(เพิ่มเติม) ธปท.ปรับคาดการณ์ GDP ปี 55 เพิ่มเป็น 6%จากเดิม 4.9%,ปี 56 เป็น 5.8%

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 11, 2012 15:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.)ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไทยในปี 55 เพิ่มเป็น 6% ในเดือนพ.ค.จากเดิมที่เคยคาดไว้ในเดือนก.พ.ระดับ 4.9% และ มี.ค. ที่ 5.7%

ส่วนในปี 56 คาดว่าเศรษฐกิจจะขยายตัวได้ถึง 5.8% หลังจากเศรษฐกิจในช่วงที่ผ่านมาฟื้นตัวได้เร็วกว่าที่คาด โดยเฉพาะภาคการผลิตที่ได้รับผลกระทบจากปัญหาน้ำท่วมในช่วงปลายปีก่อน แต่ยังกังวลปัญหายุโรปที่อาจมีผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก ขณะที่ปัจจัยในประเทศยังมีแรงกดดันต่ออัตราเงินเฟ้อ ทั้งจากการปรับขึ้นค่าแรงงานและราคาพลังงาน

ขณะที่ ธปท.ส่งสัญญาณการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบายกลับเข้าสู่ปกติ ในทิศทางเดียวกับการฟื้นตัวของปัจจัยพื้นฐานทางเศรษฐกิจ เนื่องจากขณะนี้อัตราดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังติดลบอยู่ 0.3% โดย ธปท.เห็นว่ามาตรการการเงินการคลังควรจะหยุดการกระตุ้นเศรษฐกิจตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 ของปีนี้

นายไพบูลย์ กิตติศรีกังวาน ผู้ช่วยผู้ว่าการ สายนโยบายการเงิน ธปท. กล่าวว่า ธปท.ปรับคาดการณ์อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจในปีนี้สูงขึ้นจากคาดการณ์เดิม จากปัจจัยส่งเสริม คือ ผลจากฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจในปีที่แล้วอยู่ในระดับต่ำจากผลกระทบปัญหาน้ำท่วม

ประกอบกับ การฟื้นตัวของภาคอุตสาหกรรมเร็วกว่าที่คาดการณ์ไว้ว่าจะเกิดขึ้นในไตรมาส 3 แต่ข้อเท็จจริงเริ่มฟื้นตัวและกลับเข้าสู่ปกติเป็นส่วนใหญ่ตั้งแต่ไตรมาส 2/55 แล้ว โดยเฉพาะ 4 อุตสาหกรรมหลักที่ได้รับผลกระทบค่อนข้างมาก ทั้งยานยนต์ ฮาร์ดดิสก์ไดร์ฟ แผงวงจร และเครื่องใช้ไฟฟ้า โดยเป็นการฟื้นตัวตามการผลิตทั้งเพื่อจำหน่ายในประเทศและการส่งออก

ด้านการบริโภคฟื้นตัวด้วยเช่นกัน ซึ่งดัชนีการบริโภคตั้งแต่เดือน ก.พ.55 กลับมาอยู่เหนือระดับก่อนเกิดเตหุการณ์น้ำท่วม ประกอบกับการเร่งการใช้จ่ายของภาครัฐ ด้วยการจัดทำงบประมาณขาดดุลต่อเนื่องในปี 55-56 การเร่งลงทุนด้านโครงสร้างสาธารณูปโภคพื้นฐาน และมาตรการกระตุ้นอุปสงค์ในประเทศ เช่น โครงการรับจำนำสินค้าเกษตร โครงการบ้านหลังแรกและรถยนต์คันแรก รวมถึงการใช้จ่ายในโครงการบริหารจัดการน้ำ 3.5 แสนล้านบาท ซึ่งคาดว่ารายจ่ายส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นในปี 56

นอกจากนั้น เศรษฐกิจโลกก็ฟื้นตัวได้อย่างช้าๆ และกลับมามีเสถียรภาพมากขึ้น แม้ว่าเศรษฐกิจยุโรปยังมีปัจจัยเสี่ยงเรื่องปัญหาหนี้สาธารณะและอาจทำให้เศรษฐกิจเข้าสู่ภาวะถดถอย โดยเฉพาะประเทศเล็กๆ รวมทั้งสถาบันการเงินมีความเข้มงวดในการปล่อยสินเชื่อมากขึ้น แม้ว่าธนาคารกลางยุโรปจะเร่งปล่อยสภาพคล่องเข้าสู่ระบบเพิ่มขึ้น แต่พื้นฐานเศรษฐกิจโดยรวมยังมีปัญหาเรื้อรัง โดยเฉพาะการว่างงานที่อยู่ในระดับสูง ขณะที่เศรษฐกิจเอเชียชะลอตัวลงตามการส่งออกของโลก แต่คาดว่าระยะข้างหน้าจะปรับตัวสูงขึ้น

ทั้งนี้ ธปท.คงคาดการณ์นอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศคู่ค้าสำคัญของไทย 13 ประเทศในปีนี้ไว้ที่ 4.8% แต่กรณีเลวร้ายที่สุดคาดว่าจะไมต่ำกว่า 3.8% สูงขึ้นจากเดิมที่มองไว้ 3.5% สอดคล้องกับตัวเลขกองทุนการเงินระหว่างประเทศ(IMF)ที่คาดว่าเศรษฐกิจโลกจะขยายตัว 3.5% จากเดิมที่คาดไว้ 3.3% ในเดือน เม.ย.55 ขณะที่ธปท.ให้สมมติฐานเศรษฐกิจยุโรปปีนี้หดตัว 0.5% แต่คิดว่าจะไม่มีผลต่อเศรษฐกิจไทยเพิ่มมากขึ้นกว่าเดิม

ขณะที่มองไปข้างหน้าการขยายตัวของเศรษฐกิจไทยในปีนี้ต้องพึ่งพาแรงขับเคลื่อนจากอุปสงค์ในประเทศในช่วงแรก แต่ช่วงหลังการส่งออกจะกลับมาดี และต่อเนื่องไปถึงปี 56 นอกจากนั้นกำลังซื้อในประเทศก็จะเร่งตัวจากแนวโน้มรายได้ที่ดีขึ้น อัตราดอกเบี้ยในประเทศยังต่ำ โดยอัตราดอกเบี้ยเงินกู้ที่แท้จริง(MLR)อยู่ที่ 3.5% และดอกเบี้ยนโยบายที่แท้จริงยังติดลบ 0.3% ส่วนอัตราเงินเฟ้อยังอยู่ในระดับต่ำ

"ประมาณการเศรษฐกิจปีนี้ดีกว่าที่ ธปท.เคยคาดการณ์ไว้ เพราะการฟื้นตัวของภาคการผลิตทั้งที่ผลิตในประเทศและต่างประเทศขยายตัวดี ส่งแรงไปที่เศรษฐกิจปี 56 จะมีผลจากการส่งออกที่กลับมาขยายตัวดีเป็นแรงส่งสนับสนุนให้ขยายตัวดีขึ้นด้วย ขณะที่ปัจจัยด้านเสี่ยงต่ำมีน้อยลง เพราะเศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัวได้แข็งแกร่งว่าที่คาดการณ์ไว้ และเศรษฐกิจโลกมีเสถียรภาพมากขึ้น"นายไพบูลย์ กล่าว

นายไพบูลย์ กล่าวว่า ธปท.ปรับสมมติฐานราคาน้ำมันโลกในปีนี้เป็นเฉลี่ยต่อปี 115 เหรียญ/บาร์เรล จากเดือนมี.ค.อยู่ที่ 103 เหรียญ/บาร์เรล ส่วนในปี 56 เป็น 110 เหรียญ/บาร์เรล จากเดิม 100 เหรียญ/บาร์เรล ซึ่งจะทำให้แรงกดดันด้านอุปสงค์ที่จะกลับมาจากการบริโภคในประเทศจากการฟื้นตัวของเศรษฐกิจต่ออัตราเงินเฟ้อมีมากขึ้น ทำให้การส่งผ่านต้นทุนประกอบการไปสู่ราคาสินค้าทำได้มากและเร็วขึ้น การคาดการณ์เงินเฟ้อสูงขึ้น โดยในเดือนมี.ค.อยู่ที่ 3.7% เร่งตัวจาก ก.พ.ที่ 3.5% ประกอบกับต้นทุนประกอบการ 12 เดือนข้างหน้า เร่งตัวจาก 4.5% เป็น 4.6% ในเดือน พ.ค.

แต่อย่างไรก็ตาม ประเด็นที่ ธปท.จะติดตามอย่างใกล้ชิด คือเศรษฐกิจโลกยังไม่ได้กลับมาขยายตัวในระดับปกติ โดยยังมีความเสี่ยงของเศรษฐกิจกลุ่มยุโรป โดยเฉพาะจากการเลือกตั้งของกรีซ อาจจะมีผลต่อการมุ่งมั่นในการแก้ไขปัญหาหนี้สาธารณะที่ก่อนหน้านี้ดีขึ้นแล้ว เพราะหากนโยบายเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมืออาจกระทบต่อการแก้ไขปัญหาได้

ส่วนปัจจัยในประเทศที่ต้องติดตาม 4 เรื่อง คือ การส่งผ่านต้นทุนธุรกิจไปยังราคาผู้บริโภคจากการเพิ่มขึ้นของค่าแรงงาน ราคาพลังงาน , ผลทางด้านจิตวิทยาจากอัตราเงินเฟ้อต่อผู้บริโภค, แนวทางของทางการที่จะดูแลราคาผู้บริโภค เช่น ค่าโดยสาร และค่าพลังงาน และ การปรับตัวของผู้ประกอบการ เพื่อรับมือกับต้นทุนค่าแรงงานและค่าพลังานที่สูงขึ้น โดยเฉพาะกลุ่มเอสเอ็มอี

นายไพบูลย์ กล่าวว่า การนำสินค้าอาหารสำเร็จรูปเข้าเป็นสินค้าควบคุม จะมีผลช่วยชะลอการเร่งตัวของเงินเฟ้อในระยะสั้นเท่านั้น เพราะเป็นมาตรการชั่วคราว เนื่องจากการคำนวณเงินเฟ้อคำนวณจากราคาพื้นฐานของสินค้า ซึ่งในระยะยาวไม่สามารถลดแรงกดดันการเร่งตัวของเงินเฟ้อได้หากต้นทุนยังเร่งตัวขึ้นเรื่อย ๆ ในที่สุดก็ต้องมีการปรับราคา

แม้ว่าแนวโน้มอัตราเงินเฟ้อจะสูงขึ้น แต่เชื่อว่ายังอยู่ในกรอบนโยบายการเงินของ ธปท. ทำให้ต้องระมัดระวัง แต่ไม่ถึงขั้นต้องวิตก ขณะที่การพิจารณาอัตราดอกเบี้ยนโยบายจะพิจารณาแนวโน้มเศรษฐกิจในระยะต่อไปว่าได้รับผลกระทบจากปัจจัยภายนอกมากแค่ไหน แรงส่งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจไทยจะอยู่ในระดับใด

"ขณะนี้ดอกเบี้ยอาร์/พียังถือว่า 3% เป็นระดับที่ผ่อนปรนอยู่ ดังนั้นเมื่อปัจจัยพื้นฐานเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ปกติ นโยบายการเงินก็ควรกลับเข้าสู่ปกติเช่นกัน สอดคล้องกับความเห็นไอเอ็มเอฟที่มองว่าเศรษฐกิจขณะนี้กลับเข้าสู่ภาวะปกติ ดังนั้นนโยบายการเงินการคลังควรลดการกระตุ้นตั้งแต่ปลายไตรมาส 2 ถึงไตรมาส 3 เพื่อให้เข้าสู่ระดับปกติ"นายไพบูลย์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ