กสทช.-ทีดีอาร์ไอ-นักวิชาการถกเดือดปมประมูล 3G กลางเวทีจิบน้ำชา

ข่าวเศรษฐกิจ Monday October 29, 2012 18:16 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

บรรยากาศในงานจิบน้ำชา "3 จี 3 ใจ ใครกำหนด" ที่จัดโดยชมรมนักข่าวเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ไอทีพีซี)โดยมีพ.อ.เศรษฐพงศ์ มะลิสุวรรณ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) และ ประธานกรรมการกิจการโทรคมนาคม (กทค.) กับนายสมเกียรติ ตั้งกิจวานิจย์ ประธานสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศ (ทีดีอาร์ไอ) รวมทั้งนายอานุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม ซึ่งเป็นผู้ที่ไปยื่นฟ้องต่อศาลปกครองให้ระงับการประมูล 3จี

พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวยืนยันว่า การประมูลใบอนุญาต (ไลเซ่นส์) 3 จี บนคลื่นความถี่ 2.1 GHz เมื่อวันที่ 16 ต.ค.ที่ผ่านมา กสทช.ดำเนินการตามกฎหมาย อย่างไรก็ตาม การทำให้ประชาชนต้องการหลายสิ่งพร้อมกันทำได้ไม่หมด เพราะ กสทช.ต้องฟังทุกคน และต้องตัดสินใจตามกรอบเวลาที่ชัดเจนของกฏหมาย ซึ่งการตัดสินก็มีกระบวนการในการดำเนินการที่เป็นคณะ โดยนำการวิจัยจากหลายๆ สถาบันมาเปรียบเทียบ

ทั้งนี้ กสทช.ก็ต้องอุตสาหกรรมทั้งอุตสาหกรรมแล้วชั่งน้ำหนัก โดยการจัดสรรคลื่นความถี่ที่มีประสิทธิภาพคือการเอาทรัพยากรที่ไม่ได้ใช้งานมาจัดสรรแล้วสร้างมูลค่า อย่างไรก็ตาม ในการประมูลใบอนุญาตตอนแรกมีผู้เข้าร่วมประมูล 1 รายไม่ยอมเคาะราคา กสทช.ก็ตกใจว่าจะเหลือไลเซ่นส์ 1 สล็อต จึงเป็นสิ่งที่ กสทช.ไม่สามารถสมมติขึ้นมาเองได้ และหากเป็นเช่นนั้น กสทช.ก็ต้องรับผิดชอบ

พ.อ.เศรษฐพงศ์ กล่าวว่า อยากให้มั่นใจว่าได้มีการตรวจสอบจากสำนักงานป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) แล้ว จึงมั่นใจได้ว่าทุกอย่างจะโปร่งใสแน่นอน และถ้าบริษัทที่เข้าร่วมประมูลมีการฮั้วประมูล 3 จี จะโดนหนักที่ไม่ใช้เพียงคดีอาญาอย่างเดียวแต่จะโดนถอนออกจากตลาดหลักทรัพย์ฯ ด้วย ซึ่งเชื่อว่าเอกชนจะไม่มาเสี่ยงแน่นอน

"ตามสิทธิความต้องการของผู้บริโภคมีสิทธิที่จะเคลื่อนย้ายเครือข่ายได้ ซึ่งผู้ประกอบการต้องจูงใจการย้ายเครือข่ายของลูกค้า ทั้งนี้ เราจะไม่หยุดการดำเนินการ เราหยุดไม่ได้ แต่จะหยุดได้ก็เป็นในเรื่องของอำนาจของศาลที่จะพิจารณา และถ้าเป็นไปตามแผนที่กำหนดจะออกใบอนุญาตภายใน 90 วัน หลังจากประมูลใบอนุญาต เพื่อความเป็นธรรมแก่ผู้เข้าร่วมประมูลที่ลงทุนไปเป็นแสนล้านบาท และการเข้าถึงเทคโนโลยีของประชาชน" พ.อ.เศรษฐพงค์ กล่าว

ด้านนายสมเกียรติ จากทีดีอาร์ไอ กล่าวว่า การจัดสรรคลื่นความถี่ควรคำนึงถึงความสมดุลหลายฝ่าย กสทช.ไม่มีหน้าที่หารายได้ ซึ่งจะเชื่อมโยงกับราคาการประมูล โดย กสทช.กำหนดราคาต่ำกว่ามาตราฐานสากลถึง 27.2% และกสทช.ก็ทราบอยู่แล้วว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลใบอนุญาตแค่ 3 รายเท่านั้น โดยผู้เข้าร่วมประมูลจะเคาะราคาเท่าไหร่ก็ต้องดูว่าตลาดประเทศไทยมีขนาดใหญ่แค่ไหนและดูว่ามีผู้เข้าร่วมกี่ราย และจะดูว่าจลงทุนเท่าไหร่เพื่อให้คุ้มกับเม็ดเงินที่ลงทุน

หากกำหนดให้มีการประมูลคลื่นความถี่สูงสุดถึง 20 MHz ได้รายเดียว และกำหนดราคาตั้งต้นประมูลไว้สูงกว่าที่เป็นอยู่ คือ 4,500 ล้านบาท ก็จะก่อให้เกิดการแข่งขัน จึงก่อให้เกิดความเสียหายกับรัฐ 16,000 ล้านบาท ประชาชนเสียประโยชน์ ไม่เกิดการสมดุล ประชาชนควรได้ใช้ 3 จี โดยเร็ว แต่ต้องมีผู้รับผิดชอบ ซึ่ง กสทช.ควรเป็นผู้รับผิดชอบในฐานะที่ออกแบบการประมูลที่มีปัญหา

ส่วนนายอนุภาพ ถิรลาภ นักวิชาการอิสระด้านโทรคมนาคม กล่าวว่า ในการทำข้อมูลควรนำข้อมูลทุกตัวมาดูรวมกันและควรดูถึงตัวแปรด้วยว่าตัวเลขที่ออกมาเหมาะสมหรือไม่ โอเปอเรเตอร์ทุกค่ายก็จะนำตัวแปรที่ต่างกันมาดู ซึ่งราคาประมูลมีผลต่อค่าบริการหรือไม่นั้นก็ต้องมาดูโครงสร้าง หากโครงสร้างตลาดเป็นตลาดผูกขาด ราคาการประมูลก็จะไม่มีผลต่อราคาค่าบริการ

ทั้งนี้ กสทช.ควรกำกับดูแลให้เกิดการแข่งขันที่แท้จริง เพราะโทรคมนาคมเป็นสิ่งที่ผูกขาดอยู่แล้ว สิ่งที่ดีที่สุดไม่ควรมีผู้กำกับดูแล นอกจากนี้ การคุ้มครองผู้บริโภค ผู้ที่เข้ามากำกับดูแลอย่าง กสทช.ต้องมีความรู้เรื่องเทคนิค ในเรื่องของการให้บริการที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด และก่อให้เกิดประโยชน์ส่วนรวม

นอกจากนี้ การประมูล 3 จีควรกำหนดรายนึงไม่เกิน 10 MHz นอกจากนี้ การคุ้มครองผู้บริโภคนั้น ประชาชนควรมีสิทธิเท่ากันไม่ควรที่จะระบุให้ประชาชนชั้น 1 ในปีแรกสามารถใช้ได้ 50% และใครจะอยากเป็นประชาชนที่เหลือ 20% สุดท้าย

"มองว่าการประมูลใบอนุญาต มันไม่เกี่ยวว่าจะมีคนมาประมูลกี่ราย อยู่ที่ว่าจะมีการให้ใบอนุญาตกี่ใบ ถึงจะออกแบบได้ว่าจะมีผู้เข้าร่วมประมูลกี่ราย"นายอานุภาพ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ