S&P ประเมินธุรกิจประกันภัยไทยขาดทุนสูงจากความเสียหายเหตุอุทกภัย

ข่าวเศรษฐกิจ Monday March 5, 2012 15:29 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

สถาบันจัดอันดับ S&P ระบุว่า จากรายงานของ S&P ในหัวข้อ“อุทกภัยไทยทำให้ผลประกอบการและเงินทุนของบริษัทประกันภัยในเอเซียซบเซา" S&P ได้ประเมินความเสียหายเบื้องต้นในปัจจุบันสำหรับบริษัทประกันภัยไว้ที่ประมาณUS$16,000 ล้าน-US$18,000 ล้าน อีกทั้ง S&P ยังได้รายงานเพิ่มเติมว่า ความสูญเสียที่สูงกว่าที่ได้มีการประเมินไว้อาจนำไปสู่การจัดอันดับที่เป็นผลลบต่อบริษัทประกันภัยในภูมิภาค

การประเมินความเสียหายในพื้นที่ประสบภัยจากทีมปรับประเมินความเสียหาย ทำใหับริษัทประกันภัยบางรายปรับประมาณการความเสียหายสุทธิเพิ่มขึ้น โดยในบางบริษัทปรับเพิ่มขึ้นถึง 3 เท่าจากเดิม

“ในทัศนะของเรายังคงมองธุรกิจประกันภัยในประเทศไทยติดลบ ทั้งนี้จากการประเมินผลประกอบการที่ตกต่ำลงรวมทั้งฐานเงินทุนที่อาจอ่อนแอลงในกลุ่มบริษัทประกันภัยที่ได้รับผลกระทบ...บางบริษัทประกันภัยอาจได้รับอานิสงส์จากบริษัทรับช่วงต่อการประกันภัยคุ้มครองความเสียหายให้ในท้ายที่สุดหรือมีแหล่งเงินทุนจากภายนอก แต่อย่างไรก็ตาม โดยรวมแล้วเราคาดว่าภาคธุรกิจประกันภัยของไทยจะรายงานการขาดทุนจากความเสียหายที่เกิดขึ้น"นายคอนนี่ หว่อง นักวิเคราะห์เครดิตของ S&P กล่าว

ตามรายงาน กล่าวว่า ผลขาดทุนของบริษัทประกันภัยในธุรกิจประกันภัยไทยสูงมากจนทำให้ความเห็นก่อนหน้าของ S&P ซึ่งเคยมองธุรกิจประกันภัยไทยว่าห่างไกลจากคำว่า วิบัติภัยเปลี่ยนไป

“เราคาดว่าข้อตกลงและเงื่อนไขสำหรับการรับช่วงต่อการประกันวิบัติภัยจะยังคงความรัดกุมและศักยภาพในการรับช่วงต่อการประกันวิบัติภัยจะยังคงตึงตัวซึ่งจะมีผลทำให้ราคาของการรับช่วงต่อการประกันวิบัติภัยถีบตัวสูงขึ้นอย่างมาก อย่างไรก็ตามเราคาดว่าราคาสำหรับการรับประกันภัยที่ไม่เกี่ยวข้องกับการประกันวิบัติภัยจะยังคงอยู่ในเกณฑ์ที่สามารถแข่งขันได้ทั้งนี้เพื่อชดเชยกับแน้วโน้มของราคาที่ถีบตัวสูงขึ้นโดยรวมโดยเฉพาะในตลาดของประเทศไทย" มิส หว่องกล่าว

S&P ประมาณการตัวเลขขาดทุนสะสมเบื้องต้นของ 3 บริษัทประกันภัยยักษ์ใหญ่ของญี่ปุ่นไว้ที่ 920,000 ล้านเยน (US$11,900ล้าน) และขาดทุนสุทธิที่ 447,000 ล้านเยน (US$5,800 ล้าน) 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ได้แก่ Tokio Marine Group, MS&AD Insurance Group และ NKSJ Group

"เราเชื่อว่าความสูญเสียจากอุทกภัยก่อให้เกิดความเสียหายมากกว่า 2 ใน 3 ของความเสียหายทั้งหมดเพราะว่าความเสียหายหลักๆมาจากนิคมอุตสาหกรรมซึ่งเป็นแหล่งลงทุนใหญ่ของญี่ปุ่น ดังนั้น บริษัทประกันภัยญี่ปุ่นจึงถือว่าบอบช้ำอย่างหนักแม้ว่าจะมีฐานการเงินที่แข็งแกร่งก็ตามที"

รายงานของ S&P ยังให้ข้อสังเกตว่า บริษัทเล็กๆในภูมิภาคที่รับช่วงต่อการประกันภัยและบริษัทประกันภัยท้องถิ่นจะบอบช้ำที่สุดหากความเสียหายในขั้นสุดท้ายสูงกว่าฐานการเงินของบริษัท ความเสียหายจากบริษัทประกันภัยท้องถิ่นและบริษัทรับช่วงต่อการประกันภัยในภูมิภาคอาจพุ่งทะยานขึ้นเมื่อความคุ้มครองจากบริษัทต้นสังกัดเกิดอ่อนแรงลง

อนึ่ง ขณะที่บริษัทประกันภัยและบริษัทที่รับช่วงต่อการประกันภัยในภูมิภาคต้องแบกรับภาระขาดทุนอันสืบเนื่องมาจากอุทกภัยเกือบทั้งหมด บริษัทข้ามชาติที่รับช่วงต่อการประกันภัยก็ไม่อาจหลีกพ้นชะตาเดียวกันไปได้เนื่องจากการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของตลาดในภูมิภาคนี้

อย่างไรก็ดี ฐานการเงินที่แข็งแกร่งของบริษัทข้ามชาติเหล่านี้และการที่มีบริษัทรับช่วงต่อการประกันภัยหรือการจ่ายสินไหมทดแทนคืนให้จะช่วยให้บริษัทข้ามชาติเหล่านี้สามารถแบกรับภาระขาดทุนได้


แท็ก ประกันภัย   S&P  

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ