ก.เกษตรฯร่วมมือ FAO พัฒนาระบบมาตรฐานความปลอดภัยโคเนื้อ

ข่าวเศรษฐกิจ Wednesday May 15, 2013 15:52 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายยุคล ลิ้มแหลมทอง รองนายกรัฐมนตรี และ รมว.เกษตรและสหกรณ์ เป็นประธานการลงนามระหว่าง นายสัตวแพทย์ทฤษดี ชาวสวนเจริญ อธิบดีกรมปศุสัตว์ นายอภิชาต จงสกุล เลขาธิการสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร และ นายฮิโรยูกิ โคนูมะ ผู้แทนของสำนักงาน เอฟ เอ โอ ประจำภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค ในการจัดทำกรอบการดำเนินงานใหม่โดยใช้ชื่อว่า Country Programming Framework (CPF) เพื่อเป็นพื้นฐานของความร่วมมือระหว่างกันสำหรับปี 2555-2559 เนื่องจากกรอบการดำเนินงานภายใต้กรอบ NMTPF (National Medium Term Priority Framework ) ปี 2550-2554 ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ เอฟ เอ โอ ได้สิ้นสุดลงแล้ว

ซึ่งแนวทางการดำเนินงานดังกล่าวจะสอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 11 กรอบงานพันธมิตรแห่งสหประชาชาติ (the United Nations Partnership Framework (UNPAF) สำหรับปี 2555-2559 และเป้าหมายการพัฒนาแห่งสหัสวรรษ (Millennium Development Goals หรือ MDGs) โดยการลงนามความร่วมมือในครั้งนี้ เป็นการเปิดตัว 2 โครงการแรก ภายใต้กรอบความร่วมมือระดับประเทศ (Country Programming Framework: CPF) ระหว่างกระทรวงเกษตรฯ และ เอฟ เอ โอ คือ โครงการ: Enhancement of Beef Productivity through Animal Identification and Traceability ของกรมปศุสัตว์ และโครงการ National Agro-Economic Zoning for Major Crops in Thailand ของสำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร

ทั้งนี้ กระทรวงเกษตรฯ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความปลอดภัยด้านอาหาร (food safety) ของผู้บริโภค โครงการ" Enhancement of Beef Productivity through Animal Identification and Traceability" โดยกรมปศุสัตว์ จึงถูกนำเสนอและได้รับการช่วยเหลือให้งบประมาณเพื่อศึกษาและจัดทำระบบตรวจสอบย้อนกลับในการผลิตผลิตภัณฑ์โคขึ้นมา วัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมให้มีการเลี้ยงโคเนื้อที่มีคุณภาพทั้งด้านสุขภาพ คุณลักษณะที่ดี และสามารถตรวจสอบได้ในทุกขั้นตอนของการเลี้ยงและการผลิต ซึ่งจะทำให้มาตรฐานปศุสัตว์ไทยได้รับการพัฒนาและเป็นที่ยอมรับในความปลอดภัยต่อผู้บริโภค จนสามารถส่งออกสู่ตลาดต่างประเทศ ตามวิสัยทัศน์ของกรมปศุสัตว์ “เป็นองค์กรนำการปศุสัตว์ไทยสู่ตลาดโลก"

สำหรับโครงการ “National agro-economic Zoning for Major Crops in Thailand" ของ สำนักงานเศรษฐกิจการเกษตร จะช่วยสนับสนุนนโยบายของกระทรวงเกษตรฯ ในการจัดทำเขตการใช้พื้นที่ดินเพื่อการเกษตร หรือโซนนิ่ง เนื่องจากประเทศไทยแม้จะมีข้อมูลเกี่ยวกับทรัพยากรดินและการใช้พื้นดินมีอยู่มาก แต่ยังมีการจัดชุดข้อมูลในรูปแบบที่แตกต่างกันและเข้าถึงได้ยาก ดังนั้น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องมีการสร้างมาตรฐานของชุดข้อมูลผ่านเว็บท่า (Web portal) กลาง เพื่อให้หน่วยงานต่างๆ สามารถเข้าถึงข้อมูลภาคการเกษตรได้ รวมทั้งสามารถนำมาจัดทำการแบ่งเขตเกษตรเศรษฐกิจพืชหลักของประเทศไทยได้ง่ายขึ้น ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการที่รัฐบาลสามารถนำไปใช้ในด้านวางแผนและกำหนดนโยบายด้านการผลิตสินค้าหลักของประเทศไทย ส่งเสริมการวางแผนการใช้พื้นที่ดินอย่างเหมาะสม รวมถึงการจัดการด้านทรัพยากรธรรมชาติอย่างยั่งยืน

"การลงนามทั้งสองโครงการในวันนี้ จะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งต่อเกษตรกรและผู้บริโภค ทั้งการ สร้างมาตรฐานปศุสัตว์ไทยให้ได้รับการพัฒนา และเป็นที่ยอมรับในความปลอดภัยต่อผู้บริโภคทั้งในประเทศและต่างประเทศ และการพัฒนาชุดข้อมูลเว็บท่าเพื่อจัดทำการแบ่งเขตการใช้พื้นที่ดินเพื่อการเกษตรของไทยอย่างเหมาะสม" นายยุคล กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ