ก.เกษตรฯ เชื่อโซนนิ่งพืชศก.หลักช่วยลดต้นทุน-เพิ่มประสิทธิภาพ-สร้างรายได้

ข่าวเศรษฐกิจ Monday February 18, 2013 14:20 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้ประกาศเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ จำแนกตามรายภาค จังหวัด อำเภอ และตำบล โดยสรุปได้ ดังนี้ เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว 76 จังหวัด 809 อำเภอ 5,880 ตำบล, เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกมันสำปะหลัง 49 จังหวัด 448 อำเภอ 2,113 ตำบล, เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกยางพารา 60 จังหวัด 403 อำเภอ 1,703 ตำบล, เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกปาล์มน้ำมัน 26 จังหวัด 185 อำเภอ 856 ตำบล, เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกอ้อยโรงงาน 48 จังหวัด 401 อำเภอ 2,105 ตำบล, เขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ 43 จังหวัด 268 อำเภอ 1,175 ตำบล

ทั้งนี้ ข้อมูลที่ได้ประกาศนี้จะนำไปสู่การพิจารณาหาแนวทางการเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพการผลิตสินค้าเกษตร การรักษาเสถียรภาพด้านราคา และอุปสงค์ อุปทานในอนาคต

นายยุคล กล่าวว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้แปลงยุทธศาสตร์ประเทศ ยุทธศาสตร์ที่ 1 การสร้างความสามารถในการแข่งขันประเทศ กลยุทธ์ การจัดการใช้ที่ดินประเทศ (Zoning) ไปสู่การปฏิบัติ โดยได้ดำเนินการออกประกาศกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เรื่อง การกำหนดเขตเหมาะสมสำหรับการปลูกข้าว มันสำปะหลัง ยางพารา ปาล์มน้ำมัน อ้อยโรงงาน และข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ โดยวิเคราะห์ความเหมาะสมของที่ดิน คุณสมบัติของดิน ร่วมกับความต้องการธาตุอาหารของพืชแต่ละชนิด ตามสภาพที่มีการเพาะปลูกพืช ร่วมกับปัจจัยที่เกี่ยวข้องอื่นๆ อาทิ เขตป่าไม้ตามกฎหมาย เขตพื้นที่โครงการชลประทานประกอบการพิจารณากำหนดเขตเหมาะสม ซึ่งมีวัตถุประสงค์หลักเพื่อใช้เป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาตัดสินใจของผู้เกี่ยวข้องทั้งภาครัฐและภาคเกษตรกรในการพิจารณาสร้างความสามารถในการแข่งขันของแต่ละหน่วยผลิต

โดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์จะนำข้อมูลเขตเหมาะสมที่ประกาศไปวิเคราะห์ สังเคราะห์ ทำความเข้าใจร่วมกับส่วนราชการและภาคเกษตรกรที่เกี่ยวข้องในจังหวัด ให้รับรู้และเข้าใจศักยภาพที่แท้จริงของตนเองและร่วมกันคิดสร้างสรรค์แนวทางการปรับเพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพ หาทางเลือกดำเนินการผลิตที่เหมาะสมกับศักยภาพของภูมิสังคมของตนเองและยกระดับความสามารถในการแข่งขัน โดยมีเจ้าหน้าที่ของรัฐให้ข้อมูลสนับสนุนหรือประสานความร่วมมือในการหาองค์ความรู้ทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี นวัตกรรมใหม่ การปรับเพิ่มผลิตภาพของทรัพยากรดินและน้ำ การกำกับดูแลให้มีการซื้อขายปัจจัยการผลิตที่มีคุณภาพมาตรฐาน การเข้าถึงแหล่งเงินทุนเพื่อการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม การประสานอำนวยความสะดวกทางการตลาด การบริหารตรวจสอบและรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตร อันเป็นส่วนหนึ่งของแนวทางการขับเคลื่อนให้เกษตรกรปรับวิธีคิดเป็น Smart Farmer ไปพร้อมกับการพัฒนาเจ้าหน้าที่ให้เป็น Smart officers และในที่สุดจะนำไปสู่การปฏิรูปภาคการเกษตรของประเทศไทยที่สามารถแข่งขันได้ในอาเซียนและในตลาดโลก

"ประโยชน์สำคัญที่จะได้จากการบริหารจัดการการใช้ที่ดินของประเทศ Zoning จะทำให้เกษตรกรลดต้นทุนจากการทำการเกษตรเนื่องจากปัจจัยการผลิตได้ถูกใช้อย่างมีประสิทธิภาพเหมาะสมกับความต้องการของพืชแต่ละชนิด ผลผลิตมีปริมาณและคุณภาพเพิ่มมากขึ้น ซึ่งจะทำให้มีรายได้สุทธิจากการจำหน่ายผลผลิตเพิ่มขึ้น เช่น ในพื้นที่ที่มีความเหมาะสมประสิทธิภาพการผลิตข้าวอยู่ที่ 715 กิโลกรัมต่อไร่ (ณ ความชื้นร้อยละ 14) ซึ่งในพื้นที่เช่นนี้การจะปรับเพิ่มปริมาณ คุณภาพและมาตรฐาน จะทำได้ด้วยต้นทุนที่ต่ำกว่าพื้นที่ที่ไม่เหมาะสม เป็นต้น" รมว.เกษตรฯ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ