ICT แจงภาพรวมผลงาน เน้นบริหารทรัพย์สิน-ผลักดันแผนแม่บทฉบับ 3-ปรับปรุงพ.ร.บ.คอมพ์

ข่าวเศรษฐกิจ Friday July 12, 2013 17:28 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

น.อ.อนุดิษฐ์ นาครทรรพ รมว.เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร(ไอซีที) เปิดเผยถึงภาพรวมของการดำเนินงานของไอซีทีที่ผ่านมาจนถึงปัจจุบัน โดยประเด็นแรกเป็นเรื่องของแผนการบริหารทรัพย์สินหลังหมดสัญญาสัมปทานคลื่นความถี่ของเอกชน และเรื่องของการบริหารจัดการคลื่นความถี่หลังปรับปรุงการใช้คลื่น ซึ่งแบ่งเป็น 2 ประเด็น คือ 1.การคืนคลื่นและนำคลื่นออกมาประมูล 2.CAT และ TOT ที่ได้รับสัมปทานคลื่นความถี่ขอปรับปรุงการใช้คลื่นจาก กสทช. โดยกระทรวงไอซีทีมีหน้าที่เจรจากับ กสทช.ตามแนวทางดังกล่าว

โดยขณะนี้ CAT และ TOT ได้ส่งเรื่องให้กระทรวงไอซีทีพิจารณาแล้ว และได้ทำหนังสือเพื่อเข้าสู่การพิจารณาคณะรัฐมนตรี หลังจากนั้นทางคณะรัฐมนตรีก็ได้ส่งเรื่องไปยังคณะกรรมการกลั่นกรอง และได้มีการประชุมไปเมื่อวานนี้ ซึ่งเรื่องดังกล่าวได้ผ่านการกลั่นกรองของคณะกรรมการกลั่นกรองแล้ว โดยมีความเห็นว่าให้นำเรื่องเข้าสู่การรับทราบจากคณะรัฐมนตรี และหลังจากนี้จะมีการบรรจุเข้าวาระต่อไป

ประเด็นที่สอง คือ เรื่องแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 3 ที่จะนำมาใช้ต่อจากแผนแม่บทไอซีทีฉบับที่ 2 ซึ่งจะหมดอายุลงในปีนี้ โดยฉบับที่ 3 จะยึดกรอบแนวคิดนโยบาย 2020 และจะมีการทบทวนยุทธศาสตร์หลักของประเทศ รวมถึงแผนแม่บทฉบับที่ 3 นี้ จะสามารถนำไปใช้ได้จริงกับทุกภาคส่วนและสามารถเข้าใจได้ง่าย เพื่อยกระดับของการบรูณาการของไอซีทีในอนาคต

ทั้งนี้จะมีการนำเอาแอพพลิเคชั่นต่างๆ มาเป็นส่วนหนึ่งของการให้บริการขององค์กร และเน้นย้ำถึงการใช้งานที่ปลอดภัยและการรักษาความปลอดภัยในระบบ อย่างไรก็ดี แผนแม่บทดังกล่าวจะเสร็จตามกำหนดคือเดือนก.ย.นี้ และเมื่อเสร็จสิ้นจะเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องทุกภาคส่วนเพื่อรับฟังความคิดเห็น หลังจากนั้นจะเสนอขอความคิดเห็นต่อคณะรัฐมนตรีต่อไป โดยแผนแม่บทนี้จะมีกำหนดใช้จริงในปี 57-61

สำหรับเรื่องของดัชนีชี้วัดตามที่องค์กรสากลทั่วโลกใช้ คือ KPI เครื่องมือที่ใช้วัดผลการดำเนินงานหรือประเมินผลการดำเนินงานในด้านต่างๆ ขององค์กร ซึ่งได้ใช้ชี้วัดในส่วนนี้อยู่ 2 ด้าน คือ ดัชนีด้าน Digital Economic และดัชนี Networked Readiness Index เพื่อชี้วัดถึงความพร้อมและศักยภาพด้านการแข่งขันของประเทศ โดยที่ผ่านมาในด้านแรกจากการสำรวจเพื่อจัดอันดับการพัฒนาของ E-Government ปัจจุบันประเทศไทยติดอันดับที่ 20 ซึ่งตั้งเป้าไว้ว่าในครั้งหน้าอยากเห็นประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 15 และด้าน Networked Readiness Index หรือ NRI ของประเทศโดยที่ผ่านมาได้ตกอันดับมาโดยตลอดจนถึงอันดับที่ 77 แต่ปัจจุบันขยับขึ้นมาที่ 74 แต่อยากจะเห็นประเทศไทยอยู่ที่อันดับ 50 ซึ่งคาดว่าน่าจะเป็นไปได้ เนื่องจากการดำเนินนโยบายต่างๆของภาครัฐด้านการส่งเสริมและพัฒนาอิเล็กทรอนิคส์จะทำให้ไปถึงตามที่ตั้งเป้าไว้ได้

ประเด็นที่สาม เรื่องการแก้ไขพ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ ซึ่งได้เสร็จสิ้นในกระบวนการของการเปิดรับฟังความคิดเห็นต่อสาธารณชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องแล้ว โดยจะสามารถสรุปเนื้อหาได้ในเร็วๆ นี้ และจะเข้าสู่การพิจารณาของคณะรัฐมนตรีได้ภายใน 2 เดือน โดย พ.ร.บ.ฉบับที่แก้ไขใหม่นี้จะเป็นการปรับเปลี่ยนข้อกฎหมายให้เป็นไปตามยุคสมัย เพื่อป้องกันการทุจริตจากการทำธุรกรรมต่างๆ และเพื่อกำหนดกฎหมายให้เข้ากับสภาพปัจจุบัน

ทั้งนี้กฎหมายฉบับดังกล่าวคาดว่าจะใช้เวลาในการพิจารณาตามขั้นตอนจากสภาฯ ราว 6 เดือน หรืออย่างช้าอาจจะไม่เกิน 2 ปี ข้างหน้า โดยพ.ร.บ.ฉบับนี้จะมีอายุการบังคับได้นาน 6 ปี นับจากวันที่ประกาศใช้ โดยตนเชื่อมั่นว่ากฎหมายที่ออกมาจะไม่ล้าหลัง เมื่อเทียบกับเทคโนโลยีที่มีการเติบโตอย่างรวดเร็ว

ประเด็นที่สี่ เรื่องของการให้ จ.นครนายก นำร่องโครงการจังหวัดอัจฉริยะ โดยเป็นการนำร่องเพื่อนำระบบไอซีทีมาใช้เป็นเครื่องมือที่ใช้ร่วมกับหน่วยงานภาครัฐ ภาคการศึกษา และบริการสาธารณสุข ซึ่งทำให้เห็นถึงการพัฒนาที่ล่าสุดพบว่าตัวเลขของผู้ใช้งานระบบคลาวด์คอมพิวติ้งดีขึ้น ดังนั้นหาก จ.นครนายกประสบความสำเร็จในโครงการนี้ก็จะเป็นต้นแบบเพื่อต่อยอดโครงการไปยังอีก 10 จังหวัดอื่นต่อไป


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ