(เพิ่มเติม) SCB คาด GDP Q4/54 หดตัว ส่วนทั้งปี 54 โต 1.8%, ปี 55 โต 4.5%

ข่าวเศรษฐกิจ Monday November 21, 2011 14:35 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ดร.สุทธาภา อมรวิวัฒน์ ผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ ธนาคารไทยพาณิชย์ (SCB) เปิดเผยว่า ในไตรมาส 4/54 คาดว่าเศรษฐกิจจะหดตัวที่ 4.2% จากไตรมาสก่อนหน้า จากวิกฤตน้ำท่วมใหญ่ที่ส่งผลกระทบต่อภาคการผลิตของนิคมอุตสาหกรรมรวมถึงภาคการเกษตร โดยเฉพาะข้าวที่ได้รับเสียหาย และภาคบริการทั้งภาคท่องเที่ยวและลอจิสติกส์ ทำให้ปี 54 ทั้งปีคาดว่าจีดีพีไทยจะขยายตัวได้เพียง 1.8% จากเดิมคาดโต 4.75% ซึ่งประเมินก่อนเกิดวิกฤติน้ำท่วม

ส่วนปี 55 คาดว่าเศรษฐกิจน่าจะเติบโตได้รวดเร็วขยายตัวที่ 4.5% โดยช่วงครึ่งปีแรกจะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายและการลงทุนภาครัฐเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนภาคเอกชน แต่ประเมินว่าการลงทุนในส่วนของต่างประเทศในครึ่งแรกปี 55 จะมีการชะลอตัวเนื่องจากต้องประเมินความเสียหายจากน้ำท่วมและดูความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน

ในไตรมาส 1/55 มองว่าเศรษฐกิจยังเป็นบวกแม้ไตรมาส 4/54 เศรษฐกิจจะหดตัวค่อนข้างมาก ประเมินทั้งปี 55 เศรษฐกิจจะโต 4.25% แต่ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับมาตรการภาครัฐที่จะมีการลงทุนและงบฯใช้จ่ายมากน้อยแค่ไหนส่วนภาคเอกชนจะมีการลงทุน restcoking

ทั้งนี้ คาดการณ์การประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.)ในวันที่ 30 พ.ย.น่าจะมีการลดดอกเบี้ยลง 0.25% จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.50% และปี 55 ยังจะทยอยลดดอกเบี้ยอีก 0.50-0.75% เพื่อพยุงเศรษฐกิจที่เกิดซัพพลายช็อกที่มีปัญหา ซึ่งสถานการณ์ดังกล่าวการลดดอกเบี้ยของกนง.ไม่สามารถควบคุมซัพพลายช็อกได้ ซึ่งซัพพลายช็อกเป็นสถานการณ์ที่ควบคุมด้วยนโยบายการเงินไม่ได้แต่นโยบายการเงินสามารถช่วยได้

ดร.สุทธาภา กล่าวว่า การฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 55 ในช่วงครึ่งแรกของปีจะมีแรงส่งจากการใช้จ่ายและการลงทุนของภาครัฐเพื่อเร่งสร้างความมั่นใจให้กับนักลงทุนซึ่งจะส่งผลทำให้มีการกลับเข้ามาลงทุนของภาคเอกชน (crowding in) รวมถึงการจ้างงานของภาคเอกชนเพื่อฟื้นฟูกำลังการผลิต โดยคาดว่าจะมีการนำเข้าสินค้าทุนจำนวนมากเพื่อทดแทนกำลังการผลิตที่เสียหายไป

ทั้งนี้การลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) อาจยังชะลอในช่วงแรกเนื่องจากยังต้องมีการประเมินความเสียหายและความพร้อมของระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่น การขนส่ง น้ำประปา และไฟฟ้า ส่วนในช่วงครึ่งหลังของปีนั้นจะเป็นการขยายกำลังการผลิตเพื่อให้สอดคล้องกับอุปสงค์ทั้งในประเทศและต่างประเทศที่โตขึ้น หากมองโดยรวมทั้งปีแล้วมูลค่าการส่งออกจะสามารถขยายตัวได้ประมาณ 11% ซึ่งนับว่าชะลอลงจากปี 54 ที่การส่งออกน่าจะขยายตัวได้เกือบ 20% ส่วนการนำเข้าคาดว่าขยายตัว 15.4% ชะลอจากปี 54 ที่คาดว่าขยายตัว 25.8% แต่ยังเกินดุลการค้าที่ 4.2 พันล้านเหรียญสหรัฐ จากปีนี้ที่คาดว่าเกินดุลการค้า 11.5 พันล้านเหรียญสหรัฐ

สำหรับปัจจัยสี่ยงหลักที่จะมีผลต่อการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในปี 55 มี 2 ประเด็นหลัก คือ 1. การฟื้นฟูความมั่นใจของนักลงทุนโดยมาตรการภาครัฐ และ 2. ปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรป โดยมาตรการภาครัฐจะต้องเน้นการแก้ปัญหาการจัดการทรัพยากรน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งหากไม่สามารถทำได้จะมีผลเสียต่อการลงทุน เช่น ผู้ประกอบการอาจไม่กลับมาลงทุนเพราะไม่สามารถซื้อประกันภัยความเสียหายจากอุทกภัยได้ นอกจากนี้ การใช้จ่ายภาคการคลังจะต้องสามารถกระตุ้นให้เกิดการใช้จ่ายภาคเอกชนเพื่อจะได้ไม่ทำให้สถานะการคลังของประเทศแย่ลง

ส่วนปัญหาหนี้ในสหภาพยุโรปยังไม่น่าจะจบในเร็ววัน และอาจทำให้เกิดความผันผวนของเศรษฐกิจไทยได้ โดยสิ่งที่จะต้องจับตามองคือการลุกลามของปัญหาไปยังประเทศเศรษฐกิจขนาดใหญ่ อย่าง อิตาลี ฝรั่งเศส และเยอรมนี ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลกและการส่งออกของไทยอย่างมาก

"นโยบายรัฐบาลในการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำเป็น 300 บาท และเงินเดือนปริญญาตรี 15,000 บาท ควรจะทบทวนหรือไม่เห็นว่า คงต้องพิจารณาเป็น area ไป เนื่องจากบางพื้นที่ไม่ถูกกระทบน้ำท่วม ขณะที่การก่อหนี้ภาครัฐที่ปัจจุบันหนี้สาธารณะต่อจีดีพี อยู่ที่ 40% ยังไม่น่าห่วง เพราะหากปีหน้าภาคการผลิตยังไม่ฟื้นตัวเต็มที่ ก็ต้องมาดูสถานะการคลัง หากจะกู้เงินเพื่อฟื้นฟูประเทศ ก็ต้องมาดูว่ากู้ในหรือกู้นอก เพราะกู้นอกเป็นดอลลาร์ อาจจะมีดอกเบี้ยสูง แต่กู้ในประเทศ อาจจะมีปัญหาแย่งเม็ดเงินกับภาคเอกชน รัฐบาลก็ต้องดูให้ balance" ดร.สุทธาภา กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ