ครม.ขยายเวลาเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนใต้ 2 ปีสิ้นสุด 31 ธ.ค.57

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday December 25, 2012 14:51 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.)วันนี้มีมติอนุมัติการขยายระยะเวลามาตรการสำหรับเขตพัฒนาพิเศษเฉพาะกิจจังหวัดชายแดนภาคใต้อีก 2 ปี ไปสิ้นสุด 31 ธ.ค.57 รวม 10 มาตรการ ซึ่งการขยายเวลามาตรการดังกล่าวจะส่งผลต่อการจัดเก็บรายได้ของรัฐบาล 1.4 พันล้านบาท/ปี

ทั้งนี้ มาตรการดังกล่าว ประกอบด้วย มาตรการลดภาษีเงินได้นิติบุคคลให้บริษัทหรือนิติบุคคลที่มีสถานประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษดังกล่าว ที่จัดเก็บจากกำไรสุทธิ จาก 20% เหลือ 3% มาตรการลดภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาที่มีสถานประกอบการในเขตพัฒนาพิเศษฯ ให้สามารถนำเงินได้พึงประเมินมาคำนวณในอัตรา 0.1% ของยอดเงินได้พึงประเมิน โดยไม่ต้องนำเงินได้นั้นมาคำนวณภาษีปลายปี และส่วนเงินได้ที่ได้จากการขายอสังหาริมทรัพย์ ให้ลดอัตราภาษีเงินได้ หัก ณ ที่จ่าย เหลือ 0.1% เช่นกัน

มาตรการลดอัตราภาษีธุรกิจเฉพาะจากการขายอสังหาริมทรัพย์ ที่เป็นการค้าหรือหากำไรในเขรพัฒนาพิเศษฯจาก 3% เหลือ 0.1% มาตรการลดค่าธรรมเนียมในการจดทะเบียนสิทธิและนิติกรรมและลดหย่อนการเรียกเก็บค่าธรรมเนียมจากการจดทะเบียนการโอน และค่าจดจำนองอสังหาริมทรัพย์และห้องชุดในเขตพัฒนาพิเศษฯ จาก 2%ของราคาประเมินกรณีการโอน และ 1% ของราคาประเมินแต่ไม่เกิน 2 แสนบาท กรณีจำนอง เหลือ 0.01%

มาตรการชดเชยส่วนต่างเบี้ยประกันภัย โดยการสนับสนุนส่วนต่างเบี้ยประกันภัยทรัพย์สิน คุ้มครองภัยก่อการร้ายในเขตพัฒนาพิเศษฯ ระหว่าง 0.3-2% มาตรการสินเชื่อผ่อนปรน ให้ธนาคารออมสินทำหน้าที่แทนธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.)ในการสนับสนุนวงเงินสินเชื่อ จำนวน 2.5 หมื่นล้านบาท เพื่อให้ธนาคารพาณิชย์และสถาบันการเงินเฉพาะกิจกู้ในอัตราผลตอบแทน 0.01% และปล่อยกู้แก่ผู้ประกอบการในอัตราผลตอบแทน 1.5% โดยรัฐบาลรับผิดชอบส่วนต่างระหว่างอัตราผลตอบแทนปกติของธนาคารออมสิน กับอัตรา 0.01%ของธนาคารพาณิชย์

มาตรการพักชำระหนี้เกษตรกร ให้มีการพักชำระหนี้ลูกค้าของธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) ในจังหวัดชายแดนใต้ต่อไปอีก 3 ปี โดยให้ ธ.ก.ส.รับภาระดอกเบี้ยแทนในส่วนของเงินต้น ไม่เกิน 2 แสนบาทในปีแรก และปีที่ 2-3 รัฐบาลจะชดเชยภาระดอกเบี้ยแทน ส่วนดอกเบี้ยที่มีเงินต้นเกิน 2 แสนบาท ให้เกษตรกรรับภาระเอง

มาตรการลดค่าธรรมเนียมเกี่ยวกับการจดทะเบียนการขอตรวจเอกสาร การขอสำเนาเอกสาร พร้อมคำรับรอง และค่าธรรมเนียมอื่น ที่เกี่ยวกับห้างหุ้นส่วนจำกัด และบริษัทจำกัด ในเขตพัฒนาพิเศษฯ ลงกึ่งหนึ่งของอัตราปกติ มาตรการสนับสนุนเงินลงทุนจากกองทุนประกันสังคมที่ฝากไว้กับธนาคารพาณิชย์เพื่อเป็นสินเชื่อผ่อนปรน ให้ผู้ประกอบการที่ขึ้นทะเบียนประกันสังคมและผู้ประกันตนในเขตพัฒนาพิเศษฯ ในวงเงิน 1 พันล้านบาท โดยสำนักงานประกันสังคมได้ดำเนินการร่วมกับธนาคารอิสลามแห่งประเทศไทย ธนาคารกรุงไทย ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย และธนาคารออมสิน เพื่อให้สถานประกอบการกู้ในอัตราดอกเบี้ย 5% ส่วนผู้ประกันตนให้กู้ดอกเบี้ย 6%

มาตรการส่งเสริมการลงทุนเป็นกรณีพิเศษในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ โดยจะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 3 ปี ในสัดส่วนไม่เกิน 100% ของมูลค่าเงินลงทุน ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียนในโครงการใหม่ในพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ส่วนโครงการใหม่ที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งเป็นนิติบุคคลเดิมและใหม่ ซึ่งมีกลุ่มผู้ประกอบการของโครงการเดิมถือหุ้นทั้งสิ้น จะได้รับการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลเป็นเวลา 8 ปี โดยไม่กำหนดสัดส่วนการยกเว้นภาษีเงินได้นิติบุคคลและยังได้รับการยกเว้นอากรขาเข้าเครื่องจักร โดยมูลค่าการลงทุนในโครงการใหม่ต้องไม่น้อยกว่า 1 ล้านบาท ไม่รวมค่าที่ดินและทุนหมุนเวียน


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ