"ศุภชัย" แนะไทยเข้มดูแลทุนเคลื่อนย้ายเชื่อผันผวนหลังลด QE-เฝ้าระวังฟองสบู่

ข่าวเศรษฐกิจ Friday June 21, 2013 16:13 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายศุภชัย พานิชภักดิ์ เลขาธิการ การประชุมสหประชาชาติว่าด้วยการค้าและการพัฒนา (UNCTAD) กล่าวถึง แนวโน้มเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจไทยและการชะลอมาตรการ QE ของสหรัฐฯ ว่า เรื่องของการเคลื่อนย้ายเงินทุนในขณะนี้เป็นปัญหาให้กับเศรษฐกิจไทยและเศรษฐกิจโลกอย่างมาก ซึ่งประเทศไทยควรระมัดระวัง แต่ยังเชื่อว่าธนาคารแห่งประเทศ และกระทรวงการคลังได้เฝ้าระวังปัญหาดังกล่าวอยู่แล้ว โดยมองว่าขณะที่สหรัฐมีแนวโน้มที่จะประกาศยกเลิกมาตรการ QE หรือ มาตรการอัดฉีดเงินเข้าสู่ระบบนั้นจะทำให้เงินจากประเทศไทยจะกลับเข้าไปอยู่ที่ยุโรปและสหรัฐมากขึ้น ซึ่งอาจจะทำให้อัตราดอกเบี้ยมีแนวโน้มสูงขึ้น

ประกอบกับ การกู้ยืมเงินจะไม่คล่องตัวเหมือนอย่างที่เป็นมา โดยอาจจะส่งผลกระทบต่อภาคอสังหาริมทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ของไทยได้ อย่างไรก็ดี ยังเชื่อมั่นว่าเศรษฐกิจเอเชียหรือเศรษฐกิจไทยยังคงแข็งแกร่งอยู่ และแม้อัตราแลกเปลี่ยนจะมีความผันผวนมากขึ้น แต่จะเป็นการผันผวนในระยะสั้นช่วงที่มีการไหลออกของเงินทุนเท่านั้น จึงแนะนักลงทุนให้ระมัดระวังให้มากและควรซื้อประกันความเสี่ยงไว้

"ผู้ที่ใช้เงินในการลงทุนหรือกู้ยืมควรต้องระวัง เพราะการเปลี่ยนแปลงของอัตราดอกเบี้ยจะมีมากขึ้น และการไปลงทุนโดยการหวังว่ามันจะมีสภาพคล่องไหลเข้ามามากเหมือนในอดีตคงจะมีน้อยลง และคงไม่เกิดภาวะการบีบสภาพคล่องอีก ขณะเดียวกันเงินที่ไหลเข้ามาในเอเชีย ในประเทศไทยจะเริ่มไหลออก และทำให้เงินที่เหลือไปลงทุนอาจจะติดขัดได้ชั่วคราว แต่มองว่าจะเป็นปัญหาในระยะสั้นๆ ซึ่งทางการสามารถเข้าไปแทรกแซงได้ แต่ไม่เห็นด้วยหากทางการจะไปเปลี่ยนแปลงนโยบายหลักของแบงค์ชาติ ในระยะสั้นนี้"นายศุภชัย กล่าว

พร้อมมองว่า ปัญหาในระยะยาวที่ต้องระมัดระวัง คือ ปัญหาเรื่องของฟองสบู่ เช่น ราคาอสังหาริมทรัพย์ ราคาหุ้น หรือราคาของสินทรัพย์ พุ่งสูงขึ้น ดังนั้เนหน่วยงานที่ดูแลเรื่องนี้ควรป้องกันไม่ให้มีราคาที่สูงเกินไป และต้องป้องกันไม่ให้ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำอีก ซึ่งที่ผ่านมาธนาคารโลกก็ได้ออกมาประกาศแล้วว่าปัญหาฟองสบู่จะเกิดขึ้นในอีก 2 ปีข้างหน้า โดยเป็นผลมาจากราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สูงขึ้น และปัญหาน้ำมันแพง ดังนั้นขณะนี้เอเชียต้องเตรียมพร้อม เนื่องจากมีการเจริญเติบโตที่รวดเร็ว ซึ่งต้องทำให้การเติบโตทางเศรษฐกิจเป็นการเติบโตแบบมีเสถียรภาพ

ด้านภาคส่งออกมองว่าการส่งออกของประเทศไทยชะลอตัวลง เนื่องด้วยเป็นผลจากประเทศคู่ค้าสำคัญ คือยุโรปกับสหรัฐฯ มีปัญหาเกี่ยวกับเศรษฐกิจภายในประเทศ จึงทำให้ตลาดหดตัว การส่งออกจึงถดถอยตาม ประเทศไทยควรหาประเทศคู่ค้ารายใหม่ เช่น ในแถบอาเซียนมากขึ้น ซึ่งยังมีประเทศที่มีการเจริญเติบโตได้ดีอย่าง อินเดีย และจีน

"เราพยายามต้องกระจายตลาด ซึ่งก็กำลังเกิดขึ้นอยู่ ตลาดที่เราไปค้าขายด้วย เช่น อาเซียน หรือจีนเริ่มมีสัดส่วนตลาดสูงขึ้น ส่วนอเมริกาและยุโรปก็อยากให้ลดทอนลงมา ซึ่งเชื่อว่าอีกหลายปีกว่าที่อเมริกากับยุโรปจะฟื้นตัวได้" นายศุภชัยกล่าว

พร้อมกันนี้ มองว่าขณะที่ยุโรปและสหรัฐฯ กำลังมีปัญหาทางเศรษฐกิจอยู่นั้น ควรจะส่งเสริมการลงทุนให้นักลงทุนไทยได้เข้าไปลงทุนในประเทศดังกล่าว ซึ่งควรเข้าซื้อสินทรัพย์ที่มีการเชื่อมโยงกับเทคโนโลยี เนื่องจากราคาสินทรัพย์มีราคาถูกลง รวมถึงอัตราแลกเปลี่ยนเงินยูโรอยู่ในระดับที่ต่ำ

สำหรับประเทศญี่ปุ่นการขยายตัวทางเศรษฐกิจค่อนข้างดี แม้จะฟื้นตัวได้แล้ว แต่ก็ยังมีปัญหาของอัตราเงินเฟ้อที่อยู่ในระดับสูง ส่วนประเทศจีน พอใจกับการเติบโตทางเศรษฐกิจที่อยู่ที่ระดับ 7.5% ซึ่งหากสูงมากถึง 10-11% อย่างที่เคยเป็นมากังวลว่าจีนจะสูญเสียตลาดได้ รวมถึงมีค่าจ้างแรงงานที่เพิ่มขึ้น และ อัตราเงินเฟ้อที่จะสูงขึ้นตาม

นายศุภชัย กล่าวว่า สำหรับผลกระทบจากการค้าระหว่างประเทศนั้น อาจเชื่อมโยงมาจากโครงการรับจำนำข้าวในประเทศส่วนหนึ่ง โดยมองว่าประเทศไทยไม่สมควรสูญเสียสัดส่วนตลาดไปมากกว่านี้ และงบประมาณที่เสียหายจากการส่งออกข้าวนั้นจะสูญเสียไปไม่ได้ และไม่อยากให้เป็นผลมาจากนโยบายดังกล่าว ทั้งนี้มองว่าโอกาสในการส่งออกเริ่มมียากขึ้น เนื่องจากมีการแข่งขันมากขึ้น ถ้าหากจะมีการปรับราคาข้าวก็ควรคำนึงถึงราคาตลาดโลกด้วย

ส่วนการขาดดุลการค้านั้น เชื่อว่าในปีนี้จะเกิดขึ้นอย่างแน่นอนและจะต่อเนื่องไปจนถึงปีหน้า ซึ่งการขาดดุลการค้าจะมีผลในระยะสั้นและไม่ควรให้เกิดขึ้นในระยะยาว แต่เชื่อว่าไม่น่าเป็นห่วง เนื่องจากยังคงมีเงินสำรองของประเทศอยู่ในระดับที่สูง และมองว่าปัญหาดังกล่าวนี้จะไม่ถึงกับทำให้ประเทศสูญเสียความเชื่อมั่น


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ