"ดร.โกร่ง"เสนอแนวคิดนำทุนสำรองฯบางส่วนลงทุนแก้ปัญหาจัดการน้ำทั้งระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday November 15, 2011 17:12 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายวีระพงษ์ รามางกูร อดีตรองนายกรัฐมนตรี ในฐานะประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์เพื่อการฟื้นฟูและสร้างอนาคตประเทศ(กยอ.)เปิดเผยว่า การประชุม กยอ.นัดแรกในวันนี้ได้พิจารณากรอบการดำเนินงานด้วยการวางเป้าหมายระยะสั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับประชาชนและนักลงทุนในและต่างประเทศว่าฤดูฝนในปีหน้าจะไม่เกิดภาวะน้ำท่วมหนักเหมือนเช่นในปีนี้อีก ซึ่งจะต้องมีการบริหารจัดการน้ำและการลงทุนเพิ่มเติมเพื่อไม่ให้สร้างความเสียหายเกิดขึ้น

รวมทั้งวางเป้าหมายระยะยาวในการพัฒนาประเทศที่จะนำปัจจัยเสี่ยงจากน้ำท่วมกำหนดไว้ในแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่จะเกี่ยวข้องในด้านภูมิศาสตร์ โครงสร้างพื้นฐานทั้งถนน ระบบน้ำ การบริหารจัดการพื้นที่อุตสาหกรรม พื้นที่เกษตร และเขตทางน้ำไหล

การดำเนินงานของ กยอ.ภายใน 12 เดือนข้างหน้า อยู่ภายใต้การตั้งคณะกรรมการ 4 ชุด ประกอบด้วย คณะกรรมการช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบจากอุทกภัย, คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทลบจากอุทกภัยด้านโครงสร้างพื้นฐาน, คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัย ด้านเศรษฐกิจ อุตสาหกรรมและความเป็นอยู่ของประชาชน และ คณะกรรมการให้ความช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับผลกระทบอุทกภัยด้านการฟื้นฟูคุณภาพชีวิต

นอกจากนี้ ยังมีการตั้งคณะอนุกรรมการ 4 ชุด ประกอบด้วย คณะอนุกรรมการที่ปรึกษาด้านต่างประเทศ มีนายพันศักดิ์ วิญรัตน์ เป็นประธาน, คณะอนุกรรมการประสานความร่วมมือและสร้างความมั่นใจภาคเอกชน มีนายประเสริฐ บุญสัมพันธ์ เป็นประธาน, คณะอนุกรรมการจัดตั้งองค์กรถาวรและการปฏิบัติตามแนวบริหารราชการแผ่นดิน มีนายวิษณุ เครืองาม เป็นประธาน และคณะอนุกรรมการด้านการเงินแบะตลาดทุน มีนายศุภวุฒิ สายเชื้อ เป็นประธาน

ส่วนการสร้างความเชื่อมั่นของธุรกิจประกันภัยนั้น ขณะนี้ทางคณะกรรมการกำกับและส่งเสริมการประกอบธุรกิจประกันภัย(คปภ.) อยู่ระหว่างการหารือกับเอกชนเพื่อพิจารณาว่าการรับประกันภัยต่อจากปัจจัยเสี่ยงน้ำท่วม คิดเป็นกี่เปอร์เซ็นต์ของภัยทั้งหมด ซึ่งจะนำมาใช้ในการต่อรองค่าธรรมเนียมและเงื่อนไขต่าง ๆ ในการรับประกัน หากรัฐบาลให้ความมั่นใจว่าจไม่เกิดปัญหาน้ำท่วมซ้ำอีก น่าจะช่วยแบ่งเบาค่าใช้จ่ายประกันภัยให้กับภาคธุรกิจได้

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า พร้อมจะเป็นคนกลางในการเจรจาระหว่างเอกชนกับรัฐบาลเพื่อให้ความมั่นใจกับภาคธุรกิจและบริษัทรับประภันภัย ส่วนบริษัทประกันภัยในต่างประเทศที่อาจจะไม่รับประกันภัยต่อกรณีน้ำท่วมนั้น ก็จะเดินทางไปหารือกับบริษัทรับประกันภัยต่อขนาดใหญ่ เช่น บริษัท ลอยด์ของอังกฤษ เพื่อให้ความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะดูแลปัญหาน้ำท่วมให้ดีที่สุด พร้อมกับมอบหมายให้กระทรวงการคลังรับไปดูแลต่อกรณีที่บริษัทต่างชาติรับประกันภัยในราคาที่เป็นธรรม

อย่างไรก็ตาม ในการหารือวันนี้ยังไม่ได้พิจารณาวงเงินลงทุนทั้งหมด แต่ส่วนหนึ่งจะมีการจัดตั้งกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน ที่จะต้องศึกษาและวิเคราะห์ข้อมูลการลงทุน ขณะเดียวกันยอมรับว่ามีแนวคิดเสนอให้นำเงินทุนสำรองฯส่วนหนึ่งมาใช้ลงทุนแก้ไขปัญหาน้ำทั้งระบบ ซึ่งอาจจะให้รัฐบาลออกพันธบัตรมารองรับ โดยจะต้องให้ผลตอบแทนดีกว่าการนำเงินทุนสำรองฯไปให้รัฐบาลสหรัฐกู้

"การลงทุนเพื่อป้องกันน้ำท่วมในระยะยาวต้องสอดคล้องกับโครงสร้างพื้นฐานอุตสาหกรรม สอดคล้องกับการพัฒนาประเทศ ซึ่งจะค้องพิจารณารอบคอบ โดยจะมีคณะกรรมการ กยน.(คณะกรรการยุทธศาสตร์เพื่อการวางระบบบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ ที่มีนายสุเมธ ตันติเวชกุล เลขาธิการมูลนิธิชัยพัฒนา เป็นประธาน)เป็นผู้พิจารณาโครงการ เมื่อได้รับรายงานแล้ว กยอ.จะนำมาพิจารณาว่าจะใช้เงินในโครงการใดบ้าง ใช้ที่ไหน และเมื่อไหร่"นายวีรพงษ์ กล่าว

นายวีระพงษ์ กล่าวว่า จากที่ได้มีโอกาสพบกับประธานองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (เจโทร)ก็ได้รับความมั่นใจว่าภาคธุรกิจญี่ปุ่นยังมีความมั่นใจที่จะลงทุนในประเทศไทยต่อไป รวมไปถึงการขยายกำลังการผลิตในอนาคต เนื่องจากไทยมีความได้เปรียบในหลายด้าน โดยเฉพาะแรงงานที่มีคุณภาพเหนือประเทศเพื่อนบ้าน มีประสบการณ์ มีความสัมพันธ์ที่ดีกับนายจ้าง และรับวัฒนธรรมญี่ปุ่นได้

ขณะเดียวกันได้เสนอให้ไทยอำนวยความสะดวกในการออกใบอนุญาตทำงานเป็นการชั่วคราวให้แก่วิศวกรหรือเจ้าหน้าที่จากญี่ปุ่นที่จะเข้ามาซ่อมแซมฟื้นฟูโรงงานของนักลงทุนญี่ปุ่นในประเทศไทย

ส่วนผู้ประกอบการรถยนต์จากญี่ปุ่น ยังยืนยันจะขยายการผลิตรถยนต์ในประเทศไทย เพื่อให้ยอดการผลิตเพิ่มขึ้นเป็น 2.5 ล้านคันในอนาคต จากปัจจุบัน 1 ล้านคัน ซึ่งเป็นการสนับสนุนให้ไทยเป็นศุนย์กลางผลิตรถยนต์ที่ใหญ่ที่สุดรองจากญี่ปุ่น แต่ก็ต้องอาศัยความร่วมมือจากรัฐบาล สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สภาพัฒน์) และหน่วยงานอื่น ๆ

"น้ำท่วมเที่ยวนี้แม้เป็นวิกฤติ แต่ถือเป็นโอกาสการยกระดับความเจริญของอุตสาหกรรมไทยขึ้นมาอีกระดับ หากเราลงทุนในโครงสร้างพื้นฐานและเห็นชอบร่วมกันในการแบ่งโซนอุตสาหกรรมในระยะข้างหน้า ซึ่งมีความจำเป็น ทางเขายินดีให้ความร่วมมือเต็มที่ เจโทรมีความพร้อมทั้งเรื่องเงิน เทคนิค และด้านต่างๆ ที่จะช่วยเหลือไทยหากมีความต้องการ"ประธาน กยอ.กล่าว

นอกจากนั้น ที่ประชุมวันนี้ยังได้มอบหมายให้นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ เลขาธิการสภาพัฒน์ เป็นฝ่ายเลขานุการของ กยอ.และให้ตั้งสำนักงาน กยอ.เป็นหน่วยงานในสภาพัฒน์ โดยขั้นต้นได้ขอกำลังบุคลากร 30 คนเพื่อทำงานในสำนักงานดังกล่าว

ด้านนายอาคม กล่าวว่า ยุทธศาสตร์การฟ้องกันน้ำท่วมในปีหน้าจะวางระบบป้องกัน 2 ระบบ คือ ระบบป้องกันเขตนิคมอุตสาหกรรมและโรงงาน ซึ่งผู้ประกอบการต้องปรับปรุงแก้ไขเอง ขณะที่รัฐบาลจะจัดเงินกู้ผ่อนปรนในการลงทุนสร้างแนวป้องกันให้ และยังมีกองทุนโครงสร้างพื้นฐานเป็นแหล่งระดมทุน

ส่วนที่ 2 เป็นระบบป้องกันนอกนิคมอุตสาหกรรมและชุมชนใกล้เคียง ซึ่งภาครัฐจะเป็นผู้ลงทุน ขณะนี้อยู่ระหว่างที่คณะกรรมการจัดการน้ำฯ จะวิเคราะห์และออกแบบการป้องกัน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ