ผู้ว่าธปท.รับมีการเก็งกำไรอสังหาฯบางพื้นที่แต่ไม่ใช่ทั้งระบบ ยังติดตามใกล้ชิด

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday February 21, 2013 11:24 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายประสาร ไตรรัตน์วรกุล ผู้ว่าการ ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวถึงประเด็นที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน (กนง.) เมื่อวันที่ 20 ก.พ.แสดงความเป็นห่วงถึงราคาสินทรัพย์บางประเภทที่เร่งตัวสูงขึ้นเร็วผิดปกติ จนเกรงว่าจะเกิดภาวะฟองสบู่ว่า ยอมรับขณะนี้มีราคาสินทรัพย์ เช่น หุ้น และอสังหาริมทรัพย์ในบางพื้นที่ปรับตัวสูงขึ้นจริง จึงเป็นสาเหตุให้กนง.ตัดสินใจไม่ลดดอกเบี้ย และคงไว้ที่ 2.75% ตามเดิม แต่ธปท.ยังคงระดับเฝ้าติดตามอย่างใกล้ชิด

สำหรับราคาอสังหาฯ ที่เพิ่มสูงขึ้นนั้น หากเทียบกับราคาอสังหาฯโดยรวมกับประเทศเพื่อนบ้าน ถือว่ายังอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกัน ไม่ได้สูงกว่ากันมากนัก ยกเว้นในบางจังหวัดเช่น ขอนแก่น หรือจังหวัดที่มีการเชื่อมต่อกับภูมิภาค หรือมีการลงทุนโครงการรถไฟความเร็วสูง ถนน และในแถบเขาใหญ่ที่ราคาแพงขึ้นเป็นพิเศษจากการเก็งกำไร เพราะคนมักมีบ้านหรือไปพักผ่อนตามกระแสความนิยม รวมถึงบางพื้นที่ของกทม.ที่อยู่ในทำเลรถไฟฟ้า เป็นต้น แต่ยืนยันยังไม่เป็นปรากฎการณ์ทั้งระบบ

ในส่วนของราคาหุ้นที่สูงขึ้นโดยเฉพาะหุ้นขนาดกลางและขนาดเล็กนั้น ส่วนใหญ่เป็นผลจากนักลงทุนรายย่อยในประเทศเล่นเอง ทำให้ P/E โดดขึ้นไป ขณะที่นักลงทุนต่างชาติจะเล่นหุ้นขนาดใหญ่ SET 50, SET100 ซึ่งตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย และคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์(ก.ล.ต.) ทำหน้าที่กำกับดูแลอยู่

นายประสาร กล่าวว่า ราคาสินทรัพย์ที่สูงขึ้นเป็นผลจากผลตอบแทนอัตราดอกเบี้ยเงินฝากอยู่ในระดับต่ำ จึงเป็นธรรมชาติของนักลงทุนที่จะหันมาลงทุนในสินทรัพย์ที่ให้ผลตอบแทนสุงกว่าเงินฝาก เช่น หุ้นและตราสารหนี้ โดยตั้งแต่ต้นปีถึงปัจจุบันมีเงินไหลเข้ารวมกว่า 2 พันล้านดอลลาร์ ส่วนใหญ่เข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้

โดยในช่วงต้นเดือนม.ค.56 มีสัดส่วนเข้ามาลงทุนในตราสารหนี้ระยะสั้นเป็นหลัก เนื่องจาก Fund Manager ปรับพอร์ต แต่เมื่อเข้าสู่เดือนก.พ.ก็มีการลงทุนในตราสารหนี้ระยะยาว ในสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นทั้งประเภท 1 ปี และ 5 ปี

"เงินทุนที่ไหลเข้า ตั้งแต่ต้นม.ค. - ปัจจุบันถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปีก่อน แต่สาเหตุที่เงินบาทแข็งค่ากว่าช่วงเดียวของปีก่อนนั้น เป็นเรื่องของจำนวนและราคาที่ไม่สัมพันธ์กัน เพราะค่าเงินบาทของไทยในช่วงปีที่ผานมาแข็งค่าน้อยกว่าเมื่อเทียบกับเงินสกุลอื่น เนื่องจากได้รับผลกระทบจากน้ำท่วม แต่พอเข้าสู่ต้นปี 56 ค่าเงินก็ catch up จนเข้าที่ โดยในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมาเงินบาททรงตัว หรือเคลื่อนไหวอยู่ในกรอบแคบๆ" ผู้ว่าธปท. กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ