(เพิ่มเติม) "กิตติรัตน์"เผยครม.เศรษฐกิจเห็นพ้องไม่จำเป็นต้องออกมาตรการพิเศษดูแลบาท

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday March 20, 2013 15:06 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าวว่า ที่ประชุมคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ(ครม.เศรษฐกิจ)เห็นพ้องว่าขณะนี้ยังไม่มีความจำเป็นต้องมีมาตรการพิเศษมาแก้ไขปัญหาเงินบาทแข็งค่า และไม่ต้องการให้ใช้มาตรการที่ผิดธรรมชาติเหมือนในอดีต เพราะจะส่งผลเสียในระยะยาว โดยเห็นว่าควรจะปล่อยให้เงินบาทเคลื่อนไหวตามกลไกตลาดไปก่อน แล้วคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด หากแข็งขึ้นมากกว่านี้ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะหารือกันอีกครั้ง

ทั้งนี้ มองว่าการที่เงินบาทแข็งค่าขึ้นนั้น เป็นเพราะนักลงทุนต่างชาติมีความมั่นใจที่จะเข้ามาลงทุน หลังจากรับทราบข้อมูลที่บริษัทจัดอันดับความน่าเชื่อถือได้ปรับอันดับให้ไทยเพิ่มขึ้น รวมทั้งผลประกอบการของบริษัทในตลาดหุ้นที่เพิ่มขึ้น เศรษฐกิจโดยรวมเติบโตได้ดี จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้นักลงทุนเข้ามาลงทุน

สำหรับความจำเป็นที่จะมีมาตรการในการควบคุมเงินบาทนั้น นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า จริงๆ ก็มีความจำเป็น แต่ต้องลองมองย้อนดูในอดีตว่ามาตรการที่ผิดธรรมชาติจะเกิดผลเสียมากกว่าผลดี เพราะผลดีจะเกิดในระยะสั้นๆ แต่จะเกิดผลเสียถาวร คือ นักลงทุนขาดความเชื่อมั่นว่ารัฐบาลจะออกมาตรการอะไรมาอีก

อย่างไรก็ดี เชื่อว่าประเทศไทยได้ก้าวมาถึงจุดที่การใช้มาตรการเป็นที่ยอมรับของทั่วโลก เช่น การกำหนดกรอบนโยบายการคลังว่าจะมีการขาดดุล สมดุล หรือเกินดุลอย่างไร หรือการกำหนดอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ส่วนกลไกที่จะประกาศใช้บังคับเพื่อมีผลให้เงินทุนไหลเข้าหรือไหลออกนั้นประเทศไทยคงจะไม่ทำแน่นอน

ส่วนสภาวะที่ตลาดหุ้นร่วงอันเนื่องจากความกังวลปัญหาเงินบาทแข็งค่านั้น รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง กล่าวว่า ตลาดหุ้นค่อนข้างอ่อนไหว บางครั้งก็คาดการณ์ล่วงหน้าได้ดี แต่บางครั้งก็คิดกันไปเอง ซึ่งต้องให้กลไกตลาดทำงานต่อไป

"เรายืนยันว่าเราไม่มีแนวคิดที่จะมีมาตรการที่ฝืนธรรมชาติ แต่ถ้าเป็นมาตรการที่เป็นไปตามสิทธิหน้าที่ เช่น มาตรการการคลัง แผนการลงทุน หรือแนวทางการกำหนดดอกเบี้ยนโยบายของ กนง. สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องปกติที่ไม่ฝืนธรรมชาติ ก็ต้องมีการดำเนินการต่อไป" นายกิตติรัตน์ กล่าว

พร้อมระบุว่า การปรับเปลี่ยนนโยบายทางการเงินเป็นเรื่องที่คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)จะพิจารณา และคงไม่มีใครเข้าไปแทรกแซงได้ แต่การแลกเปลี่ยนทางความคิดเห็นนั้นยังเป็นสิ่งที่ต้องทำอยู่โดยตลอด ซึ่งเป้าหมายสำคัญคือทำให้อัตราแลกเปลี่ยนมีเสถียรภาพ และเป็นไปตามกลไกตลาด

นายกิตติรัตน์ ยังกล่าวอีกว่า ที่ประชุมครม.เศรษฐกิจเห็นว่า เศรษฐกิจไทยในช่วงต้นปีนี้ยังมีการขยายตัวในด้านต่างๆ อยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่รายรับของรัฐบาลที่มาจากการจัดเก็บภาษีก็ยังเป็นไปตามเป้าหมาย แม้ในเดือน พ.ค.นี้ จะมีการปรับอัตราการชำระภาษีนิติบุคคลในอัตราใหม่ คือ ลดลงมาเหลือ 23% ก็ยังมั่นใจว่ารัฐบาลยังสามารถจัดเก็บรายได้ได้เป็นไปตามเป้าหมาย

ขณะเดียวกันทุกฝ่ายในที่ประชุมเห็นตรงกันในเรื่องการบริหารเศรษฐกิจที่จะทำให้เกิดการขยายตัวที่ดีและอย่างยั่งยืน โดยจะดูแลปัจจัยเศรษฐกิจต่างๆ ให้มีเสถียรภาพ ทั้งอัตราแลกเปลี่ยน อัตราดอกเบี้ย รวมทั้งการไหลเวียนของเงินฝากต่างๆ ด้วย นอกจากนี้ ในส่วนของการกระจายรายได้ก็จะช่วยดูแลผู้ที่มีรายได้น้อยกว่าให้มีโอกาสมีรายได้ที่เพิ่มขึ้น

นายกิตติรัตน์ กล่าวว่า หากมีการดำเนินการโดยยึดหลัก 3 แนวทาง คือ ความมีเสถียรภาพ, การกระจายรายได้ และการปรับปรุงประสิทธิภาพ ก็จะทำให้เศรษฐกิจขยายตัวได้อย่างยั่งยืนและมีประสิทธิภาพ ทั้งนี้จะไม่มีการพยายามใช้มาตรการใดๆ มากระตุ้นให้เกิดการขยายตัวเพียงชั่วคราวหรือเป็นพิเศษ ดังนั้นกระทรวงการคลัง, ธนาคารแห่งประเทศไทย และสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ(สศช.) จะนำแนวทางทั้ง 3 ด้านที่กล่าวมาไปทบทวนนโยบายต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง

"ยังไม่มีการสรุปว่าจะต้องเป็นอะไร หน่วยงานที่รับผิดชอบก็ดูแลกันต่อไปภายใต้หลักการเดิม ทั้งนี้เห็นตรงกันว่าการจะไปมีมาตรการอะไรที่ผิดธรรมชาติ เช่น ไปทำให้อัตราดอกเบี้ยต่ำเกินไปหรือสูงเกินไป มองว่าเป็นเรื่องไม่ถูกต้อง ซึ่งเราเองก็ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนที่เป็นไปตามกลไกตลาดอยู่แล้ว ไม่มีแนวโน้มนโยบายที่ไปกำหนดอัตราอะไรขึ้นมาที่มันไม่เป็นไปตามกลไก" รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง กล่าว

นอกจากนี้ กระทรวงการคลังก็มีแผนจะชำระคืนเงินกู้ก่อนกำหนดตามที่ ครม.อนุมัติไว้ รวมทั้งความชัดเจนในการลงทุนระบบบริหารจัดการน้ำแบบบูรณาการ และการที่ครม.มีมติเสนอร่าง พ.ร.บ.กู้เงินฯ ซึ่งเป็นโครงการในระยะยาวก็จะมีการนำเข้าสินค้าและเทคโนโลยีต่างๆ จึงไม่เป็นเรื่องที่ซ้ำเติมให้เงินบาทแข็งค่าขึ้น รวมถึงแหล่งเงินที่จะนำมาใช้จะมาจากในประเทศเป็นส่วนใหญ่ ซึ่งการดำเนินการหลายสิ่งควบคู่กันไปนี้จะทำให้กลไกของอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนเกิดประสิทธิภาพได้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ