สศก.คาด Q2/55 ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรสูงขึ้นทั้งข้าว-ยางพารา-พืชไร่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 20, 2012 16:42 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร (สศก.) กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยถึงการคาดการณ์ปริมาณผลผลิตสินค้าเกษตรที่สำคัญประจำไตรมาส 2/55 พบว่า สินค้าเกษตรส่วนใหญ่มีปริมาณการผลิตเพิ่มขึ้นจากปีที่ผ่านมา

พืชที่สำคัญอย่างข้าวนาปี มีผลผลิตเพิ่มขึ้นจากการปลูกข้าวนาปีรอบ 2 ในภาคเหนือตอนล่างและภาคกลาง ขณะที่ปีก่อนประสบอุทกภัยทำให้เกษตรกรหยุดการเพาะปลูก ส่วนข้าวนาปรังเพิ่มขึ้นเนื่องจากปริมาณน้ำมีเพียงพอต่อการเพาะปลูก โดยพื้นที่บางส่วนในลุ่มน้ำเจ้าพระยาสามารถปลูกข้าวภายหลังน้ำลดได้มากกว่าเดิม ส่งผลให้ไทยมีปริมาณข้าวรวมในปี 2555 ประมาณ 37 ล้านตันข้าวเปลือก เพิ่มขึ้น 4 ล้านตันข้าวเปลือกจากปีที่แล้วที่ได้ 33 ล้านตันข้าวเปลือก หรือ ร้อยละ 12 ซึ่งเพียงพอต่อการบริโภคในประเทศและการส่งออก

ด้านยางพาราผลผลิตเพิ่มขึ้นตามการเพิ่มของเนื้อที่และสภาพภูมิอากาศที่เอื้ออำนวย โดยยางพาราเนื้อที่กรีดปี 55 เพิ่มขึ้นมากในทุกภาค โดยเฉพาะภาคเหนือ และภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ซึ่งเป็นผลจากการขยายเนื้อที่ปลูกยางในปี 49 ที่อยู่ในช่วงการสนับสนุนของภาครัฐตามโครงการปลูกยางพารา 1 ล้านไร่ ซึ่งมีเป้าหมายขยายเนื้อที่ปลูกยางใน 36 จังหวัด ระหว่างปี 47-49 โดยแบ่งเป็น 300,000 ไร่ใน 17 จังหวัดภาคเหนือ และ 700,000 ไร่ใน 19 จังหวัดภาคตะวันออกเฉียงเหนือ ประกอบกับราคายางอยู่ในเกณฑ์ดีและสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 46 จึงจูงใจให้เกษตรกรปลูกยางพาราเพิ่มขึ้นมากกว่าเป้าหมาย

ส่วนเนื้อที่เพาะปลูกพืชไร่ ทั้งมันสำปะหลังโรงงาน ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ ถั่วเหลือง ถั่วเขียว และถั่วลิสง โดยรวมลดลง เนื่องจากเกษตรกรปรับเปลี่ยนไปปลูกอ้อยโรงงาน ส่งผลให้อ้อยโรงงานมีการขยายพื้นที่อย่างต่อเนื่อง ซึ่งคาดว่าจะมีเนื้อที่เก็บเกี่ยวอ้อยโรงงานปี 55 ประมาณ 8.1 ล้านไร่ เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้ว 87,960 ไร่ และมีผลผลิตเข้าโรงงาน 102.358 ล้านตัน เพิ่มขึ้นจากปีที่แล้วเกือบ 4 ล้านตัน

ขณะที่การปศุสัตว์ ปริมาณผลิตยังคงเพิ่มขึ้นทั้งไก่เนื้อ ไก่ไข่ สุกร และน้ำนมดิบ ยกเว้นโคเนื้อที่ปริมาณการผลิตลดลงอย่างต่อเนื่อง เนื่องจากจำนวนแม่โคลดลงจากการส่งออกโคเนื้อไปประเทศเพื่อนบ้าน เช่น ลาว เขมร และเวียดนาม ตั้งแต่ปี 53 มาจนถึงปัจจุบัน ทำให้เกิดภาวะขาดแคลนโคเนื้อในประเทศ จึงต้องบริโภคโคเนื้อเพศเมียและโคที่ยังโตไม่เต็มที่เพิ่มขึ้น ส่งผลการขยายพันธุ์จึงทำได้น้อยมาก อีกทั้งเกษตรกรบางส่วนเลิกเลี้ยงโค เปลี่ยนพื้นที่ไปปลูกพืชเศรษฐกิจที่ให้ผลตอบแทนได้รวดเร็วกว่าการเลี้ยงโค


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ