไทยลดลงถึง 7-8 พันล้านดอลลาร์สหรัฐ โดยสินค้าที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบมากที่สุด ได้แก่ อุปกรณ์คอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ โทรศัพท์มือถือและชิ้นส่วน ผลิตภัณฑ์ยาง และสินค้าเกษตร เป็นต้น
นอกจากนี้ยังส่งผลกระทบต่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ นักเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ว่ามาตรการภาษีนี้อาจทำให้การเติบโตของ GDP ไทยลดลงถึงร้อยละ 1 ในปีนี้ จากเป้าหมายเดิมที่ร้อยละ 3 ทั้งนี้ การลดลงของการส่งออกและการผลิตในภาคอุตสาหกรรมที่พึ่งพาการส่งออกไปยังสหรัฐฯ เช่น ยานยนต์ อิเล็กทรอนิกส์ และผลิตภัณฑ์ยาง อาจต้องลดการผลิตและมีการปลดพนักงาน เนื่องจากต้นทุนที่เพิ่มขึ้นจากภาษีที่สูงขึ้น ทำให้ความสามารถในการแข่งขันลดลง
ภายหลังจากที่สหรัฐอเมริกาประกาศขึ้นภาษีต่อสินค้านำเข้าจากประเทศไทยในอัตราร้อยละ 37 เมื่อวันที่ 2 เมษายน พ.ศ. 2568 รัฐบาลไทยได้ดำเนินมาตรการหลายประการเพื่อบรรเทาผลกระทบและรักษาความสัมพันธ์ทางการค้ากับสหรัฐฯ ทั้งแนวทางการเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รัฐบาลไทยมีแผนที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าหลายประเภทจากสหรัฐฯ เพื่อปรับสมดุลการค้าและลดดุลการค้าที่ไทยได้เปรียบสหรัฐฯ โดยสินค้าที่อยู่ในแผนการนำเข้า ได้แก่ ข้าวโพด เครื่องใน และก๊าซธรรมชาติ
การเพิ่มการนำเข้าสินค้าเหล่านี้มีเป้าหมายเพื่อลดดุลการค้าระหว่างไทยและสหรัฐฯ ซึ่งในปี 2567 ไทยมีดุลการค้าเกินดุลกับสหรัฐฯ ประมาณ 4 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ และการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ รัฐบาลไทยกำลังพิจารณาลดภาษีนำเข้าสินค้าบางรายการจากสหรัฐฯ เพื่อแสดงความร่วมมือและลดความตึงเครียดทางการค้า รวมไปถึงการเพิ่มการลงทุนของไทยในสหรัฐฯ เป็นต้น
อย่างไรก็ตาม การดำเนินการดังกล่าวต้องพิจารณาอย่างรอบคอบเพื่อไม่ให้ขัดต่อหลักการกฎหมายการค้าระหว่างประเทศ เรื่องการค้าโดยไม่เลือกปฏิบัติ เช่น Most-Favoured-Nation (MFN) อันเป็นหลักการสำคัญขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่กำหนดให้ประเทศสมาชิกปฏิบัติต่อคู่ค้าทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน ไม่สามารถเลือกปฏิบัติต่อบางประเทศสมาชิกได้ หากประเทศหนึ่งให้สิทธิพิเศษ เช่น ลดอัตราภาษีแก่สินค้าจากประเทศใดประเทศหนึ่ง จะต้องให้สิทธิพิเศษดังกล่าวแก่สินค้าจากประเทศสมาชิก WTO อื่น ๆ ด้วย
หลักการ MFN มีความสำคัญมากจนถูกกำหนดไว้ในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยภาษีและการค้า (GATT) (Article 1) ซึ่งควบคุมการค้าสินค้า นอกจากนี้ยังเป็นหลักการสำคัญในข้อตกลงทั่วไปว่าด้วยการค้าบริการ (GATS) (Article 2) และข้อตกลงว่าด้วยสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับการค้า (TRIPS) (Article 4) โดยหลักการนี้จะถูกบัญญัติแตกต่างกันเล็กน้อยในแต่ละข้อตกลง
แม้ว่าหลักการ MFN จะเป็นหลักการพื้นฐาน แต่ก็มีข้อยกเว้นบางประการที่อนุญาตให้ประเทศสมาชิกสามารถปฏิบัติแตกต่างกันได้ เช่น ประเทศต่าง ๆ สามารถจัดตั้งข้อตกลงการค้าเสรี (Free Trade Agreement: FTA) ซึ่งใช้เฉพาะกับสินค้าที่ซื้อขายกันบางรายการภายในกลุ่มเท่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องขยายสิทธิพิเศษดังกล่าวแก่ประเทศสมาชิก WTO อื่น ๆ
หรือ ให้สิทธิพิเศษในการเข้าถึงตลาดแก่ประเทศกำลังพัฒนา เพื่อสนับสนุนการพัฒนาเศรษฐกิจของประเทศเหล่านั้น โดยไม่จำเป็นต้องให้สิทธิพิเศษดังกล่าวแก่ประเทศอื่น ๆ
และ ประเทศใดประเทศหนึ่งอาจสามารถ ตั้งกำแพงภาษีหรือมาตรการกีดกันทางการค้า ต่อสินค้าจากบางประเทศที่ถือว่ามีการค้าที่ไม่เป็นธรรม รวมทั้ง ในกรณีของการให้บริการ (Services) ประเทศต่าง ๆ ก็สามารถเลือกปฏิบัติได้ในบางสถานการณ์ที่จำกัด อย่างไรก็ตาม ข้อตกลงของ WTO อนุญาตให้มีข้อยกเว้นเหล่านี้ได้ ภายใต้เงื่อนไขที่เข้มงวดเท่านั้น
การดำเนินมาตรการดังกล่าวต้องระมัดระวังไม่ให้ขัดต่อหลักการ MFN ของ WTO ซึ่งกำหนดให้ประเทศสมาชิกต้องปฏิบัติต่อสินค้านำเข้าจากทุกประเทศอย่างเท่าเทียมกัน การเพิ่มการนำเข้าเฉพาะสินค้าจากสหรัฐฯ โดยมีเป้าหมายเพื่อลดดุลการค้า อาจถูกวิจารณ์ว่าเป็นการเลือกปฏิบัติ และการลดภาษีนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ เป็นการเฉพาะเจาะจง โดยไม่ได้ลดให้ประเทศสมาชิก WTO อื่น ๆ ด้วยก็อาจขัดต่อหลัก MFN ภายใต้ Article 1 ของ GATT
ดังนี้ ไทยควรใช้มาตรการในกรอบที่ยอมรับได้ เช่น ใช้โควตาภาษี (Tariff-Rate Quota) หรือเจรจาในกรอบความตกลงทางการค้าเสรี (FTA) แทนการลดภาษีแบบเฉพาะเจาะจง เป็นต้น
มาตรการขึ้นภาษีของสหรัฐฯ ต่อสินค้านำเข้าจากประเทศไทยในอัตราร้อยละ 37 ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจไทยอย่างรอบด้าน โดยเฉพาะภาคการส่งออกที่มีสหรัฐฯ เป็นหนึ่งในตลาดหลัก ซึ่งอาจนำไปสู่การลดลงของรายได้ประเทศ การชะลอตัวของภาคการผลิต และการจ้างงานในหลายอุตสาหกรรม รัฐบาลไทยจึงจำเป็นต้องดำเนินมาตรการตอบสนองอย่างรอบคอบและสอดคล้องกับพันธกรณีภายใต้กฎหมายการค้าระหว่างประเทศ โดยเฉพาะหลัก Most-Favoured-Nation (MFN) ที่กำหนดให้การปฏิบัติต่อคู่ค้าต้องเป็นไปอย่างเท่าเทียม
การเลือกที่จะเพิ่มการนำเข้าสินค้าจากสหรัฐฯ หรือการลดภาษีนำเข้าสินค้าเฉพาะกลุ่ม จึงต้องพิจารณาภายใต้กรอบที่ไม่ละเมิดหลักการดังกล่าว เช่น การใช้โควตาภาษี การทำความตกลงการค้าเสรี (FTA) หรือการใช้กลไกเจรจาทวิภาคีอย่างเป็นทางการ ควบคู่ไปกับการเร่งพัฒนาและยกระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมไทย ผ่านการส่งเสริมนวัตกรรม เทคโนโลยี และการกระจายตลาดส่งออกไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ทั้งนี้เพื่อสร้างความแข็งแกร่งภายใน ลดความเปราะบางจากปัจจัยภายนอก และวางรากฐานสู่เศรษฐกิจที่ยั่งยืนและแข่งขันได้ในระยะยาว
ดุษดี ดุษฎีพาณิชย์
ผู้เชี่ยวชาญด้านกฎหมายการค้า การลงทุน และอนุญาโตตุลาการระหว่างประเทศ