รัฐบาลเล็งเลือกเส้นทางรถไฟสายสีแดงเป็นต้นแบบการพัฒนารถไฟทั้งระบบ

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday August 8, 2013 14:03 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

รายงานข่าว แจ้งว่า ที่ประชุมแนวทางการพัฒนารถไฟไทยซึ่งมี น.ส.ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม เป็นประธาน เห็นชอบให้เส้นทางรถไฟสายสีแดง บางซื่อ-รังสิต และแอร์พอร์ตลิงค์ มาพัฒนาเป็นต้นแบบของรถไฟทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็น การบริหารพื้นที่สถานี จุดเชื่อมต่อ การออกแบบ การให้บริการทั้งบนชานชาลาและในรถไฟ นอกจากนี้ยังมีมติให้นำพื้นที่ที่เป็นกรรมสิทธิ์ของการรถไฟแห่งประเทศไทย(ร.ฟ.ท.) ที่มีอยู่ เช่น พื้นที่มักกะสัน และที่ดินริมแม่น้ำ นำมาสร้างประโยชน์เพื่อล้างหนี้และภาระขาดทุนสะสม

สำหรับการลงทุนในโครงการโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทนั้น ในส่วนของการขนส่งระบบรางจะมีความยาวเส้นทางรวม 1,447 กิโลเมตร ผ่าน 24 จังหวัด มีเที่ยวรถไฟให้บริการกว่า 200 เที่ยวต่อวัน ให้บริการผู้โดยสารได้กว่า 40 ล้านคนต่อปี แต่ที่สำคัญไปมากกว่านั้นของการลงทุนคือการพัฒนารถไฟรางคู่ทั่วประเทศ โดยจะพัฒนาระบบรถไฟเดิมของไทยทั้งหมดให้เป็นรางคู่ เพื่อทำให้เพิ่มความสะดวกให้กับการขนส่งและโลจิสติกส์ของประเทศ รวมถึงการสร้างรถไฟทางคู่ใหม่อีก 3 เส้นทางคือ เส้นทาง เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ เส้นทางบ้านไผ่-มุกดาหาร และเส้นทางภาชี-นครหลวง

นายประภัสร์ จงสงวน ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท. ได้รายงานวิสัยทัศน์ในการพัฒนารถไฟไทยว่า มีการตั้งเป้าหมายในปี 2563 ให้รถไฟกลับมาเป็นความภาคภูมิใจของคนไทยอีกครั้งเมื่อการลงทุนตามโครงการสองล้านล้านแล้วเสร็จ หลังจากที่ไทยเคยภาคภูมิใจที่มีรถไฟที่ก้าวหน้าที่สุดในเอเชียเมื่อร้อยกว่าปีก่อน เพราะไทยจะเป็นประเทศแรกในอาเซียนที่มีรถไฟความเร็วสูง

ทั้งนี้ผู้ว่าการ ร.ฟ.ท.ได้ตั้งเป้าหมายในการพัฒนาการรถไฟ คือ 1.ลดต้นทุนด้านการขนส่งและโลจิสติกส์ต่อจีดีพี 2.เปลี่ยนวิธีการเดินทางของประชาชนจากรถมาใช้รถไฟมากขึ้น 3.ชักชวนให้ผู้ประกอบการหันมาขนส่งด้วยรถไฟมากขึ้น 4.เพิ่มสัดส่วนผู้โดยสาร 5.เพิ่มความเร็วเฉลี่ยของรถไฟไทย 6.สามารถเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่น เช่น สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น

พร้อมกันนี้ นายกรัฐมนตรีเสนอแนะให้ ร.ฟ.ท.ปรับโครงสร้างการบริหารงาน โดยมีจุดมุ่งหมายให้เป็นโครงข่ายคมนาคมหลักของประเทศในราคาที่เหมาะสม รวมถึงให้มีการพัฒนาบริการแบบครบวงจรด้วยการร่วมมือกับหน่วยงานอื่นๆ เช่น TCDC โดยจะใช้สถานีรถไฟหัวลำโพงเป็นต้นแบบในการพัฒนา

นอกจากนี้ยังได้เสนอแนวทางการพัฒนา ร.ฟ.ท.ใน 4 ด้านคือ 1.สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับระบบรถไฟไทย 2.พัฒนาบริการเพื่อผู้โดยสาร 3.บริหารทรัพยากรของรถไฟที่มีอยู่ และ 4.พัฒนาบุคลากรของการรถไฟให้พร้อมรองรับการขยายตัวของรถไฟในอนาคต โดยให้ ร.ฟ.ท.ร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กระทรวงการคลัง สร้างต้นแบบในการพัฒนารถไฟและการบริหารสินทรัพย์ของรถไฟ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ