กสทช.คาดเปิดประมูลทีวีดิจิตอลใน ก.ย.-ต.ค.หลังเสร็จสิ้นการเปิดรับฟังความเห็น

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday June 27, 2013 18:17 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ (กสท.) กล่าวว่า กระบวนการหลังจากการเปิดรับฟังความคิดเห็น(ร่าง)ประกาศคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ เรื่อง หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขการประมูลคลื่นความถี่ เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอล ประเภทบริการทางธุรกิจระดับชาติ ในวันนี้แล้ว ก็จะนำไปสู่การประกาศใช้ในราชกิจจานุเบกษาในเดือนก.ค.นี้ และจะออกร่างประกาศเชิญชวนให้เข้าร่วมประมูลประมาณปลายเดือนส.ค. คาดว่าจะสามารถเปิดให้มีการประมูลคลื่นความถี่เพื่อให้บริการโทรทัศน์ในระบบดิจิตอลได้ราวเดือนก.ย.หรือ ต.ค.56

จากการรับฟังความคิดเห็นในครั้งนี้จะนำไปปรับปรุงและนำไปประกาศในราชกิจจานุเบกษา เพื่อให้มีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด รวมถึงเป็นการสร้างความโปร่งใสและสร้างความเป็นธรรมให้กับทุกภาคส่วน อย่างไรก็ดี หากผู้ที่ไม่ได้เข้าร่วมงานในวันนี้สามารถแสดงความคิดเห็นผ่านช่องทางต่างๆได้ เช่น อีเมลล์ โทรศัพท์ จดหมาย หรือแฟกซ์ ได้ถึงวันที่ 10 ก.ค.56

นอกจากนี้ ประชาชนจะได้รับชมรายการทีวีระบบดิจิตอลนี้ได้ไม่เกินปีนี้ โดยจะเป็นการออกอากาศช่องธุรกิจเป็นลำดับแรก อีกทั้งนับจากวันที่ประมูลดังกล่าวผู้ที่ได้รับใบอนุญาตจะต้องออกอากาศภายใน 60 หรือ 90 วันโดยประมาณ ซึ่งจะเป็นการทดลองออกอากาศก่อนก็ได้ประมาณ 3-6 ชั่วโมง/วัน

สำหรับผู้ประกอบการที่ได้รับใบอนุญาตไปแล้ว หากมีการเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้น ตามหลักการของกฎหมายฉบับนี้ คือ ต้องเป็นผู้ที่ประกอบกิจการด้วยตนเอง ฉะนั้นการเข้ามาประมูลและหากมีการเปลี่ยนสัดส่วนการถือหุ้นจะเป็นสิ่งต้องห้ามตามกฎหมาย

"มี 2 ทางเลือกคือ ทำได้ก็ทำต่อไป ถ้าทำไม่ได้ก็ต้องคืนใบอนุญาตให้กับ กสทช.ซึ่ง กสทช.จะมีการประมูลใหม่ ฉะนั้นเมื่อเปลี่ยนมือในลักษณะที่ทำให้ตัวเองถือสัดส่วนลดลงนั้น ทำไม่ได้ โดยหลักการคือ ใครก็ตามที่ชนะการประมูลและได้รับใบอนุญาต ต้องประกอบกิจการด้วยตนเอง ซึ่งจะมาบอกว่าเป็นเจ้าของใบอนุญาตและจะขายใบอนุญาตไม่ได้"พ.อ.นที กล่าว

อย่างไรก็ดี เบื้องต้นนั้นยังไม่มีการแสดงความกังวลจากผู้ประกอบการในเรื่องดังกล่าวเข้ามา

ด้านนายอดิศักดิ์ ลิมปรุ่งพัฒนกิจ กรรมการผู้อำนวยการ บมจ.เนชั่น บรอดแคสติ้ง คอร์ปอเรชั่น(NBC) กล่าว่า มีความกังวลเรื่องของผู้ให้บริการโครงข่ายหรือ MUX ซึ่ง กสทช.กำหนดไว้จำนวน 4 ราย และให้บริการในระยะเวลา 15 ปี โดยมองว่าจำนวนของผู้ให้บริการมีมากเกินไป ควรกำหนดให้มีแค่ 2 ราย ประกอบกับระยะเวลาในการให้บริการ 15 ปีนั้นเหมือนเป็นการผูกขาดผู้ประกอบการรายอื่น อีกทั้งในเรื่องของราคาของ MUX ยังไม่มีความชัดเจน

ดังนั้น จึงเรียกร้องให้ กสทช.กำหนดกรอบเรื่องของราคา MUX ให้เป็นไปในลักษณะที่เท่ากัน ราคาที่เท่าไร และต้องรับประกันด้วยว่าในระยะเวลา 15 ปีนั้นจะเป็นไปในทางที่ดี เนื่องจากเป็นการอยู่ในระยะยาว

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความเห็นของผู้ประกอบการส่วนใหญ่ภายในงานก็มีความคิดเห็นไปในทางเดียวกัน ไม่ว่าเป็นอาร์เอส หรือผู้ประกอบการรายอื่นก็เห็นว่าควรให้มีราคาของ MUX ที่ได้มาตรฐาน และมีความชัดเจนในเรื่องของการให้บริการมากกว่านี้


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ