กกพ.เปิดยื่นข้อเสนอ Solar PV Rooftop 23 ก.ย.-11 ต.ค., ประกาศผล 14 ต.ค.

ข่าวเศรษฐกิจ Thursday September 5, 2013 17:59 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายดิเรก ลาวัณย์ศิริ ประธานกรรมการกำกับกิจการพลังงาน(กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ.ได้ออกประกาศคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน ว่าด้วยการรับซื้อไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ที่ติดตั้งบนหลังคา (Solar PV Rooftop) พ.ศ.2556 เพื่อกำหนดหลักเกณฑ์และคุณสมบัติของผู้ที่ต้องการจะยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมาก(VSPP) ที่ต้องการจะผลิตไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop

โดยเชิญชวนให้ผู้ที่สนใจจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าสามารถยื่นข้อเสนอขายไฟฟ้าให้กับการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย การไฟฟ้านครหลวง(กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) ตั้งแต่วันที่ 23 ก.ย.-11 ต.ค.56 ตั้งแต่เวลา 09.00-15.00 น.และจะประกาศรายชื่อผู้ยื่นคำขอขายไฟฟ้าที่ผ่านการคัดเลือกตั้งแต่วันที่ 14 ต.ค.56เป็นต้นไป

ทั้งนี้ได้กำหนดให้การไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย ไปรับซื้อไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop ที่จ่ายไฟฟ้าเข้าระบบไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ภายในวันที่ 31 ธ.ค.56 ในปริมาณการรับซื้อที่ขนาดกำลังการผลิตติดตั้งรวม 200 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น บ้านอยู่อาศัยที่มีขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 0-10 กิโลวัตต์ รวมทั้งสิ้น 100 เมกะวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดเล็ก-กลาง-ใหญ่ ที่มีกำลังการผลิตติดตั้ง 10-1,000 กิโลวัตต์ อีก 100 เมกะวัตต์ โดยมีราคารับซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าตามอัตรารับซื้อไฟฟ้าตามต้นทุนจริง(Feed-in Tariff) ระยะเวลาสนับสนุน 25 ปี นับจากกำหนดวันจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ โดยแบ่งเป็นกลุ่มบ้านอยู่อาศัย รับซื้ออัตรา 6.96 บาท/หน่วย กลุ่มอาคารธุรกิจขนาดเล็ก รับซื้ออัตรา 6.55 บาท/หน่วย และกลุ่มอาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ รับซื้ออัตรา 6.16 บาท/หน่วย

สำหรับคุณสมบัติของผู้ที่สามารถยื่นคำขอเป็นผู้ผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจาก Solar PV Rooftop จากการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายนั้น จะต้องเป็นเจ้าของอาคาร หรือได้รับการยินยอมจากผู้ที่เป็นเจ้าของอาคาร หรือมีสัญญาเช่า โดยอาคารนั้นจะต้องไม่เคยติดตั้งแผงโฟโตเวลเทอิก (Photovoltaic Panel) มาก่อน และอาคารที่ติดตั้งแผงโฟโตเวลเทอิกต้องมีเครื่องวัดหน่วยไฟฟ้า(Meter) ซื้อไฟฟ้าอยู่แล้ว ตามประเภทผู้ใช้ไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายซึ่งสอดคล้องกับกลุ่มประเภทอาคารที่กล่าวมาข้างต้น และต้องไม่เป็นหน่วยงานภาครัฐ โดยผู้ที่ประสงค์จะยื่นขายไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัยสามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าได้ไม่เกิน 10 แบบคำขอต่อครั้งที่ยื่น และสำหรับกลุ่มอาคารธุรกิจหรือโรงงานสามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าได้ไม่เกิน 1 แบบคำขอต่อครั้งที่ยื่น

นอกจากนี้ ผู้ยื่นขอผลิตไฟฟ้าขนาดเล็กมากจะต้องระบุวันให้ชัดเจน และอยู่ภายในกรอบเวลาที่กำหนดในประกาศการรับซื้อไฟฟ้า ส่วนหลักเกณฑ์การพิจารณาการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่ายจะเรียงลำดับคำขอขายไฟฟ้าตามวันและเวลาที่ได้รับเอกสารครบถ้วนสมบูรณ์เป็นสำคัญ

สำหรับแนวทางการกำกับดูแลการคัดเลือกผู้ขายไฟฟ้าในระบบ Solar PV Rooftop จะใช้วิธีการคัดเลือกโดยเรียงลำดับตามคำขอขายไฟฟ้าที่ได้รับเอกสารที่ครบถ้วนสมบูรณ์ โดยพิจารณาจากคุณสมบัติ หลักเกณฑ์ วิธีการ และเงื่อนไขที่ประกาศกำหนด ใครมาก่อนและมีความพร้อมจะได้รับสิทธิ์ก่อน

ถ้าในกรณีที่มีผู้ยื่นคำขอจำนวนมากมารอก่อนเวลาที่การไฟฟ้าจะเปิดรับคำขอ(เวลา 09.00 น.) จะให้การไฟฟ้าดำเนินการจับสลาก เพื่อจัดลำดับคิวของการยื่นคำขอ ดังนั้น ผู้ที่มารอก่อนเวลามากๆ อาจจะไม่ใช่ผู้ที่ได้รับสิทธิ์ในการยื่นคำขอก่อน จากนั้นการไฟฟ้าจะทำการเรียงคำขอแต่ละพื้นที่จนครบ 100 เมกะวัตต์ ซึ่งถือเป็นการให้ความเป็นธรรมกับผู้สนใจจะผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าทุกราย โดยการดำเนินการดังกล่าวถือเป็นส่วนหนึ่งของการเพิ่มสัดส่วนการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานทดแทน แทนการใช้ก๊าซธรรมชาติ ตามแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้าระยะยาว ฉบับใหม่ หรือ พีดีพี 2013 ที่ต้องการปรับสัดส่วนการใช้ก๊าซธรรมชาติให้เหลือ 45% จากปัจจุบันที่ใช้อยู่ประมาณ 70% ของการผลิตไฟฟ้าทั้งหมดของประเทศ ซึ่งในระยะสั้นอาจจะทำให้ราคาไฟฟ้าปรับขึ้นบ้างเล็กน้อย แต่หากมองในระยะยาว จะเกิดความคุ้มค่าทั้งในด้านราคา และในด้านการสร้างความมั่นคงด้านพลังงานให้กับประเทศ

ด้านนายนำชัย หล่อวัฒนตระกูล ผู้ว่าการการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค(กฟภ.) กล่าวว่า กฟภ.จะเปิดรับซื้อไฟฟ้ารวม 120 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 1.ประเภทบ้านอยู่อาศัยขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ แยกตามพื้นที่แต่ละการไฟฟ้าเขตทั้ง 12 เขตของ กฟภ. เขตละ 5 เมกะวัตต์ โดยผู้ที่สนใจสามารถยื่นคำขอขายไฟฟ้าได้ที่ กฟภ.ทั้ง 12 เขตตามแต่ละพื้นที่ที่จะติดตั้ง และประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงานขนาดกำลังผลิต 60 เมกะวัตต์ แยกตามพื้นที่ 4 ภาค โดยรับซื้อภาคละ 15 เมกะวัตต์ สามารถยื่นได้ ณ กฟภ.สำนักงานใหญ่ ได้ตามวันและเวลาที่ระบุ

นายวิรัต จันทร์ศิริวัฒนา รองผู้ว่าการการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) กล่าวว่ากฟน.จะรับผิดชอบการรับซื้อไฟฟ้าในพื้นที่ 3 จังหวัด ประกอบด้วย กรุงเทพมหานคร นนทบุรี และสมุทรปราการ ปริมาณรับซื้อไฟฟ้ารวม80 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 2 กลุ่ม คือ ประเภทบ้านอยู่อาศัย ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 0-10 กิโลวัตต์ จำนวน 40 เมกะวัตต์ และประเภทอาคารธุรกิจหรือโรงงาน จำนวน 40 เมกะวัตต์ แยกเป็นอาคารธุรกิจขนาดเล็ก ขนาดกำลังการผลิตติดตั้ง 10-250 กิโลวัตต์ และอาคารธุรกิจขนาดกลาง-ใหญ่ โรงงานขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 250-1,000 กิโลวัตต์ ซึ่งขณะนี้ กฟน.มีความพร้อมในการจัดเตรียมเจ้าหน้าที่และสถานที่ไว้เรียบร้อยแล้ว โดยจะแยกการรับคำขอขายไฟฟ้าจาก Solar Rooftop ออกจากการให้บริการอื่นๆของ กฟน.เพื่อความสะดวกรวดเร็วในการให้บริการ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ