"บัณฑูร"แนะเอกชนเน้นบริหารต้นทุนรับมือ AEC หวังรัฐวางโครงสร้างพฐ.หนุน

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 14, 2012 16:10 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายบัณฑูร ล่ำซำ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ธนาคารกสิกรไทย (KBANK) กล่าวปาฐกถาเรื่อง"AEC ก้าวใหม่ธุรกิจไทย รุกอย่างมีชั้น รับอย่างมีเชิง"ว่า ขณนี้เกิดความตื่นตัวการเปิดเสรีเศรษฐกิจประชาคมอาเซียน(AEC)ซึ่งเป็นสภาวะแวดล้อมของโลก ของตลาดที่มีการเปลี่ยนแปลงโดยตลอด และ AEC เป็นอีกหนึ่งความท้าทายของผู้ประกอบการที่ต้องตอบโจทย์ให้ได้ ดังนั้นจึงต้องทำความเข้าใจกับโจทย์ที่อยู่ข้างหน้า เพราะไม่มีสูตรสำเร็จหรือสูตรรับรองตายตัว

"ปัญหาคือจะทำอะไร ซึ่งผู้ประกอบการรายเล็ก รายกลาง น่าเห็นใจที่ต้องเจอโจทย์ที่มองแล้วไม่มีทางออก ส่วนบริษัทใหญ่ๆ มีฐานเงินทุนแข็งแกร่ง มีแบรนด์ติดตลาดอยู่แล้วไม่ใช่เรื่องน่าห่วง"นายบัณฑูร กล่าว

ทั้งนี้ การคิดในเชิงยุทธศาสตร์เป็นหน้าที่ของผู้บริหาร หรือเถ้าแก่ที่จะต้องใช้สติปัญญา คิดหาทางอยู่รอดของธุรกิจในเส้นทางไหนที่เหมาะสมภายใต้สถานการณ์ที่การแข่งขันมากขึ้น ดังนั้น ต้องผลิตสินค้าให้ดีขึ้นให้สอดคล้องกับความต้องการของตลาด มีการบริหารต้นทุนที่ต่ำลง เพราะการบริหารต้นทุนทางธุรกิจ เป็นเรื่องที่ละเลยไม่ได้ภายใต้การแข่งขันเสรี ผู้ประกอบการไทยที่อาจไม่เคยประสบภาวะต้นทุนสูงขึ้น อาจต้องคิดถึงการย้ายฐานการผลิตไปสู่แหล่งที่มีต้นทุนที่ต่ำลง

"ภายใต้ต้นทุนที่สูงขึ้น มีคู่แข่งตามมาติดๆ ถือเป็นความท้าทายครั้งใหญ่ของวงการธุรกิจ การจะหวั่งพึ่งเงินทุนจากญี่ปุ่น ก็ยังหวังได้ แต่ญี่ปุ่นเองก็มีทางเลือกที่จะมองประเทศอื่นๆ เพราะที่ผ่านมาลงทุนในไทยมาเยอะแล้ว แต่ประเทศอื่นๆ ก็มีเป็นทางเลือกที่ใช้ผลิตสินค้าได้เหมือนในไทย" นายบัณฑูร กล่าว

อย่างไรก็ตาม แนะนำให้ภาคธุรกิจคำนึงใน 3 เรื่องเพื่อรับมือ AEC คือ การคิดโจทย์ให้ออก และวางเป้าหมายทางธุรกิจ มีการสื่อความกับบุคลากรในองค์กรให้มีความเข้าใจที่ตรงกัน และการจัดระบบทรัพยากรบุคคลในการเลือกคนเก่งเข้ามาทำงาน ต้องประคับประคองให้การทำงานร่วมกันไม่เกิดปัญหา

แต่ทั้งหมดของโจทย์อยู่ที่ระบบการเมืองที่จะต้องมีการบริหารจัดการเพื่อให้คนในประเทศมีโอกาสต่อสู้การการแข่งขันที่จะเกิดขึ้น โดยต้องวางโครงสร้างพื้นฐานใน 3 ด้านเพื่อให้ภาคธุรกิจมีความสามารถการแข่งขันรองรับการเปลี่ยนแปลงของโลก ประกอบด้วย 1. โครงสร้างทางการศึกษา ซึ่งปัจจุบันยังไม่มีนโยบายที่จะให้ความมั่นใจได้ เป็นโจทย์ที่ทุกพรรคการเมืองควรให้ความสำคัญแต่ยังไม่ได้รับความสนใจ

2.โครงสร้างของระบบโทรคมนาคม-ระบบคมนาคม ถือเป็นปัจจัยสำคัญต่อการลงทุน การดำนเนธุรกิจ เพราะหากระบบดังกล่าวยังไม่สามบูรณ์จะทำให้ต้นทุนสูงขึ้น 3.โครงสร้างของระบบกฎหมาย กฎกติกา เพราะหากระบบกฎหมายยังไม่ชัดเจน มีความซ้ำซอน การดำเนินธุรกิจก็จะยังอุ้ยอ้าย มีการฟ้องร้องกันไปหมด


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ