ศูนย์วิจัยกสิกรฯ คาดส่งออกกุ้ง H2/56 ฟื้นตัว หากโรค EMS คลี่คลาย-บาทมีเสถียรภาพ

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday June 4, 2013 11:34 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย คาดว่า มูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งของไทยภาพรวมทั้งปี 2556 อาจยังคงหดตัวอยู่ในกรอบร้อยละ 19-27 (YoY) โดยในระยะที่ผ่านมา การส่งออกกุ้งของไทยเผชิญกับหลากหลายปัจจัยท้าทาย ทั้งจากต้นทุนค่าแรงที่สูงขึ้น โรคกุ้งตายด่วน (Early Mortality Syndrome: EMS) ที่ระบาดตั้งแต่ปี 2555 ต่อเนื่องจนถึงปัจจุบัน ซึ่งทำให้ปริมาณผลผลิตกุ้งไม่เพียงพอสำหรับส่งออกและราคาวัตถุดิบสูงขึ้น รวมถึงการแข็งค่าของเงินบาท

นอกจากนี้ ยังเผชิญกับมาตรการกีดกันทางการค้า โดยเฉพาะสถานการณ์ทางด้านแรงงานที่ไทยถูกจัดให้อยู่ในกลุ่มบัญชี Tier 2 Watch List ในรายงานการค้ามนุษย์ของสหรัฐฯ ซึ่งส่งผลกระทบต่อภาพลักษณ์และการส่งออกกุ้งของไทย

จากปัจจัยท้าทายข้างต้น ทำให้ในช่วง 4 เดือนแรกของปี 2556 ไทยมีมูลค่าการส่งออกกุ้งสดแช่เย็นแช่แข็งเท่ากับ 298 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ หดตัวสูงถึงร้อยละ 27 เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีก่อน (YoY)

ล่าสุด เมื่อวันที่ 28 พฤษภาคม 2556 กระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ ได้ประกาศอัตราภาษีอากรตอบโต้การอุดหนุน (CVD) ของทั้ง 7 ประเทศ ได้แก่ จีน อินเดีย เวียดนาม มาเลเซีย เอกวาดอร์ อินโดนีเซีย และไทย หลังจากมีข้อกล่าวหาว่า 7 ประเทศดังกล่าวมีการอุดหนุนจากภาครัฐในการช่วยเหลือสนับสนุนการส่งออกและทำให้มีความได้เปรียบในการแข่งขันด้านราคาเมื่อเทียบกับอุตสาหกรรมในประเทศสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตาม อัตราภาษีดังกล่าวยังไม่มีผลบังคับใช้ โดยกระทรวงพาณิชย์ของสหรัฐฯ จะมีการทบทวนอัตราภาษีดังกล่าวเป็นขั้นสุดท้ายในช่วงกลางเดือนสิงหาคม 2556 ซึ่งไทยยังสามารถชี้แจงข้อเท็จจริงก่อนการทบทวนขั้นสุดท้ายได้

ทั้งนี้ ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากสหรัฐฯ ยังคงยืนการเรียกเก็บภาษีเท่ากับอัตราขั้นต้น ก็ถือว่าอัตราภาษีอากรที่ไทยถูกเรียกเก็บยังเป็นระดับที่ไม่สูงมากและยังมีความได้เปรียบเมื่อเทียบกับคู่แข่งส่วนใหญ่ คือ จีน อินเดีย เวียดนาม และมาเลเซีย แต่อาจจะยิ่งทำให้เอกวาดอร์และอินโดนีเซียซึ่งไม่ถูกเรียกเก็บภาษี มีความสามารถในการแข่งขันเพิ่มขึ้น และทำให้ไทยสูญเสียส่วนแบ่งทางการตลาดเพิ่มขึ้นอีกในระยะต่อไป ดังนั้น ไทยควรเร่งแก้ปัญหาการขาดแคลนผลผลิตกุ้งในการส่งออกและแก้ไขสถานการณ์ด้านแรงงานเพื่อรักษาจุดยืนของการเป็นผู้ส่งออกกุ้งหลักในตลาดโลก โดยเฉพาะตลาดสหรัฐฯ ไว้

ศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่า หากในระยะถัดไปการระบาดของโรคกุ้งตายด่วนยังไม่คลี่คลายและผลผลิตกุ้งยังไม่กลับสู่ภาวะปกติ อาจทำให้การเรียกเก็บภาษีจากสหรัฐฯ ไม่ส่งผลกระทบต่อการส่งออกกุ้งของไทยในปี 2556 มากนัก เนื่องจากไทยจะยังคงมีวัตถุดิบไม่เพียงพอสำหรับการส่งออก

อย่างไรก็ตาม หากสถานการณ์โรคกุ้งตายด่วนสามารถคลี่คลายลงได้ ผนวกกับค่าเงินบาทปรับตัวในทิศทางที่มีเสถียรภาพมากขึ้น คงจะช่วยประคองให้สถานการณ์การส่งออกกุ้งในครึ่งหลังของปี 2556 ฟื้นตัวดีขึ้นจากในช่วงครึ่งปีแรก เนื่องจากความต้องการนำเข้ากุ้งจากตลาดหลัก (สหรัฐฯ และญี่ปุ่น) ที่ยังคงมีอยู่

ดังนั้น ผู้ประกอบการส่งออกกุ้งไทยยังจำเป็นต้องเร่งคลี่คลายปัจจัยลบที่เกิดขึ้น และเสริมจุดแข็งด้วยการเน้นพัฒนาผลิตภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของผู้นำเข้าในตลาดหลักและตลาดศักยภาพใหม่ๆ ทั้งนี้เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายที่รออยู่ (นอกเหนือไปจากประเด็นการเรียกเก็บภาษีตอบโต้การอุดหนุนและการจัดให้ไทยอยู่ในบัญชีที่ต้องจับตาจากสหรัฐฯ) โดยเฉพาะจากความเป็นไปได้ที่สินค้าส่งออกของไทย รวมถึงกุ้ง จะถูกตัดสิทธิ GSP จากตลาดสหภาพยุโรป (อียู) ในปี 2557 แม้ผลจากปัจจัยดังกล่าวอาจจะได้รับการบรรเทาจากการบรรลุกรอบเจรจาความตกลงเขตการค้าเสรี (FTA) ไทย-อียู ก็ตาม


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ