ส.อ.ท.เร่งประเมินความเสียหายไฟดับ 14 จ.ใต้/ชงแผนความมั่นคงไฟฟ้าต่อรมว.พลังงาน

ข่าวเศรษฐกิจ Monday May 27, 2013 16:46 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายพยุงศักดิ์ ชาติสุทธิผล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย(ส.อ.ท.) เปิดเผยว่า ขณะนี้สภาอุตสาหกรรมภาคใต้กำลังอยู่ระหว่างการสำรวจและรวบรวมความเสียหายที่เกิดขึ้นกับภาคธุรกิจรวมถึงผลกระทบต่อความเชื่อมั่นของผู้ประกอบการ หลังจากที่เกิดปัญหาไฟฟ้าดับเป็นวงกว้างครอบคลุมพื้นที่ 14 จังหวัดภาคใต้เมื่อวันที่ 21 พ.ค.ที่ผ่านมา

โดยสัปดาห์หน้า ส.อ.ท.เตรียมจะเสนอมาตรการสร้างความมั่นคงด้านไฟฟ้าต่อนายพงษ์ศักดิ์ รักตพงศ์ไพศาล รมว.พลังงาน รวมทั้งหมด 4 ข้อ ประกอบด้วย 1.ขอให้ทบทวนแผนพลังงานไฟฟ้าของประเทศโดยมีกำลังผลิตไฟฟ้าสำรองที่เพียงพอต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจในภาคใต้ และมีการกระจายโรงไฟฟ้าในทุกภูมิภาครวมถึงกระจายประเภทเชื้อเพลิงในการผลิตเพื่อลดการพึ่งพาการใช้ก๊าซธรรมชาติที่ปัจจุบันมากถึงเกือบ 70% 2.สร้างความมั่นคงและสถียรภาพในระบบไฟฟ้าทั่วประเทศ โดยมีการบริหารความเสี่ยงการจัดการและการแก้ปัญหา เพื่อสร้างความมั่นใจให้กับผู้ประกอบการ 3.สนับสนุนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียนเช่น เชื้อเพลิงชีวมวลและชีวภาพ และ 4.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนด้านพลังงานไฟฟ้า

ด้านนายพีระ เพชรพาณิชย์ ประธานสภาอุตสาหกรรมภาคใต้ กล่าวว่า เบื้องต้นพบว่าความเสียหายจากกรณีไฟฟ้าดับใน 14 จังหวัดภาคใต้ เฉลี่ย 3 ชั่วโมงอยู่ที่ประมาณ 600 ล้านบาท แต่การที่ไฟฟ้าดับในช่วงสถานประกอบการหยุดผลิตทำงานไปแล้วบางส่วน ยกเว้นโรงงานผลิตยางพารา โรงงานปาล์มน้ำมัน และโรงงานอาหารทะเลแช่แข็งที่ต้องทำงาน 24 ชั่วโมง ความเสียหายจึงลดลงคาดว่า ไม่เกิน 300 ล้านบาท อย่างไรก็ตาม จะรวบรวมความเสียหายที่ชัดเจนอีกครั้ง ขณะนี้สมาชิกอยู่ระหว่างสำรวจความเสียหายที่ชัดเจน

สำหรับมาตรการที่ต้องการให้ภาครัฐช่วยเหลือมี 4 ข้อ คือ 1.ขอให้ภาครัฐจัดหาพลังงานสำรองให้เพียงพอต่อความต้องการใช้ในอนาคตทั้งภาคอุตสาหกรรมและครัวเรือน ซึ่งมีแนวโน้มการใช้ไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอย่าง ต่อเนื่องโดยเฉพาะภาคการผลิตมีการใช้ไฟฟ้าขยายต้ว 8%ต่อปี

2.ขอให้ภาครัฐส่งเสริมและสนับสนุนให้ผู้ประกอบการรายย่อยที่มีศักยภาพสามารถผลิตไฟฟ้าใช้เองในสถานประกอบการ เช่น การผลิตไฟฟ้าจากชีวภาพ ชีวมวล โดยใช้เชื้อเพลิงจากกากวัสดุที่เหลือจากกระบวนการผลิต และสนับสนุนราคารับซื้อไฟฟ้า หรือแอดเดอร์ จากเอกชนในอัตราที่เหมาะสม

3.ขอให้ภาครัฐแสดงความจริงใจในการแก้ไขกฎระเบียบว่าด้วยการอนุญาตให้ก่อสร้างงานผลิตไฟฟ้าเพื่อใช้เองหรือจำหน่ายในพื้นที่ใกล้เคียง

4.ขอให้ภาครัฐทบทวนมาตรการภาษีสำหรับการนำเข้าเครื่องจักรอุปกรณ์หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ในการผลิตกระแสไฟฟ้า


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ