ธปท.ย้ำไม่ผ่อนเกณฑ์ LTV สินเชื่อคอนโดฯ เน้นเฉพาะแนวราบช่วยน้ำท่วม

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 15, 2011 14:04 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายสมบูรณ์ จิตเป็นธม ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายความเสี่ยง สายนโยบายสถาบันการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า สืบเนื่องจากเหตุอุทกภัยที่เกิดขึ้นได้ส่งผลกระทบต่อภาคธุรกิจและครัวเรือน ทำให้บ้านเรือนของประชาชนได้รับความเสียหาย ตลอดจนโครงการที่อยู่อาศัยต่าง ๆ และที่อยู่อาศัยที่อยู่ระหว่างการก่อสร้างได้รับผลกระทบจากเหตุอุทกภัยในครั้งนี้ ธปท. โดยคณะกรรมการนโยบายสถาบันการเงินได้ตระหนักถึงปัญหาที่เกิดขึ้น ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อประชาชนที่ต้องการจัดหาและซ่อมแซมที่อยู่อาศัยที่ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย

นอกจากนี้ จากการติดตามภาวะการขยายตัวของสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยพบว่า อัตราการขยายตัวของสินเชื่อดังกล่าวสำหรับที่อยู่อาศัยแนวราบมีการขยายตัวในระดับไม่เร่งตัวมากนัก กล่าวคือใกล้เคียงกับการขยายตัวของสินเชื่อโดยรวม ด้วยเหตุนี้ ธปท. จึงผ่อนปรนหลักเกณฑ์การกำกับดูแลสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัย ดังนี้

1. ขยายเวลาการบังคับใช้หลักเกณฑ์อัตราส่วนเงินให้สินเชื่อต่อมูลค่าหลักประกัน (LTV ratio) สำหรับสินเชื่อเพื่อที่อยู่อาศัยแนวราบที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 10 ล้านบาท ออกไปอีก 1 ปี (มีผลบังคับใช้วันที่ 1 มกราคม 2556 เป็นต้นไป)

2. กำหนดน้ำหนักความเสี่ยง (Risk Weight) สำหรับสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยใหมี้น้ำหนัก ความเสี่ยงร้อยละ 35 โดยมีระยะเวลาผ่อนปรนจนถึง 31 ธันวาคม 2555

ทั้งนี้ การผ่อนปรนดังกล่าว จะมีส่วนช่วยบรรเทาภาระทางการเงินของทั้งสถาบันการเงินผู้ประกอบการธุรกิจอสังหาริมทรัพย์ และผู้บริโภคได้ในระดับหนึ่ง

นายสมบูรณ์ กล่าวว่า ธปท.ไม่มีการผ่อนปรนเกณฑ์ LTV ratio สำหรับสินเชื่อเพื่อซื้อคอนโดมิเนียมที่มีราคาซื้อขายต่ำกว่า 1 ล้านบาท เนื่องจากมีผลบังคับใช้ตั้งแต่ 1 มกราคม 2554 ไปแล้ว และขณะนี้ทุกอย่างดำเนินไปได้ด้วยดี ซึ่งการเกณฑ์ LTV ของโครงการแนวราบ และคอนโดมิเนียมมีระยะเวลามีผลบังคับใช้ที่ต่างกัน เพื่อส่งสัญญาณถึงผู้ประกอบการอสังหาริมทรัพย์และผู้ซื้อบ้าน

"จากการพิจารณา LTVคอนโดฯ ได้ผลตามที่คาดการณ์ไว้ ซึ่งทุกอย่างนิ่ง และจากการคุยกับ 3 สมาคมที่อยู่อาศนัยก็ยังไม่มีการเปลี่ยนแปลง รวมถึงข้อเสนอการขยายเวลาในการซื้อคอนโดฯราคาต่ำกว่า 1 ล้านบาท ซึ่งมีการพูดคุยกัน เพราะเราอยากให้มีการสร้างวินัยในการซื้อบ้าน เพราะคนจะซื้อบ้านควรจะมีเงินออมไว้ก้อนหนึ่ง" นายสมบูรณ์ กล่าว

นอกจากนี้คาดการณ์การผ่อนปรนเกณฑ์ดังกล่าว ไม่น่าจะมีผลให้มีการเปลี่ยนแปลงการขยายสินเชื่อ แต่จากการหารือจาก 3 สมาคมที่อยู่อาศัย พบข้อมูลที่น่าสนใจว่า หลังน้ำลดแล้วผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมองการซื้อที่อยู่อาศัยต่อไปเป็นคอนโดมิเนียมมากขึ้น ดังนั้น จะทำให้ความต้องการคอนโดมิเนียมในระยะต่อไปที่จะมีความต้องการมากกว่าโครงการแนวราบ

ขณะเดียวกันมองว่าสินเชื่อเพื่อซ่อมแซมที่อยู่อาศัยจะมีมากขึ้น เนื่องจากที่อยู่อาศัยในเขตกทม.มีจำนวน 2.4 แสนครัวเรือน ถูกน้ำท่วมแล้ว 40% ส่วนปริมณฑล มี 4 ล้านครัวเรือน ถูกน้ำท่วมแล้ว 40% เช่นกัน

"มองแนวโน้มแบงก์กำไรอาจลดลงได้จากภาวะน้ำท่วม ไม่ใช่ลดลงจากภาระการตั้งสำรองเพิ่มจากกฎเกณฑ์ของแบงก์ชาติ" นายสมบูรณ์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ