(เพิ่มเติม) ก.เกษตรฯ ยันไม่พบเชื้อ H7N9 ในไทยสั่งกรมปศุสัตว์เฝ้าระวังพื้นที่เสี่ยง

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday April 3, 2013 13:11 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า กระทรวงเกษตรฯ ได้กำชับให้กรมปศุสัตว์เข้มงวดมาตรการการป้องกันและเฝ้าระวังโรค รวมถึงติดตามสถานการณ์การพบโรคไข้หวัดนกชนิด H7N9 ในประเทศต่างๆ อย่างใกล้ชิด โดยเฉพาะเมื่อมีกระแสข่าวพบการระบาดในประเทศเพื่อนบ้าน ทางกรมปศุสัตว์ได้เพิ่มความเข้มงวดการเคลื่อนย้ายสัตว์ปีกบริเวณชายแดน เพราะเป็นพื้นที่ที่มีความเสี่ยงที่จะอาจจะมีการพบเชื้อปะปนมาจากการค้าขายบริเวณชายแดนได้ และในช่วงเดือนเมษายนนี้ทางกรมปศุสัตว์จะฉีดพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในฟาร์มเลี้ยงสัตว์ปีกกว่า 1.3 ล้านแห่งทั่วประเทศด้วย

ด้านนายทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าวถึงสถานการณ์ของโรคไข้หวัดนกชนิดรุนแรงในสัตว์ปีกปี 56 ว่า ขณะนี้พบรายงานการระบาดในประเทศบังคลาเทศ เม็กซิโก เนปาล อียิปต์ ภูฏาน อินเดีย อินโดนีเซีย จีน และกัมพูชา โดยประเทศล่าสุดที่มีรายงานการพบการระบาดในช่วงเดือนมีนาคม 56 คือประเทศ อินเดีย กัมพูชา และ เม็กซิโก

"ยืนยันว่ายังไม่เคยมีรายงานการติดเชื้อ H7N9 ในมนุษย์ และไม่เคยพบเชื้อในไทยทั้งในคนและในสัตว์....ในประเทศไทยแทบไม่มีโอกาสเกิดเชื้อเพราะเราไม่ได้นำเข้าสัตว์ปีกจากที่อื่น และประเทศไทยเป็นเมืองร้อนเชื้อโรคเติบโตได้ยาก"นายทฤษดี กล่าว

มาตรการที่กำลังดำเนินการอยู่ในขณะนี้กรมปศุสัตว์ได้ร่วมกับกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่าและพันธุ์พืช เข้าตรวจสอบและเก็บตัวอย่างอุจจาระและซากของนกอพยพ และนกธรรมชาติในแหล่งที่นกอาศัยอยู่ทั่วประเทศ หากพบว่ามีนกตายผิดปกติ หรือพบเชื้อโรคไข้หวัดนกให้เข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที และได้สั่งการให้ด่านกักสัตว์ตามแนวชายแดนทุกด่านร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทั้งทหาร ตำรวจ ศุลกากร เข้มงวดตรวจสอบบุคคลเข้าออกต้องไม่มีการนำสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกเข้ามาในประเทศ พร้อมทั้งพ่นน้ำยาฆ่าเชื้อโรคยานพาหนะเข้า-ออก ทั้งรถยนต์ รถจักรยานยนต์ เรือ รถเข็น ตลอดจนบุคคลที่เดินเท้าเข้ามา หากพบการกระทำผิดจะจับกุมดำเนินคดีและทำลายสัตว์ปีกหรือซากสัตว์ปีกทันที และประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ประชาชนบริเวณแนวชายแดน ตลอดจนผู้ที่เดินทางเข้า-ออกประเทศให้ระมัดระวังป้องกันโรคไข้หวัดนก

ที่ผ่านมากรมปศุสัตว์ได้ดำเนินการเฝ้าระวังและป้องกันโรคไข้หวัดนกอย่างต่อเนื่องและเข้มงวดอยู่แล้ว อาทิ การรณรงค์ค้นหาโรคไข้หวัดนกแบบบูรณาการปีละ 2 ครั้ง ในเดือนมกราคม และกรกฎาคม การทำความสะอาดและพ่นยาฆ่าเชื้อโรคในพื้นที่เสี่ยงปีละ 4 ครั้ง โดยเน้นพื้นที่ที่มีสัตว์ปีกป่วยตาย พื้นที่ที่มีนกอพยพ นกธรรมชาติอาศัยอยู่ พื้นที่ตามแนวชายแดน โรงฆ่าสัตว์ปีก เป็นต้น ควบคุมเคลื่อนย้ายสัตว์ปีก และซากสัตว์ปีกระหว่างจังหวัดและระหว่างโซน ซึ่งปัจจุบันมีการแบ่งพื้นที่การควบคุมเป็น 5 โซน มีจุดตรวจสอบการเคลื่อนย้ายระหว่างโซน 32 จุด พัฒนาการเลี้ยงสัตว์ปีกในรูปแบบฟาร์มปิดและฟาร์มมาตรฐาน ฟาร์มคอมพาร์ทเมนต์ เป็นต้น

"เรามั่นใจว่ามาตรการที่ 4 กระทรวงคือ กระทรวงเกษตรฯ กระทรวงสาธารณสุข กระทรวงทรัพยากรและสิ่งแวดล้อม และกระทรวงมหาดไทยทำมาตั้งแต่ต้น ไม่ว่าจะเป็นการเฝ้าระวังพื้นที่สุ่มเสี่ยง พื้นที่ที่เคยพบสัตว์ปีกตาย พื้นที่ที่มีนกอพยพ หรือแม้แต่ตามแนวตะเข็บชายแดน มาถูกทางแล้ว และจะทำต่อไปอย่างเต็มที่"อธิบดีกรมปศุสัตว์ กล่าว

และจากมาตรการดังกล่าวทำให้ประเทศไทยสามารถส่งออกเนื้อไก่และผลิตภัณฑ์ไปยังต่างประเทศ ในปี 2555 มีปริมาณทั้งหมด 552,117 ตัน มูลค่า 70,852 ล้านบาท แบ่งเป็น เนื้อไก่ดิบปริมาณ 89,353 ตัน มูลค่า 6,483 ล้านบาท ผลิตภัณฑ์เนื้อไก่แปรรูปปรุงสุกปริมาณ 462,764 ตัน มูลค่า 64,369 ล้านบาท โดยมีตลาดส่งออกที่สำคัญของสินค้าเนื้อไก่ดิบเช่น สหภาพยุโรป รัสเซีย เวียดนาม แอฟริกาใต้ ยูเออี เป็นต้น ส่วนผลิตภัณฑ์เนื้อสัตว์ปีกแปรรูป มีตลาดส่งออกที่สำคัญคือ สหภาพยุโรป ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ แคนาดา รัสเซีย เป็นต้น

สำหรับแนวโน้มการส่งออกเนื้อไก่ดิบของประเทศไทยคาดว่าจะเพิ่มขึ้น เนื่องจากมีหน่วยงานจากต่างประเทศเดินทางมาตรวจประเมินระบบการควบคุมการสัตว์ปีกของประเทศไทย เพื่อจะได้อนุญาตให้นำเข้าเนื้อสัตว์ปีกสดได้อีกครั้ง อาทิ ประเทศเกาหลีใต้ และประเทศญี่ปุ่น โดยผลการตรวจประเมินฯ ค่อนข้างเป็นไปในทิศทางที่ดี เจ้าหน้าที่ผู้ตรวจประเมินแจ้งว่ามีความพอใจในระบบการควบคุมของประเทศไทยว่ามีมาตรฐานที่ดีมาก นอกจากนี้ประเทศไทยอยู่ระหว่างรอผลการพิจารณาอนุญาตให้ส่งออกสินค้าเนื้อไก่ดิบไปยังประเทศสิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ คาดว่าประเทศไทยจะสามารถส่งออกสินค้าเนื้อสัตว์ปีกดิบไปยังประเทศเกาหลีใต้ ญี่ปุ่น สิงคโปร์ และฟิลิปปินส์ได้ประมาณช่วงกลางปี 2556 ซึ่งจะสามารถส่งออกเนื้อสัตว์ปีกดิบได้เพิ่มขึ้นอีกประมาณ 100,000 ตัน มูลค่า 9,000 ล้านบาท


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ