ก.เกษตรฯชี้ตลาดส่งออกหมูแนวโน้มสดใส หลายปท.มั่นใจมาตรฐานการผลิตไทย

ข่าวเศรษฐกิจ Friday January 4, 2013 11:49 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า แนวโน้มการส่งออกหมูในอนาคตน่าจะมีแนวโน้มที่ดีขึ้นเนื่องจากหลายปัจจัย ไม่ว่าจะเป็นประเทศผู้นำเข้ารายใหม่ๆ ที่มีคำสั่งซื้อสุกรทั้งสุกและแปรรูปจากไทย เช่น อินเดีย และสิงค์โปร์ นอกจากประเทศผู้นำเข้ารายเดิมที่ไทยส่งออกอยู่แล้วได้แก่ ฮ่องกง ญี่ปุ่น มาเลเซีย เวียดนาม โดยมูลค่าการส่งออกสุกรของไทยในปี 2555 จากปริมาณการส่งออกสุกรทั้งหมูมีชีวิต หมูสด และแปรรูป จำนวน 3,989 ล้านบาท

ขณะเดียวกัน ภายในเดือนพฤษภาคมนี้พื้นที่ภาคตะวันออกปศุสัตว์เขต 2 ก็น่าจะได้รับการประกาศเป็นพื้นที่ปลอดโรคปากและเท้าเปื่อยตามที่กรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการตามขั้นตอนต่างๆ และทำเรื่องเสนอไปยังองค์การโรคระบาดสัตว์ระหว่างประเทศ (OIE) ก็น่าจะเป็นข่าวดีที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับประเทศคู่ค้าถึงมาตรฐานการผลิตของไทยได้เพิ่มขึ้น และส่งผลต่อยอดการส่งออกในอนาคต รวมถึงการแสดงถึงศักยภาพของไทยในการเป็นผู้นำด้านมาตรฐานการผลิตเมื่อเข้าสู่เออีซีด้วย

สำหรับความคืบหน้าในการแก้ไขปัญหาในเรื่องราคาหมูขณะนี้ คณะกรรมการนโยบายและมาตรการช่วยเหลือเกษตรกร ( คชก.) ได้มีมติอนุมัติวงเงินเพื่อดำเนินโครงการรักษาเสถียรภาพราคาสุกรวงเงิน 61.8 ล้านบาท แบ่งเป็น ค่าใช้จ่ายด้านการขนส่ง และค่าใช้จ่ายในการบริหารโครงการ โดยมีระยะเวลาดำเนินโครงการ 6 เดือน คือ ตั้งแต่เดือนธันวาคม 2555 ถึง เดือนมิถุนายน 2556 โดยจะดำเนินการรับซื้อสุกรจากผู้เลี้ยงสุกรและส่งออกไปยังตลาดในกลุ่มประเทศอาเซียน โดยมีประเทศเป้าหมาย คือ ลาว และกัมพูชา เมื่อราคาสุกรเท่ากับหรือต่ำกว่า 55 บาท/กก. เป้าหมายดำเนินการ 150,000 ตัว เพื่อลดปริมาณหมูในประเทศและส่งผลต่อเสถียรภาพราคาหมูของเกษตรกรให้เพิ่มสูงขึ้น

ทั้งนี้ เพื่อให้การดำเนินงานโครงการดังกล่าวสามารถแก้ไขปัญหาในเรื่องราคาให้แก่เกษตรกรผู้เลี้ยงสุกรอย่างแท้จริงและเป็นไปอย่างมีประสิทธิ์ภาพ ทางคณะกรรมการฯ ได้มอบหมายให้กรมปศุสัตว์ตั้งคณะทำงานและกำหนดหลักเกณฑ์การดำเนินโครงการและรายงานเข้ามายังคณะกรรมการฯ เป็นระยะๆ โดยมีสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตรเป็นผู้ประเมินผลโครงการ ดังนั้น หากราคาสุกรอยู่ที่ 55 บาทหรือต่ำกว่าก็จะใช้เงิน คชก.เข้าไปดำเนินการทันที โดยปัจจุบันราคาสุกรหน้าฟาร์มของเกษตรกรอยู่ที่ 57.90 บาท/กก. ซึ่งต้นทุนการผลิตของเกษตรกรอยู่ที่ 58-59 บาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ