ส.อ.ท.พบนายกฯจี้คลัง-ธปท.ร่วมหามาตรการแก้บาท ห่วงทุนไหลเข้า-บาทแข็งต่อหลัง ECB ลดดบ.

ข่าวเศรษฐกิจ Friday May 3, 2013 12:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า วันนี้ ส.อ.ท.ได้นำเสนอปัญหาเงินบาทแข็งค่าที่ส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมและภาคการส่งออก ซึ่ง ส.อ.ท.ได้เห็นสัญญาณการเข้ามาแสวงหาประโยชน์จากค่าเงินในประเทศทั้งในเรื่องอัตราดอกเบี้ยและอัตราแลกเปลี่ยนตั้งแต่ช่วงต้นปี และพบว่าเริ่มหนักขึ้นเรื่อยๆ ตลอดช่วง 4 เดือนที่ผ่านมา ขณะที่การดำเนินมาตรการต่างๆ ในการแก้ไขยังไม่มีความชัดเจนและไม่รองรับกับการเปลี่ยนแปลงของภาวะเศรษฐกิจโลก จึงส่งผลกระทบต่อ supply chain และผู้ประกอบการ SMEs

ดังนั้นสิ่งที่ ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ ขอให้นายกรัฐมนตรีใช้การบริหารสถานการณ์ทางการเงินของประเทศโดยคำนึงว่าขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงิน โดยขอให้เข้ามาช่วยดูแลทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนไหลเข้าอย่างผสมผสานกัน พร้อมกับขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกระทรวงการคลังมีการทำงานที่สอดประสานกันมากขึ้น

"ยุโรปก็ทำเงินให้อ่อน มีเงินเข้าสู่ระบบ ในภูมิภาคใหญ่ๆ ก็เริ่มมีการปรับตัว ประเทศไทยก็ควรจะบริหารจัดการการเงินในภาวะวิกฤติได้แล้ว" ประธาน ส.อ.ท.ระบุ

พร้อมยืนยันว่าต้องการให้คณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.)ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงในคราวเดียว 1% แต่หากไม่สามารถทำได้เพราะเกรงผลกระทบรุนแรงก็อาจปรับลดลงบางส่วน และใช้มาตรการควบคู่กับมาตรการภาษีของกระทรวงการคลัง เพื่อให้เป็นยาแรงในการสกัดกั้นการเก็งกำไรของนักลงทุนต่างชาติ เพราะขณะนี้แนวโน้มค่าเงินบาทจะกลับมาแข็งค่าได้อีก แม้ในช่วงนี้เงินบาทจะเริ่มปรับตัวอ่อนค่าลงบ้างแล้ว แต่แนวโน้มเงินบาทมีโอกาสจะกลับมาแข็งค่าได้อีก หลังจากที่ธนาคารกลางยุโรป(ECB) ปรับลดอัตราดอกเบี้ยลง 0.25% ซึ่งจะส่งผลให้เงินยูโรอ่อนค่าลงไปอีก และจะทำให้เม็ดเงินลงทุนไหลเข้ามาในเอเชียมากขึ้น ทำให้ค่าเงินของประเทศในเอเชียแข็งค่าขึ้นอีกได้ ดังนั้นสิ่งที่ภาคเอกชนต้องการคือขอให้ช่วยดูแลค่าเงินบาทเคลื่อนไหวเกาะกลุ่มกับสกุลเงินในภูมิภาคและมีเสถียรภาพ

ทั้งนี้ ตั้งแต่ต้นปี 56 เงินบาทแข็งค่าขึ้น 6.28% ขณะที่คู่ค้าและคู่แข็งมีค่าเงินสวนทางกับไทย โดยเฉพาะค่าเงินเยนญี่ปุ่น และค่าเงินวอนของเกาหลีที่อ่อนค่าลง

ประธาน ส.อ.ท. กล่าวว่า หากค่าเงินบาทแข็งค่าอยู่เฉลี่ยอยู่ในระดับ 29 บาท/ดอลลาร์สหรัฐ จะส่งผลให้การส่งออกของไทยในปีนี้ขยายตัวเพียง 4-4.5% เท่านั้น จากเป้าหมายที่กระทรวงพาณิชย์ตั้งไว้ที่ 8-9% โดยจะเห็นผลกระทบชัดเจนต่อการส่งออกของไทยในช่วงไตรมาสที่ 2-3 ของปีนี้ เนื่องจากผู้ส่งออกไม่สามารถกำหนดราคาจำหน่ายสินค้าได้อย่างชัดเจน เนื่องจากเงินบาทมีความผันผวน

ดังนั้นจึงต้องการเห็นการทำงานร่วมกันระหว่างกระทรวงการคลัง และธนาคารแห่งประเทศที่มีการประสาน ซึ่งได้ขอให้นายกรัฐมนตรีเป็นผู้สร้างการบูรณาการการทำงานให้เกิดขึ้นดังนั้นสิ่งที่ ส.อ.ท.ต้องการให้รัฐบาลเร่งดำเนินการ คือ ขอให้นายกรัฐมนตรีใช้การบริหารสถานการณ์ทางการเงินของประเทศโดยคำนึงว่าขณะนี้ประเทศกำลังเผชิญกับปัญหาทางการเงิน โดยขอให้เข้ามาช่วยดูแลทั้งเรื่องอัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยน และเงินทุนไหลเข้าอย่างผสมผสานกัน

พร้อมกับขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย(ธปท.) และกระทรวงการคลังมีการทำงานที่สอดประสานกันมากขึ้น และต้องการให้มีการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน หรือ กนง.นัดพิเศษ จากเดิมที่เคยประชุม 6-8 สัปดาห์ต่อครั้ง เพื่อติดตามสถานการณ์ทางเศรษฐกิจโลกอย่างใกล้ชิด เพราะมองว่าปัจจุบันภาวะเศรษฐกิจมีความผันผวนและไม่เป็นปกติ จึงควรใช้มาตรการแบบวิกฤติเข้ามาดูแล

"ยุโรปก็ทำเงินให้อ่อน มีเงินเข้าสู่ระบบ ในภูมิภาคใหญ่ๆ ก็เริ่มมีการปรับตัว ประเทศไทยก็ควรจะบริหารจัดการการเงินในภาวะวิกฤติได้แล้ว" ประธาน ส.อ.ท.กล่าว

พร้อมระบุว่า จะใช้เวลา 1-2 สัปดาห์ในการพิจารณาผลกระทบจากการลดดอกเบี้ยของธนาคารกลางยุโรป และท่าทีในการแก้ไขปัญหาค่าเงินบาทของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งหากยังไม่มีความคืบหน้าจะขอหารือกับสมาชิกส.อ.ท.อีกครั้ง เพื่อกำหนดความเคลื่อนไหวต่อไป

นายพยุงศักดิ์ ระบุว่า แม้เงินบาทจะเริ่มอ่อนค่าลงบ้างแล้ว แต่จากความผันผวนของค่าเงินในช่วงที่ผ่านมาได้ก่อให้เกิดผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรมหลายส่วน เช่น อุตสาหกรรมยานยนต์ และอุตสาหกรมสิ่งทอ ที่เริ่มหันไปนำเข้าสินค้าที่เป็นชิ้นส่วนและวัตถุดิบจากต่างประเทศเพื่อลดต้นทุนการผลิตบ้างแล้ว ซึ่งหากปล่อยให้เป็นเช่นนี้จะกระทบต่ออุตสาหกรรม supply chain ของไทยเอง ดังนั้นผู้ประกอบการต้องการเห็นค่าเงินบาทอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงกับคู่แข่ง และดูแลไม่ให้ผันผวนมากไปกว่านี้ เพราะภาคเอกชนในขณะนี้ไม่สามารถจะรับมือได้แล้ว

ด้านน.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรี กล่าววว่า จะนำข้อกังวลเหล่านี้ส่งต่อไปยังนายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรี และรมว.คลัง และส่งต่อไปยัง ธปท. โดยผ่านคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) โดยยืนยันว่าจะเร่งติดตามและหามาตรการที่จะช่วยเหลือผู้ประกอบการต่อไป ซึ่งปัจจุบันรัฐบาลได้พยายามใช้เงินบาทเพื่อการลงทุนในประเทศให้มากที่สุด เช่น โครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาท เป็นต้น

ส่วนอัตราแลกเปลี่ยนที่ยังมีความผันผวนอยู่ในขณะนี้ นายกรัฐมนตรี ยอมรับว่ามีความกังวลใจ เพราะรัฐบาลต้องการเห็นการเข้ามาลงทุนใน Real Sector แต่ส่วนใหญ่กลับเป็นการเข้ามาลงทุนในตลาดตราสารหนี้ ซึ่งไม่ได้มีส่วนช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจเท่าที่ควร ดังนั้นจะนำความกังวลต่างๆ นี้ไปหารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ