นักวิเคราะห์คาดราคายาง Q3/55 ผันผวนในช่วง 90-120 บาท.กก.สวนทางภาวะปกติ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 19, 2012 14:44 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นักวิเคราะห์ คาดการณ์ราคายางจากนี้จนถึงสิ้นปี 55 น่าจะยังผันผวนต่อไปตามปัจจัยภาวะเศรษฐกิจโลก สภาพอากาศ อัตราแลกเปลี่ยน ราคาน้ำมัน ความต้องการใช้ระหว่างยางธรรมชาติและยางสังเคราะห์ที่ยังมีความไม่แน่นอน แม้โดยปกติไตรมาส 3 ราคาจะเป็นลักษณะ Up Trend หรือภาวะกระทิง(Bullish) โดยมองราคาระยะต่อจากนี้น่าจะอยู่ในช่วง 90-120 บาท/กก.

"ขณะนี้เข้าสู่ช่วงไตรมาส 3 ของปี ซึ่งโดยปกติจะเป็นภาวะกระทิง แต่ปีนี้มีเรื่องภาวะเศรษฐกิจเข้ามากดดัน ดังนั้นภาวะกระทิงอาจจะยังไม่เกิดตอนนี้"นายชัยวัฒน์ เหมือนมี นักวิเคราะห์ บริษัท ดีเอส ฟิวเจอร์ส จำกัดกล่าวกับ"อินโฟเควสท์"

ทั้งนี้ เชื่อว่าในรอบปีนี้ราคายางไม่น่าจะต่ำกว่า 90 บาท/กก. ราคาสูงสุดก็ไม่น่าจะเกิน 120 บาท/กก. ส่วนมีโอกาสจะไปทดสอบระดับ 190 เกือบๆ 200 บาทอีกหรือไม่นั้น ก็เป็นไปได้แต่ขึ้นกับว่ารัฐบาลจะต้องสร้างความมั่นใจให้หลายภาคส่วนที่อยู่ในวงจรอุตสาหกรรมยางพาราให้เชื่อมั่นว่า ราคาในอนาคตจะถูกขับเคลื่อนให้เดินหน้าไปสู่เป้าหมาย และต้องติดตามสถานการณ์เศรษฐกิจโลกในภาพรวมว่าจะไม่มีอะไรมาทำลายความเชื่อมั่นของนักลงทุนได้แล้ว

"ตอนนี้นักลงทุนขาดความมั่นใจเพราะว่าเศรษฐกิจโลกยังมีปัญหาอยู่ และกำลังซื้อของนักลงทุนหายไป"นักวิเคราะห์ ระบุ

สำหรับแนวโน้มราคายางและผลิตภัณฑ์ยางในช่วงนี้คล้ายๆ รูปตัวเอ็มฐานเอน ไม่ใช่ตัวเอ็มตั้งตรง โดนขณะนี้อยู่ตรงกลางของตัวเอ็ม เนื่องจากราคายางปรับตัวลดลงตามปัญหาใหญ่ของโลก นั่นคือปัญหาเศรษฐกิจในยุโรปที่มีผลกระทบไปต่อตลาดการเงินและตลาดทุนทั่วโลก อีกทั้งยังกดดันต่อกำลังซื้อของประเทศผู้ใช้ยางรายใหญ่ เช่น จีนและยุโรปที่ใช้ยางพาราในอุตสาหกรรมยางล้อรถยนต์

ประกอบกับ กลุ่มประเทศผู้ส่งออกน้ำมันคาดการณ์ว่าความต้องการน้ำมันในช่วงครึ่งปีหลังของปี 55 จะมีความไม่แน่นอนมากขึ้น เนื่องจากสถานการณ์ที่ท้าทายทั่วโลก ดังนั้น คาดว่าในระยะสั้นราคาน้ำมันในตลาดโลกไม่น่าจะต่ำกว่าระดับ 80 ดอลลาร์/บาร์เรล และประเมินกรอบการเคลื่อนไหวของราคาน้ำมันไว้ที่ 80-90 ดอลลาร์/บาร์เรล

อย่างไรก็ตาม ราคายางมีโอกาสปรับตัวเพิ่มขึ้นจากประเด็นที่น่าจะยังส่งผลดีต่อทิศทางราคา คือ อัตราแลกเปลี่ยน หลังจากที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)มีมติให้คงอัตราดอกเบี้ยไว้ที่ระดับ 3% เช่นเดิมถือว่าดีทีเดียว เงินบาทก็ต้องอ่อนค่าเป็นธรรมดา เพราะการคงอัตราดอกเบี้ยทำให้ในภาพรวมของนักลงทุนสามารถเข้ามาเก็งกำไรส่วนต่างอัตราดอกเบี้ยได้ ทำให้เกิดการไหลเข้า-ออกของเงินตราต่างประเทศ เพราะแต่ละประเทศมีอัตราดอกเบี้ยที่ต่างกัน

"มองว่า เงินบาทที่อ่อนค่าในระดับ 31 บาทกว่าๆต่อดอลลาร์สหรัฐ ผู้ส่งออกน่าจะยังยิ้มได้ โดยเฉพาะผู้ส่งออกยางน่าจะยังยิ้มได้ เพราะบ้านเราเป็นผู้ส่งออกยางเบอร์ 1 ของโลก ผลผลิตยางที่มี ก็ส่งออกเกือบทั้ง 100%"นักวิเคราะห์ กล่าว

ขณะที่สภาพอากาศ เบื้องต้นคาดว่าฝนจะน้อยลง แต่คงต้องใช้ระยะเวลาสักระยะ เนื่องจากที่ผ่านมามีน้ำท่วมหลายพื้นที่ ทำให้ต้นยางบางส่วนเสียหายและการผลิตน้ำยางเป็นไปอย่างยากลำบาก ตัวเลขปริมาณผลผลิตที่เข้าสู่ตลาดในช่วงนี้ลดลงจากช่วงสัปดาห์ก่อน เช่น ยางแผนรมควันชั้น 3 ที่ตลาดกลางสุราษฎร์ธานี เมื่อต้นสัปดาห์วันที่ 11 มิ.ย.ปริมาณสินค้าที่เข้าสู่ตลาดมี 28,124 กก.แต่วานนี้(14 มิ.ย.)ลดลงเหลือ 17,700 กก.ส่วนที่นครศรีธรรมราช จากวันที่ 11 มิ.ย.ปริมาณ 19,740 กก.ลดเหลือ 4,334 กก.ประเด็นนี้น่าจะส่งผลดีต่อราคายางได้อีกระยะหนึ่ง

สำหรับแนวโน้มปริมาณความต้องการใช้ยาง นักวิเคราะห์ กล่าวว่า สมาคมประเทศผู้ผลิตยางธรรมชาติ(ANRPC)คาดว่าผลผลิตยางธรรมชาติของโลกในปี 55 อยู่ที่ 10.47 ล้านตัน เพิ่มขึ้นร้อยละ 1.5 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา เนื่องจากผลผลิตยางเพิ่มขึ้นจากประเทศที่เริ่มเปิดกรีดยาง ซึ่งเป็นการสวนทางกันเพราะอุปสงค์ยางพารามีแนวโน้มลดลงจากภาวะเศรษฐกิจโลกที่กำลังถดถอย ตั้งแต่วิกฤตหนี้ยุโรปที่เริ่มลุกลามเป็นวงกว้าง เศรษฐกิจสหรัฐฯอ่อนแอ ความต้องการใช้ยางของจีนลดลง ราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกปรับตัวลดลง ปัจจัยเหล่านี้อาจส่งผลต่อราคายางธรรมชาติให้ตัวลดลงตลอดทั้งปี

ขณะที่ราคาน้ำมันที่อยู่ในช่วงขาลงน่าจะทำให้ความต้องการยางสังเคราะห์มีเพิ่มขึ้น

ส่วนเรื่องมาตรการดูแลราคายางที่รัฐบาลใช้อยู่ โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ได้กำหนดมาตรการรับมือปัญหาราคายางตกต่ำดังกล่าวเพื่อพยุงและรักษาระดับราคายางเอาไว้ให้ได้โดยได้สั่งการให้สถาบันเกษตรกรและองค์การสวนยาง(อสย.)เร่งดำเนินโครงการรับซื้อยางเก็บสต๊อกเพื่อรอจำหน่ายวงเงิน 1.5 หมื่นล้านบาทนั้น มองว่ารัฐบาลต้องสร้างความชัดเจน เพราะเครื่องมือเพียงอย่างเดียวคงไม่เพียงพอที่จะทำให้ราคาถูกขับเคลื่อนไปสู่เป้าหมาย เป็นไปได้หรือไม่ที่จะขอความร่วมมือจากอีก 2 ประเทศที่เป็นผู้ผลิตและส่งออกยางรายใหญ่ คือ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย

สำหรับ พ.ร.บ.การยางแห่งชาติ ที่ล่าสุดที่ประชุมสภาผู้แทนราษฎร ได้พิจารณารับหลักการของร่างกฎหมายตามที่ระบุไว้ในระเบียบวาระ รวม 16 ฉบับ ซึ่งในจำนวนนั้นคือ ร่าง พ.ร.บ.การยางแห่งประเทศไทย รวม 3 ฉบับ มองว่า ในระยะกลางขึ้นไปเป็นสิ่งจะสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับยางพาราได้ดีทีเดียว เพราะเนื้อหาสาระของพ.ร.บ.ฉบับนี้ค่อนข้างหลากหลายตั้งแต่อุตสาหกรรมยางต้นน้ำ จนถึงปลายน้ำ ซึ่งเชื่อว่าน่าจะเกิดประโยชน์ทั้งต่อผู้ผลิตและผู้บริโภค

นักวิเคราะห์ กล่าวว่า ยางพาราเป็นพืชเศรษฐกิจอันดับต้นๆของไทยยังมีแนวโน้มที่ดี เพราะเป็นสินค้าที่มีความผันผวนของราคาตามปัจจัยแวดล้อมหลายประการ เป็นผลให้นักลงทุนนิยมเล่นเก็งกำไรสินค้ายางมากกว่าสินค้าเกษตรชนิดอื่นๆที่ซื้อขายกันอยู่ในตลาดสินค้าเกษตรล่วงหน้าแห่งประเทศไทย (AFET)

ที่ผ่านมาจนถึงทุกวันนี้นักลงทุนก็ยังนิยมเก็งกำไรยางพารา เพราะสินค้าอื่นๆ ขาดสภาพคล่องตามตลาดจริงที่มีปัจจัยอื่นๆเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ข้าว ภาวะการส่งออกซบเซา เนื่องจากราคาข้าวของไทยสูงกว่าประเทศคู่แข่ง ทำให้การซื้อขายในตลาดจริงซบเซา ส่วนมันสำปะหลังก็มีความเกี่ยวเนื่องกับเรื่องพลังงานทดแทนที่ยังอยู่ในช่วงตั้งไข่

จากปัจจัยหลากหลายที่กล่าวมาจึงคาดการณ์แนวโน้มราคายางในระยะสั้น(ช่วง 7 วันนับจากนี้)แนวรับ 100 บาท/กก.แนวต้าน 105 บาท/กก.ระยะยาว (ช่วง 1-3 เดือนนับจากนี้) แนวรับอยู่ที่ 95 และ 90 บาท/กก. แนวต้าน 120 บาท/กก.


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ