
สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ ปรับลดประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจ (GDP) ของไทยในปี 2568 เหลือโต 1.3-2.3% (ค่ากลางที่ 1.8%) จากรอบก่อนที่ประมาณการไว้เดิม 2.3-3.3% นั้น เนื่องจากเศรษฐกิจไทยปีนี้ มีแนวโน้มชะลอตัวลงจากปีก่อน ตามการชะลอลงของภาคการส่งออกสินค้า ที่คาดว่าจะได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการขึ้นภาษีนำเข้าเพื่อการตอบโต้ทางการค้าของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าสำคัญ รวมทั้งผลกระทบทางอ้อม ผ่านแนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและการค้าโลก

ขณะเดียวกัน การผลิตภาคอุตสาหกรรมมีแนวโน้มที่จะเผชิญกับแรงกดดันจากการเพิ่มขึ้นของสินค้านำเข้า และการแข่งขันทางด้านราคาที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้น การชะลอตัวของการส่งออกและการผลิต ท่ามกลางความไม่แน่นอนของมาตรการทางการค้าและเศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มที่จะส่งผลให้การฟื้นตัวของการลงทุนภาคเอกชนมีความล่าช้าออกไป นอกจากนี้ การขยายตัวของเศรษฐกิจ ยังมีข้อจำกัดจากภาระหนี้สินครัวเรือนและหนี้ภาคธุรกิจที่อยู่ในระดับสูง รวมถึงความเสี่ยงจากแนวโน้มความผันผวนในภาคเกษตร ทั้งผลผลิตและราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ
โดยสมมติฐาน ประมาณการเศรษฐกิจไทยปีนี้ มาจาก
1. เศรษฐกิจโลก มีแนวโน้มขยายตัว 2.6% และปริมาณการค้าโลก 1.7%
2. ค่าเงินบาท เฉลี่ยอยู่ในช่วง 33.50 - 34.50 บาท/ดอลลาร์
3. ราคาน้ำมันดิบดูไบ เฉลี่ยในช่วง 65- 75 ดอลลาร์/บาร์เรล
4. ราคาสินค้าส่งออกในรูปดอลลาร์ คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 0.0 - 1.0%
5. รายรับจากนักท่องเที่ยวต่างชาติ ที่ 1.71 ล้านล้านบาท ขณะที่จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ อยู่ที่ 37 ล้านคน
6. อัตราการเบิกจ่ายงบประมาณปี 68 คาดว่าจะอยู่ที่ 91.2% ขณะที่รายจ่ายลงทุน คาดว่าจะมีการเบิกจ่าย 70%
- ยันไม่ได้มองในแง่ร้าย หลังหั่น GDP ปีนี้เหลือโต 1.8%
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า การที่สภาพัฒน์ ปรับประมาณการ GDP ของไทยในปี 68 ลงเหลือโต 1.3-2.3% (ค่ากลาง 1.8%) นั้น ไม่ได้เป็นการมองในแง่ร้ายเกินไป เพราะสภาพัฒน์ พิจารณาข้อมูลจากหลายปัจจัย ซึ่งการปรับประมาณการดังกล่าว เพื่อให้ภาคเอกชนได้มีความตระหนักถึงแนวโน้มผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับเศรษฐกิจไทยในระยะถัดไป
"การประมาณการ GDP ที่ลดลงนี้ แค่อยากให้ภาคเอกชนตระหนักถึงเศรษฐกิจในระยะถัดไป เราไม่ได้มองในแง่ร้ายมากไป เพราะต่างประเทศก็ประมาณการในช่วงนี้ ที่ 1.8-2% กว่า ๆ ซึ่งก็มีโอกาสจะปรับตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนไป ยืนยันว่าไม่ได้มองในแง่ร้ายเกินไป เรามองตามสถานการณ์ที่เกิดขึ้น" นายดนุชา ระบุ
อย่างไรก็ดี ประมาณการเศรษฐกิจไทยดังกล่าวนั้น นายดนุชา กล่าวว่า ได้รวมตัวมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจจนถึงล่าสุดเข้าไว้ด้วยแล้ว
"เศรษฐกิจไทย ภาคหลัก ๆ ที่จะได้รับผลกระทบมาก คือ ภาคการส่งออก และการผลิตในภาคอุตสาหกรรม ดังนั้น เรารวมไปแล้ว จากมาตรการที่ออกมาในขณะนี้ ซึ่งอนาคตอาจมีมาตรการอื่น ๆ เข้ามาเพิ่มได้ตามสถานการณ์ เพื่อช่วยขับเคลื่อนให้เศรษฐกิจไปได้" นายดนุชา กล่าว
สำหรับการส่งออกของไทยไตรมาสแรก ที่ขยายตัวสูงมากถึง 15% นั้น จะเพียงพอที่ช่วยพยุงการส่งออกในช่วงที่เหลือของปีนี้อีก 3 ไตรมาส จากผลกระทบของมาตรการภาษีสหรัฐได้หรือไม่นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า ยังไม่แน่ใจว่าการส่งออกในไตรมาสถัด ๆ ไปจะเป็นอย่างไร เนื่องจากปัจจัยสำคัญ คือ มาตรการภาษีของสหรัฐฯ ซึ่งทุกวันนี้ยังไม่มีประเทศใดสามารถคาดการณ์ได้ว่าผลการเจรจาขั้นสุดท้ายจะออกมาเป็นอย่างไร ยกเว้นสหราชอาณาจักร (UK) เพียงประเทศเดียวที่สรุปผลการเจรจาเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ขณะที่ประเทศอื่นๆ ยังเข้าคิวรอเจรจา
"หลายประเทศยังเข้าคิวรออยู่ แลมีอีกหลายเรื่องที่ pop up ขึ้นมา ในแง่ของกาค้าที่สร้างความแตกตื่นพอสมควรในตลาด ดังนั้น จะบอกว่าไตรมาส 1 จะช่วยการส่งออกในอีก 3 ไตรมาสที่เหลือได้หรือไม่นั้น คิดว่าต้องรอดูสถานการณ์ ถ้าชะลอลงไม่มาก ก็โอเค แต่ถ้าชะลอลงมาก มีปัญหาเยอะมาก ก็เป็นไปตามสถานการณ์" นายดนุชา ระบุ
- แนะเพิ่มศักยภาพทางการคลัง ควบคู่รักษาวินัยการคลัง
ส่วนกรณีที่สภาพัฒน์ นำเสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ซึ่งหนึ่งในนั้น คือ เสนอให้มีการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอต่อการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจท่ามกลางความไม่แน่นอนสูง นั้น เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุว่า รัฐบาลคงต้องพิจารณาหาแนวทางในการจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มขึ้น และการรักษาวินัยการเงินการคลังควบคู่กันไป เพื่อรักษาพื้นที่ทางการคลังที่เหลืออยู่ ขณะเดียวกัน ก็ต้องเพิ่มพื้นที่ทางการคลังด้วย
"คงต้องไปดูเรื่องการจัดเก็บรายได้ให้เพิ่มขึ้น ดูในแง่ของวินัยการเงินการคลังควบคู่ไปด้วย เพื่อรักษาช่องว่างทางการคลังที่มีอยู่ และพยายามเพิ่มช่องว่างทางการคลังด้วย ดังนั้นในช่วงถัดไปนี้ การใช้จ่ายต่าง ๆ ต้องเป็นไปด้วยความระมัดระวัง เพื่อทำให้เรามีมาตรการการคลังที่เพียงพอในการดำเนินนโยบายในกรณีที่จะเกิดผลกระทบ" เลขาธิการสภาพัฒน์ ระบุ
ส่วนมาตรการทางการเงินที่จะมาช่วยเสริมมาตรการทางการคลังอย่างไรนั้น นายดนุชา เห็นว่า เรื่องนี้ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และ รมว.คลัง ได้หารือกันอยู่ตลอด เชื่อว่าในระยะถัดไป ทั้งมาตรการการเงิน และมาตรการการคลัง จะต้องมาช่วยเสริมกันอยู่แล้ว เพียงแต่จะมาในช่วงเวลาใดเท่านั้น และต้องดำเนินการให้เหมาะสมกับสถานการณ์ในขณะนั้นด้วย
- หวัง 3 เครื่องยนต์เคลื่อนเศรษฐกิจ ลงทุนภาครัฐ-บริโภคในประเทศ-ท่องเที่ยว
สภาพัฒน์ มองว่า เศรษฐกิจไทยในปีนี้ ยังมีเครื่องยนต์ที่เป็นแรงสนับสนุนสำคัญ คือ การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายลงทุนภาครัฐ การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ รวมถึงการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยวและบริการที่เกี่ยวเนื่อง ดังนี้
1. การเพิ่มขึ้นของรายจ่ายภาครัฐ โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุน ซึ่งสอดคล้องกับการเพิ่มขึ้นของกรอบวงเงินงบประมาณรายจ่าย ประจำปีงบประมาณปี 2568 วงเงิน 3.685 ล้านล้านบาท ที่เพิ่มขึ้น 5.9% จากวงเงินงบประมาณในปีก่อนหน้า รวมทั้งกรอบงบประมาณรายจ่ายเหลื่อมปี รวมทั้งสิ้น 2.75 แสนล้านบาท ถือเป็นระดับสูงสุดนับตั้งแต่ปีงบ 63 และเพิ่มขึ้น 70.6% จากปีงบประมาณก่อนหน้า
2. การขยายตัวของการอุปโภคบริโภคภายในประเทศ ที่ยังมีแนวโน้มที่จะสนับสนุนการขยายตัวของเศรษฐกิจได้อย่างต่อเนื่อง ตามการขยายตัวของการใช้จ่ายในหมวดบริการ และหมวดสินค้าไม่คงทนเป็นสำคัญ
3. การฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ซึ่งแม้จำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติในช่วง 4 เดือนแรก (ม.ค.-เม.ย.68) จะลดลง 0.3% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่นักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะไกล (Long Haul) เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ เช่น รัสเซีย ฝรั่งเศส อิสราเอล ซึ่งช่วยชดเชยนักท่องเที่ยวกลุ่มตลาดระยะใกล้ โดยเฉพาะจากจีน และมาเลเซียได้ ขณะที่นักท่องเที่ยวชาวไทย มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นจากผลของการจัดกิจกรรมส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอย่างต่อเนื่อง
- จับตาข้อจำกัดและปัจจัยเสี่ยง
1. ภาระหนี้สินครัวเรือน และหนี้ภาคธุรกิจที่ยังอยู่ในระดับสูง ภายใต้มาตรการสินเชื่อที่ยังคงคงเข้มงวด โดยคาดว่าในระยะต่อไป ธุรกิจ SMEs อาจได้รับผลกระทบโดยตรงจากมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะธุรกิจที่อยู่ในห่วงโซ่การผลิต รวมทั้งผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของการนำเข้าสินค้าจากประเทศที่ไม่สามารถส่งออกได้ เนื่องจากนโยบายกีดกันทางการค้าของประเทศเศรษฐกิจหลัก ซึ่งจะส่งผลให้ฐานะทางการเงินของ SMEs ด้อยลง สอดคล้องกับแนวโน้มมาตรฐานการให้สินเชื่อของสถาบันการเงินที่ยังเป็นไปอย่างระมัดระวัง
2. แนวโน้มการชะลอตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลก โดยมีเงื่อนไขความเสี่ยงที่ต้องติดตาม และประเมินสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เช่น ความไม่แน่นอนจากการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจของสหรัฐฯ และมาตรการตอบโต้จากประเทศคู่ค้าสำคัญ, ทิศทางการดำเนินนโยบายการเงินของธนาคารกลางหลัก ๆ, ความยืดเยื้อและการยกระดับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์, ความเสี่ยงจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจจีน และความเสี่ยงต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนา และเศรษฐกิจตลาดเกิดใหม่
3. มาตรการกีดกันทางการค้าโดยการขึ้นภาษีนำเข้าของสหรัฐฯ หรือภาษีศุลกากรตอบโต้ (Reciprocal tariffs) ที่เรียกเก็บต่อประเทศไทย รวมทั้งภาษีนำเข้าสินค้าแบบเฉพาะเจาะจง โดยเฉพาะภาษีนำเข้ายานยนต์ และชิ้นส่วนยานยนต์ เพิ่มเติมในอัตรา 25% ที่จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อการส่งออกสินค้าของไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงครึ่งหลังของปี 2568
โดยคาดว่าภาคการส่งออกสินค้าไปยังสหรัฐฯ มีความเสี่ยงสูงที่จะเผชิญกับผลกระทบ อันเนื่องมาจากการลดลงของความต้องการสินค้าจากสหรัฐฯ อาทิ สินค้ากลุ่มเกษตรกรรมและเกษตรแปรรูป กลุ่มคอมพิวเตอร์ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์สื่อสาร และกลุ่มยานยนต์และชิ้นส่วน
4. ความเสี่ยงจากความผันผวนในภาคเกษตร ทั้งผลผลิต และราคาสินค้าเกษตรที่สำคัญ ซึ่งแม้ในปี 2568 ผลผลิตทางการเกษตรมีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นจากปีก่อน แต่ก็ทำให้ระดับราคาสินค้าเกษตรมีความเสี่ยงที่จะปรับตัวลดลง
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ ได้นำเสนอประเด็นการบริหารนโยบายเศรษฐกิจมหภาค ในช่วงที่เหลือของปี 2568 ดังนี้
1. การเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณ เพื่อให้เม็ดเงินรายจ่ายภาครัฐเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจโดยเร็ว เพื่อรักษาแรงส่งจากการใช้จ่ายภาครัฐ ขณะเดียวกันควรให้ความสำคัญกับการเพิ่มศักยภาพทางการคลัง (Fiscal consolidation) เพื่อเพิ่มพื้นที่ทางการคลังให้เพียงพอสำหรับการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ โดยเฉพาะภายใต้แนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ยังมีความไม่แน่นอนอยู่สูง รวมทั้งเพื่อลดความเสี่ยงจากการปรับลดอันดับความน่าเชื่อถือของประเทศในระยะต่อไป
2. การดำเนินการเพื่อรองรับการยกระดับมาตรการกีดกันทางการค้าของประเทศสำคัญ เช่น การเจรจาเพื่อส่งเสริมความร่วมมือทางการค้าและการลงทุนกับสหรัฐฯ, การเร่งรัดการส่งเสริมการส่งออกสินค้าที่ไทยยังมีศักยภาพ, การส่งเสริมการลงทุนอย่างต่อเนื่อง เพื่อเพิ่มโอกาสของสินค้าไทยในตลาดโลก, การส่งเสริมให้ภาคธุรกิจบริหารจัดการความเสี่ยงจากความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน และการเตรียมมาตรการช่วยเหลือและเยียวยาผู้ประกอบการ และแรงงาน ที่ได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของเศรษฐกิจ และการค้าโลก
3. การปกป้องภาคการผลิตจากการทุ่มตลาด และการใช้นโยบายการค้าที่ไม่เป็นธรรม โดยมุ่งเน้นการปรับปรุงกระบวนการตรวจสอบคุณภาพสินค้านำเข้า ให้มีความเข้มงวดรัดกุมมากขึ้น การดำเนินการอย่างเคร่งครัดกับผู้กระทำความผิดลักลอบนำเข้าสินค้าที่ผิดกฎหมาย หลบเลี่ยงภาษี และตรวจสอบและเฝ้าระวังการทุ่มตลาด รวมทั้งการใช้มาตรการทางการค้าที่ไม่เป็นธรรม จากประเทศผู้ส่งออกสำคัญ
4. การให้ความช่วยเหลือธุรกิจ SMEs ที่ประสบปัญหาด้านการเข้าถึงสภาพคล่อง เนื่องจากคุณภาพสินเชื่อปรับลดลงต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการสร้างความตระหนักรู้ถึงมาตรการให้ความช่วยเหลือของภาครัฐ เพื่อแก้ปัญหาหนี้สินภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจ
5. การดูแลการผลิตภาคเกษตรและรายได้เกษตรกร โดยให้ความสำคัญกับการเตรียมมาตรการรองรับผลผลิตสินค้าเกษตรที่จะออกสู่ตลาด ในช่วงฤดูเพาะปลูก 2568/2569 ควบคู่ไปกับการลงทุนด้านการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ
6. การสร้างความเชื่อมั่นให้แก่นักท่องเที่ยวต่างชาติ เพื่อช่วยขับเคลื่อนภาคการท่องเที่ยวให้ขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยให้ความสำคัญกับความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สินของนักท่องเที่ยวอย่างจริงจัง รวมถึงการเตรียมความพร้อมของปัจจัยต่าง ๆ เช่น สนามบิน/เที่ยวบิน กระบวนการตรวจคนเข้าเมือง โครงสร้างพื้นฐานและสิ่งอำนวยความสะดวก เป็นต้น