In Focus2556 จีนยังผงาด-อาเซียนแจ้งเกิด โลกฝากความหวังนำพาเศรษฐกิจฟื้น

ข่าวต่างประเทศ Wednesday January 9, 2013 14:23 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ปีมังกรที่เพิ่งผ่านพ้นไปสดๆร้อนๆเพียงหนึ่งสัปดาห์ นับเป็นอีกหนึ่งปีที่บรรดาเจ้าหน้าที่กำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการเงินทั่วโลกต้องเหงื่อตกกับความพยายามในการงัดสารพัดกลวิธี เพื่อทั้งผลัก ทั้งดัน ฉุด กระชาก ลาก ถู จนกระทั่งเศรษฐกิจโลกก้าวข้ามเส้นชัยมาได้

ในบรรดาประเทศเศรษฐกิจหลักๆของโลกนั้น เป็นที่ทราบกันดีว่า ยุโรปเหนื่อยสุดกว่าจะมาถึงจุด finish เพราะมีวิกฤตหนี้คอยฉุดรั้งไว้ตั้งแต่ยังไม่ออกสตาร์ต ขณะที่สหรัฐก็หอบแฮกไม่แพ้กัน เพราะต้องออกแรงสุดกำลังในการหลบหลีกหน้าผา(การคลัง)ที่มากีดขวางทางเมื่อใกล้ถีงเส้นชัย ด้านญี่ปุ่นก็สะบักสะบอม เมื่อเจอกับรั้วลวดหนามอย่างเงินเยนที่แข็งค่ามาเป็นอุปสรรคไม่ให้เศรษฐกิจของประเทศก้าวเดินไปข้างหน้า

เมื่อ “(อดีต)ผู้นำ" อ่อนแรงลงเช่นนี้ เลยกลายเป็นโอกาสให้ “ผู้ตาม" อย่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียได้ก้าวแซงขึ้นมา และเป็นความหวังว่าจะเป็นหลักยึดเกาะให้กับเศรษฐกิจโลกในปี 2556 นี้

ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่กับการพึ่งพาตนเอง

รายงานขององค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ที่เผยแพร่เมื่อไม่นานมานี้ได้คาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชียและแปซิฟิกในปี 2555 จะขยายตัวในอัตรา 5.6% ซึ่งลดลงจากการประเมินก่อนหน้านี้ที่ 6.5% แม้ตัวเลขคาดการณ์ถูกปรับทบทวนลง แต่ก็ยังถือว่าเศรษฐกิจเอเชียทำผลงานได้ดีในปีที่แล้ว เมื่อเปรียบเทียบกับภูมิภาคอื่นของโลก โดยในรายงานการประเมินเศรษฐกิจโลกล่าสุด องค์การความร่วมมือและพัฒนาเศรษฐกิจ (OECD) ได้ปรับลดคาดการณ์เศรษฐกิจยูโรโซนว่า จะหดตัว 0.4% ในปี 2555 จากเดิมที่คาดว่า จะหดตัว 0.1% พร้อมทั้งระบุว่าเศรษฐกิจยูโรโซนจะยังคงล้มลุกคลุกคลานในปีนี้ ด้านเศรษฐกิจสหรัฐ OECD คาดการณ์ว่า จะขยายตัว 2.2% ในปี 2555 ลดลงจากระดับ 2.3% ในการประเมินก่อนหน้านี้

สำหรับในปี 2556 นักเศรษฐศาสตร์โดยทั่วไปยังคงมีมุมมองเชิงบวกว่า เศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวได้อย่างต่อเนื่อง โดยได้รับปัจจัยหนุนจากอุปสงค์ภายในประเทศที่แข็งแกร่ง ซึ่งคาดว่าจะช่วยชดเชยการส่งออกที่อ่อนแอลงได้

โกลด์แมน แซคส์ ได้เผยแพร่รายงานแนวโน้มเศรษฐกิจเอเชียประจำปี 2556 (2013 Asian Economic Outlook) ซึ่งเผยให้เห็นถึงมุมมองบวกเกี่ยวกับแนวโน้มเศรษฐกิจของภูมิภาค (ยกเว้นญี่ปุ่น) ในปีมะเส็งนี้

สถาบันการเงินชั้นนำของสหรัฐคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจเอเชียจะขยายตัวในอัตราเฉลี่ยที่ 6.9% ในปี 2556 และจะขยายเพิ่มขึ้นเป็น 7.3% ในระหว่างปี 2557 ถึง 2559

  • สิงคโปร์ ซึ่งเปิดประเทศสู่โลกภายนอกมากขึ้นนั้น ถือเป็นประเทศที่ได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกอ่อนแออย่างเห็นได้ชัดที่สุดประเทศหนึ่ง เนื่องจากสหภาพยุโรป (อียู) เป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของสิงคโปร์ เป็นรองเพียงประเทศเพื่อนบ้านอย่างมาเลเซียเท่านั้น

ข้อมูลอย่างเป็นทางการเผยให้เห็นว่า การค้าระหว่างสิงคโปร์และอียูมีมูลค่าแตะ 1.06 แสนล้านดอลลาร์สิงคโปร์ (ประมาณ 8.69 หมื่นล้านดอลลาร์สหรัฐ) ในปี 2554 เพิ่มขึ้น 7% อย่างไรก็ตาม สำหรับปี 2555 การส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศยกเว้นน้ำมัน (NODX) ไปยังอียู ร่วงลงถึง 16.5% ในไตรมาส 3 ของปี

จากการส่งออกที่อ่อนแอในไตรมาส 3 องค์การวิสาหกิจระหว่างประเทศของสิงคโปร์ (ไออี) ซึ่งเป็นหน่วยงานส่งเสริมการค้าของสิงคโปร์จึงได้คาดการณ์ว่า การเติบโตของยอดส่งออกสินค้าที่ผลิตในประเทศยกเว้นน้ำมันตลอดปี 2555 จะลดลงจาก 4-5% มาอยู่ที่ 2-3% และคาดว่าการส่งออก NODX ในปีนี้ จะขยายตัว 2-4% ขณะที่การค้าโดยรวมจะขยายตัว 3-4%

กระทรวงการค้าและอุตสาหกรรมของสิงคโปร์เปิดเผยว่า การขยายตัวของเศรษฐกิจสิงคโปร์ยังคงซบเซา โดยผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) โต 1.6% ในไตรมาสแรก, 2.5% ในไตรมาส 2 และขยายตัวเพียง 0.3% ในไตรมาส 3

  • สำหรับอินโดนีเซียนั้น ธนาคารกลางอินโดนีเซียคาดการณ์ว่า เศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวในอัตรา 6.2% ในไตรมาส 4/2555 และคาดว่าทั้งปีจะขยายตัวที่ 6.3% ซึ่งยังคงอยู่ภายในกรอบการคาดการณ์เศรษฐกิจปี 2555 ของธนาคารกลาง

อย่างไรก็ตาม การส่งออกของอินโดนีเซียได้รับผลกระทบจากการชะลอตัวของอุปสงค์ในต่างประเทศเช่นกัน จากข้อมูลที่เปิดเผยโดยสำนักงานสถิติแห่งชาตินั้น การส่งออกของอินโดนีเซียคิดเป็นมูลค่า 1.567 หมื่นล้านดอลลาร์ และยอดนำเข้าอยู่ที่ 1.721 หมื่นล้านดอลลาร์ ส่งผลให้ยอดขาดดุลการค้าเพิ่มขึ้นเป็น 1.55 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งเป็นสถิติการขาดดุลการค้ารายเดือนที่สูงสุดเป็นประวัติการณ์ของอินโดนีเซีย

เวลเลียน วิรันโต นักกลยุทธ์การลงทุนในเอเชียของบาร์เคลย์ ให้สัมภาษณ์กับสำนักข่าวซินหัวว่า อุปสงค์ภายในประเทศเป็นพลังหลักที่ขับเคลื่อนเศรษฐกิจอินโดนีเซียให้เติบโตในปีที่แล้ว และจะยังคงเป็นเช่นนั้นในปีนี้

  • ส่วนประเทศไทยนั้น หลังจากที่เผชิญมหาอุทกภัยในปี 2554 การส่งออกของประเทศก็ค่อยๆฟื้นตัวขึ้นทีละน้อย โดยมูลค่าการส่งออกของไทยในเดือนต.ค.เพิ่มขึ้น 15.57% เมื่อเทียบรายปี เพราะได้แรงหนุนหลักจากการดีดตัวขึ้นของการส่งออกผลิตภัณฑ์การเกษตรและผลิตภัณฑ์แปรรูปทางการเกษตร ตลอดจนสินค้าอุตสาหกรรมหลากหลายประเภท
  • ในส่วนของอินเดีย ผู้เชี่ยวชาญได้เรียกร้องให้มีการ “รีบูท" ประเทศ หลังจากที่อัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของอินเดียถูกปรับทบทวนลงจาก 8-9% เหลือเพียง 5.5% ซึ่งเป็นระดับต่ำสุดนับตั้งแต่ปี 2547 อย่างไรก็ดี นายวิรันโตกล่าวว่าโดยรวมแล้ว เอเชียยังไปได้สวย แม้จะเผชิญสถานการณ์ไม่แน่นอนจากยุโรปและสหรัฐก็ตาม

รองศาสตราจารย์ อัลเบิร์ต หู กว่างโจว จากมหาวิทยาลัยแห่งชาติสิงคโปร์ (NUS) กล่าวว่า ประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียแปซิฟิกได้ใช้มาตรการต่างๆในการรับมือความท้าทายจากภายนอกได้อย่างทันท่วงที โดยมาตรการเชิงรุกเหล่านี้ได้ช่วยกระตุ้นอุปสงค์ภายในประเทศให้ขยายตัวจนสามารถชดเชยรายได้จากการส่งออกที่หดหายไปได้

“ในระยะสั้นนั้น นโยบายเหล่านี้ได้ผลเป็นที่น่าพอใจในหลายประเทศ" นายกว่างโจวกล่าว

  • ในฟิลิปปินส์ การขยายตัวของเศรษฐกิจช่วง 3 ไตรมาสอยู่ที่ระดับ 6.5% โดยในไตรมาส 2 เศรษฐกิจฟิลิปปินส์ขยายตัว 7.4% ซึ่งโตเร็วเป็นอันดับ 2 ในเอเชีย รองจากจีน ส่งผลให้ฟิลิปปินส์คาดการณ์ว่าเศรษฐกิจของประเทศจะขยายตัวมากกว่า 6% ตลอดทั้งปี 2555

จีนกับบทบาทการเป็นผู้นำเศรษฐกิจภูมิภาคและเศรษฐกิจโลก

นักวิเคราะห์หลายรายฟันธงว่า เศรษฐกิจทั้งภูมิภาคเอเชียแปซิฟิกจะฟื้นตัวขึ้นในปีนี้ เมื่อพิจารณาจากข้อมูลเศรษฐกิจล่าสุดของจีน อาทิ ดัชนี PMI เดือนธ.ค. ทั้งภาคการผลิตและภาคบริการที่อยู่ในระดับขยายตัว

ทั้งนี้ หากไม่มีอะไรผิดพลาด นายสี จิ้นผิง และ หลี่ เค่อเฉียง จะก้าวขึ้นดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีและนายกรัฐมนตรีคนต่อไปของจีนอย่างเป็นทางการในเดือนมีนาคม 2556 นี้ ซึ่งนายวิรันโตเชื่อว่า คณะผู้บริหารประเทศชุดใหม่จะมีความชัดเจนและวางแผนนโยบายอย่างมุ่งเน้นมากขึ้น ซึ่งจะช่วยให้จีนประสบความสำเร็จในการปฏิรูปเศรษฐกิจได้ตามเป้าหมาย

เขาคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนในปีนี้จะสูงกว่า 8% “การฟื้นตัวของจีนไม่เพียงแต่ช่วยฟื้นความเชื่อมั่นและปรับปรุงบรรยากาศโดยรวมของตลาดเท่านั้น แต่ยังจะช่วยผลักดันให้เศรษฐกิจของประเทศต่างๆในเอเชียขยายตัวเร็วขึ้น เพราะการค้าระหว่างประเทศเศรษฐกิจเกิดใหม่ในเอเชียจะมีความสำคัญเพิ่มมากขึ้น"

เกลนน์ เลอไวน์ นักเศรษฐศาสตร์อาวุโสของ มูดี้ส์ อนาไลติคส์ ระบุในรายงานฉบับหนึ่งที่เพิ่งได้รับการเผยแพร่เมื่อเร็วๆนี้ว่า จีนจะขับเคลื่อนเอเชียทั้งภูมิภาคให้ก้าวไปข้างหน้า พร้อมกับเสริมว่า หากเศรษฐกิจของจีนขยายตัวดีขึ้น ก็จะผลักดันเศรษฐกิจในภูมิภาคให้เดินหน้าได้อย่างแน่นอน

เลอไวน์เชื่อว่า เศรษฐกิจเอเชียในปี 2556 จะยังคงขยายตัวได้อย่างโดดเด่น จากการใช้จ่ายที่เพิ่มมากขึ้นในโครงการสาธารณูปโภคและโครงสร้างพื้นฐาน และการปฏิรูปเศรษฐกิจอย่างเต็มสูบ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการดึงดูดการลงทุนจากต่างประเทศ

การฟื้นตัวอย่างมั่นคงของเศรษฐกิจจีน การปฏิรูปเชิงโครงสร้างของประเทศในยูโรโซน และความก้าวหน้าของเศรษฐกิจสหรัฐจะช่วยให้ประเทศเกิดใหม่ในเอเชียรักษาระดับการขยายตัวทางเศรษฐกิจเอาไว้ได้ ทั้งในปีนี้และปีต่อๆไป

ธนาคารโลกคาดการณ์ว่า อัตราการขยายตัวของเศรษฐกิจจีนอาจดีดกลับไปแตะที่ระดับ 8.4% ในปี 2556 เนื่องจากสังเกตเห็นว่า บางภาคส่วนได้เริ่มฟื้นตัวแล้วในช่วงเดือนสุดท้ายของปี 2555

รายงานภาวะเศรษฐกิจสำหรับภูมิภาคเอเชียตะวันออกและแปซิฟิกฉบับล่าสุดของธนาคารโลกระบุว่า “สำหรับปี 2556 คาดว่าเศรษฐกิจจีนจะขยายตัว 8.4% เพราะได้รับแรงหนุนจากงบประมาณกระตุ้นเศรษฐกิจและโครงการลงทุนขนาดใหญ่ที่เริ่มดำเนินการเร็วขึ้น"

รายงานดังกล่าวคาดว่า เศรษฐกิจจีนอาจขยายตัว 7.9% ในปี 2555 ลดลง 1.4% จากระดับ 9.3% ในปีก่อนหน้า

ทั้งนี้ เวิลด์แบงก์คาดว่า ประเทศกำลังพัฒนาในภูมิภาคเอเชียตะวันออก ซึ่งรวมถึงจีน จะขยายตัว 5.6% ในปี 2555 เพิ่มขึ้นจากระดับ 4.4% ในปี 2554 และคาดว่าการขยายตัวทางเศรษฐกิจที่แข็งแกร่งในอินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะช่วยผลักดันการขยายตัวของภูมิภาคเพิ่มขึ้นเป็น 5.7% และ 5.8% ในปี 2556 และ 2557 ตามลำดับ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ