(เพิ่มเติม) ส.อ.ท.ชี้ธุรกิจก่อสร้างดัน GDP ปี 56 โตกว่า 5% ชูยุทธศาสตร์ดัน 11 คลัสเตอร์

ข่าวเศรษฐกิจ Monday December 17, 2012 18:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) คาดอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยใน 56 จะขยายตัวได้มากกว่า 5% โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของกลุ่มธุรกิจก่อสร้าง และกลุ่มวัสดุก่อสร้าง ในการลงทุนก่อสร้างสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐานของรัฐ การขยายโรงงานของภาคธุรกิจ และการสร้างที่อยู่อาศัย ขณะที่มีปัจจัยเสี่ยงในเรื่องราคาน้ำมันที่ปรับตัวสูงขึ้น การปรับขั้นค่าแรงขั้นต่ำ การขาดแคลนแรงงาน และสถานการณ์ทางการเมือง
"เศรษฐกิจปีหน้าจะคึกคักประมาณ 5+ แต่ยังคงต้องดูสถานการณ์โดยรอบ ไม่ว่าจะเป็นภัยธรรมชาติ หรือความผันผวนที่เกิดขึ้น แม้เศรษฐกิจโลกจะมีแนวโน้มโตไม่มากหรือค่อนข้างทรงตัว แต่ระบบเศรษฐกิจของเรายังมีประสิทธิภาพที่ดี" นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธาน ส.อ.ท.กล่าวในการสัมมนาเรื่อง "11 คลัสเตอร์อุตสาหกรรม:วิสัยทัศน์ในการขับเคลื่อนแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 และรองรับ AEC"

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ผลการเลือกตั้งของญี่ปุ่นไม่น่าจะมีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจมากนัก เนื่องจากญี่ปุ่นเป็นประเทศที่มีระบบเศรษฐกิจแข็งแกร่ง แต่ต้องจับดูเรื่องสถานการณ์ส่งออกที่หดตัวและเงินเยนปรับตัวแข็งค่า ขณะที่นักธุรกิจญี่ปุ่นยังเข้ามาลงทุนในไทยอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) เนื่องจากไทยมีความพร้อมเรื่องระบบห่วงโซ่อุตสาหกรรมในหลายอุตสาหกรรม และเป็นศูนย์กลางของภูมิภาค

อย่างไรก็ตาม ผู้ประกอบการจำเป็นต้องเตรียมความพร้อมด้วยการเพิ่มองค์ความรู้ ปรับปรุงการบริหารจัดการ โดยใช้นวัตกรรมทางเทคโนโลยี อุปกรณ์และเครื่องจักรที่ทันสมัย ส่วนปัญหาการขาดแคลนแรงงานนั้น ส.อ.ท.ได้ทำหนังสือไปถึง น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี เพื่อขอให้พิจารณาผ่อนผันขยายเวลาการพิสูจน์สัญชาติแรงงานต่างด้าวเพื่อขึ้นทะเบียนที่จะครบกำหนดภายในสิ้นปีนี้ออกไปก่อน

ทั้งนี้ ส.อ.ท.มียุทธศาสตร์ในการดำเนินงาน 9 ด้าน ได้แก่ 1.การผลักดันและส่งเสริมอุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ 2.การปรับปรุงโครงสร้างพื้นฐาน 3.การเพิ่มผลิตภาพของภาคอุตสาหกรรม โดยมุ่งเน้นธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม(SMEs) 4.การวิจัยและพัฒนา 5.การเข้าถึงแหล่งเงินทุนและลงทุน 6. การขจัดปัญหาและอุปสรรค 7.การส่งเสริมอุตสาหกรรมสีเขียว 8.การผลักดันให้เกิดการลงทุนในประเทศ และ 9.การยกระดับศักยภาพผู้ประกอบการเพื่อพัฒนาให้เกิดการรวมกลุ่มเพิ่มขึ้น

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า ยุทธศาสตร์ดังกล่าวมุ่งให้กลุ่มอุตสาหกรรมต่างๆ เกิดความเชื่อมโยงเข้าด้วยกัน เพื่อสร้างความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุตสาหกรรมเดียวกันตั้งแต่ต้นน้ำจนถึงปลายน้ำ และการมีส่วนร่วมเพื่อให้มี common interest รวมถึงเป็นกระบวนการที่ช่วยยกระดับความสามารถในการแข่งขันให้กับภาคอุตสาหกรรมการผลิต และส่งเสริมให้เกิด SMEs กระจายไปยังภูมิภาคต่างๆ

สำหรับแนวทางการดำเนินงานตามยุทธศาสตร์ดังกล่าวในช่วง 5 ปีหลังจากนี้จะเน้นการผลักดัน 1.คลัสเตอร์ยางและไม้ยางพาราจะผลักดันให้มีการแปรรูปในประเทศเพื่อส่งออกผลิตยางปลายน้ำเพิ่มขึ้นอย่างน้อย 3 เท่า โดยตั้งเป้าเป็นผู้ผลิตยางล้อรถยนต์อันดับ 5 ของโลก

2.คลัสเตอร์ผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจะผลักดันให้ประเทศไทยเป็นศูนย์กลางอาเซียนด้านเทคโนโลยีการผลิต การคิดค้น และพัฒนาผลิตภัณฑ์สุขภาพและความงามที่มีคุณภาพ สร้างแบรนด์สินค้าของคนไทยซึ่งเป็นที่ยอมรับของคนทั่วโลก

3.คลัสเตอร์อาหารจะเพิ่มขีดความสามารถและความร่วมมือของผู้ประกอบการให้เกิด Thailand Food Valley เพื่อสร้างความนิยมในอาหารไทยเพื่อก้าวขึ้นเป็นครัวโลก โดยมีความสมดุลระหว่างการเพาะปลูกพืชอาหารและพืชพลังงาน

4.คลัสเตอร์แฟชั่นและไลฟ์สไตล์จะผลักดันให้เกิดการรวมกลุ่มอย่างครบวงจรทั้งเสื้อผ้า เครื่องหนัง เครื่องประดับ เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่มร่วมกัน

5.คลัสเตอร์การพิมพ์และบรรจุภัณฑ์จะผลักดันให้เป็นผู้นำด้านการออกแบบ และยกระดับอุตสาหกรรมการพิมพ์และบรรจุภัณฑ์ให้เป็น qualified supplier ซึ่งเป็นที่ยอมรับในระดับภูมิภาค เริ่มจากบรรจุภัณฑ์อาหารที่มีมูลค่าเพิ่มสูง

6.คลัสเตอร์ยานยนต์ ตั้งเป้าผลิตรถยนต์ให้ได้มากกว่า 3 ล้านคันภายใน 5 ปีข้างหน้า และเป็นฐานการผลิตรถยนต์ 1 ใน 10 ของโลก โดยเน้นรถปิคอัพและรถอีโคคาร์

7.คลัสเตอร์วัสดุก่อสร้างจะพัฒนาเรื่องการจัดจำหน่ายและกระจายสินค้าอย่างมีคุณภาพ เป็นผู้นำด้านนวัตกรรม พัฒนาวัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และมีส่วนร่วมในการกำหนดมาตรฐานสินค้าในตลาดอาเซียน

8.คลัสเตอร์ปิโตรเคมีจะผลักดันให้เป็นฐานการผลิตในภูมิภาค

9.คลัสเตอร์พลังงานเพื่อสิ่งแวดล้อมจะผลักดันให้เพิ่มสัดส่วนการใช้พลังงานทดแทนเป็น 20% ของปริมาณการใช้พลังงานของประเทศ และเป็นศูนย์กลางด้านพลังงานทดแทนในอาเซียน 10.คลัสเตอร์อุตสาหกรรมการเกษตรจะผลักดันให้มีการรวมกลุ่มชาวนาที่มีพื้นที่เพาะปลูกอย่างน้อย 1,500 ไร่ เพื่อสร้างตลาดและแบรนด์ของข้าวที่เป็นเอกลักษณ์เฉพาะของท้องถิ่นเพื่อยกระดับรายได้อย่างยั่งยืน 11.คลัสเตอร์เครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็คทรอนิกส์จะผลักดันให้เป็นผู้นำการผลิตและส่งออกของอาเซียน การสร้างผลิตภัณท์อนุรักษ์พลังงาน ความเป็นผู้นำในการผลิต HDD และ EMS เพื่อมุ่งสู่อุตสาหกรรม New Wave Product

ประธาน ส.อ.ท.กล่าวว่า อุตสาหกรรมทั้ง 11 คลัสเตอร์นี้จะครอบคลุมการพัฒนาอุตสาหกรรมในหลายส่วนทั่วประเทศ เพื่อรองรับ AEC และเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันของภาคอุตสาหกรรมไทย


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ