กกพ.เล็งขึ้นค่า FT อีก 8 สต./หน่วยใน ก.ย. หาเงินคืนกฟผ.1.4 หมื่นลบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Sunday May 27, 2012 13:58 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นางพัลลภา เรืองรอง กรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ. )กล่าวว่า ค่าไฟฟ้าอัตโนมัติ หรือ ค่าเอฟที ในอีก 4 งวดข้างหน้า นับตั้งแต่เดือนกันยายน 2555เป็นต้นไป มีแนวโน้มที่จะปรับเพิ่มขึ้นประมาณ 8 สตางค์/หน่วย เนื่องจาก กกพ. มีแผนที่จะทยอยคืนเงินให้กับการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ที่รับภาระตรึงค่าเอฟที มาตั้งแต่เดือนมกราคม-พฤษภาคม ประมาณ 14,000 ล้านบาท หากชำระคืนได้ตามแผนคาดว่าภาระหนี้จะหมดลงในกลางปี 2556 ซึ่งจะทำให้ กฟผ.สามารถนำเงินไปใช้ในการลงทุนได้ตามแผน อย่างไรก็ตาม ค่าเอฟทีที่จะเพิ่มขึ้นจะต้องพิจารณาต้นทุนเชื้อเพลิงก๊าซธรรมชาติที่ใช้ในการผลิตไฟฟ้า อัตราแลกเปลี่ยน รวมทั้งการใช้ไฟฟ้าของประชาชนในช่วงนั้นประกอบด้วย

สำหรับแผนพลังงานทดแทน ปี 2552-2564 ที่จะเพิ่มสัดส่วนพลังงานทดแทนเป็น 9,200 เมกะวัตต์ จะทำให้ค่าเอฟทีเพิ่มขึ้นประมาณ 20 สตางค์/หน่วย แม้ค่าเอฟทีจะเพิ่มขึ้นแต่จะเป็นประโยชน์ในระยะยาว เพราะพึ่งพาเชื้อเพลิงในประเทศได้มากขึ้น และช่วยลดการนำเข้าเชื้อเพลิงจากต่างประเทศที่มีราคาแพง

ส่วนการปรับโครงสร้างค่าไฟฟ้าฐานใหม่ ตามมติ ครม. คาดว่า จะแล้วเสร็จกลางปี 2556 และค่าไฟฟ้าฐานอาจปรับลดลงได้จากปัจจุบันอยู่ที่ 3.20 บาท/หน่วย เนื่องจาก กกพ. จะทบทวนค่าบริการในการจดหน่วยจำหน่ายเพื่อเก็บบิลค่าไฟจากประชาชน ซึ่งมีการคำนวณรวมอยู่ในค่าไฟฟ้าฐานที่อัตรา 38.22 บาท/เดือน แต่ปัจจุบันประชาชนมีการจ่ายค่าไฟฟ้าด้วยตนเองผ่านเคาน์เตอร์เซอร์วิส อาทิ เซเว่น-อีเลฟเว่น และดิสเคาน์สโตร์ ที่มีการเก็บค่าบริการอีก 10-15 บาท/บิล หลังประชาชนร้องเรียนว่าเป็นการจ่ายค่าบริการซ้ำซ้อน ซึ่ง กกพ. ได้ทำหนังสือไปยัง การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค และการไฟฟ้านครหลวง ให้พิจารณาปรับลดค่าบริการดังกล่าวลง รวมทั้งจะต้องมีการจ่ายคืนย้อนหลัง เพราะเงินในส่วนนี้ สามารถนำไปใช้ลดค่าเอฟทีในอนาคตให้กับประชาชนได้

นอกจากนี้ ยังจะพิจารณายืดอายุโรงไฟฟ้าและสายส่ง เพื่อให้สอดคล้องกับข้อเท็จจริง อย่างไรก็ตาม จะต้องพิจารณาการใช้ไฟฟ้าสูงสุด หรือพีค ด้วยว่าจะเพิ่มขึ้นมากน้อยเพียงใด หากเพิ่มขึ้นมากอาจต้องสร้างโรงไฟฟ้าเพิ่ม ทำให้ค่าไฟฟ้าฐานไม่สามารถปรับลงได้ รวมทั้งการปรับสูตรการคำนวณค่าไฟฟ้าโดยนำการซื้อไฟเข้าไปรวมในการคำนวณค่าไฟฟ้าฐาน เพื่อให้ค่าเอฟทีสะท้อนต้นทุนค่าเชื้อเพลิงอย่างแท้จริง และการปรับสูตรโครงสร้างราคาก๊าซธรรมชาติ จากปัจจุบันอ้างอิงราคาน้ำมันเตา เป็นการคำนวณตามต้นทุนที่แท้จริง แต่การปรับโครงสร้างดังกล่าว อยู่ภายใต้การควบคุมของ พ.ร.บ.ปิโตรเลียม ซึ่งอยู่นอกเหนืออำนาจของ กกพ.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ