NIDA หวั่นพ.ร.บ.เงินกู้ 2 ล้านลบ.สะดุดฉุดศก.ไทย แนะทุกฝ่ายร่วมหาทางออก

ข่าวเศรษฐกิจ Tuesday September 17, 2013 12:45 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์(นิด้า) ระบุ พ.ร.บ.ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้ยืมเงินเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านคมนาคม และขนส่งของประเทศ วงเงิน 2.2 ล้านล้านบาท จะช่วยเพิ่มขีดความสามารถแข่งขันของประเทศไทยในอาเซียน และช่วยผลักดันไปสู่ความพร้อมในการเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในอาเซียน แต่ทุกฝ่ายต้องช่วยกันหาแนวทางที่จะนำเม็ดเงินไปลงทุนอย่างสมเหตุผล

"เป็นเรื่องที่มีความจำเป็นที่ต้องผลักดันให้เกิดการลงทุนในระบบสาธารณูปโภคขั้นพื้นฐาน เพื่อเตรียมความพร้อมที่ประเทศไทยจะก้าวสู่การเป็นประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน หรือ AEC ที่ก่อให้เกิดโอกาสการค้าการลงทุนและชิงความได้เปรียบเชิงยุทธศาสตร์การค้า ที่ประเทศไทยสามารถเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจในด้านคมนาคมและโลจิสติกส์ในภูมิภาคอาเซียนได้" นายมนตรี โสคติยานุรักษ์ ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA กล่าว

เนื่องจากประเทศไทยมีความได้เปรียบด้านภูมิศาสตร์ที่อยู่กึ่งกลางของภูมิภาค โดยในระยะเวลาการบิน 1 ชั่วโมงจากกรุงเทพฯ จะครอบคลุมกลุ่มประชากรในอาเซียนได้ถึง 300 ล้านคน หากเพิ่มระยะการบินเป็น 3 ชั่วโมง จะครอบคลุมประชากรถึง 1,000 ล้านคน และหากเพิ่มเป็น 5 ชั่วโมง จะครอบคลุมประเทศจีนและอินเดียทั้งประเทศ คิดเป็นจำนวนประชากร 3,100 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นโอกาสของประเทศไทยที่จะพัฒนาระบบคมนาคมและโครงสร้างพื้นฐานให้มีความพร้อมรองรับโอกาสทางด้านการค้าการลงทุน และการท่องเที่ยว ที่จะเป็นแรงกระตุ้นหนุนเศรษฐกิจไทยให้ขยายตัวสูงขึ้นได้

"ในด้านภูมิศาสตร์เราได้เปรียบแล้วที่อยู่ตรงกึ่งกลางอาเซียน แต่หากมองในแง่ของการผลักดันให้ไทยเป็นศูนย์กลางการค้าการลงทุนในอาเซียนได้หรือไม่นั้น ต้องอยู่ที่โครงสร้างพื้นฐานของไทยที่จะต้องมีความพร้อมรองรับด้านการขนส่งสินค้าที่สามารถเชื่อมต่อไปยังประเทศเพื่อนบ้าน หรือมีสนามบินที่สามารถรองรับกับจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มสูงขึ้นได้หรือไม่มากกว่า ซึ่งการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานจะใช้เวลานาน ดังนั้นเชื่อว่าทุกฝ่ายต่างก็เห็นด้วยในการผลักดันการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดขึ้นให้ได้" นายมนตรี กล่าว

ผู้อำนวยการหลักสูตร MPA กล่าวว่า แหล่งที่มาของเงินลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน 2 ล้านล้านบาทที่หลายฝ่ายถกเถียงกันอยู่ในขณะนี้ แต่ละฝ่ายต้องรัดกุมและวิเคราะห์ส่วนได้ส่วนเสียที่ชัดเจนก่อนกำหนดมาตรการ เนื่องจากการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานต้องใช้เงินจำนวนมาก โดยหากนำไปผูกพันกับงบประมาณประจำปีก็ต้องพิจารณาความเสี่ยงในการดำเนินโครงการว่า มีความต่อเนื่องหรือก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อการดำเนินโครงการได้สำเร็จหรือไม่ และหากลงทุนในรูปแบบการกู้ยืมเงินอาจเลือกใช้เครื่องมือทางการเงินช่วยแบ่งเบาภาระการก่อหนี้ เช่น ออกกองทุนโครงสร้างพื้นฐาน หรือเป็นการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP) ก็ได้

ทั้งนี้ หากพิจารณาถึงขีดความสามารถในการก่อหนี้ของไทยจะพบว่า ยังไม่เป็นประเด็นที่น่าวิตกนัก เนื่องจากสัดส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP ของไทย ณ เดือนมิถุนายน มีหนี้เทียบกับจีดีพีอยู่ที่ร้อยละ 44.5 ซึ่งยังอยู่ในระดับที่ยอมรับได้ และหากต้องกู้ยืมเงินเพื่อลงทุนภายใต้ พ.ร.บ.ฉบับดังกล่าว จะทำให้สัดส่วนหนี้สาธารณะอยู่ที่ระดับร้อยละ 50 ของจีดีพี ซึ่งถือว่ายังอยู่ในกรอบความมั่นคงทางการคลัง

"เชื่อว่าทุกฝ่ายเห็นด้วยการกับการลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อผลักดันให้ไทยก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางทางด้านเศรษฐกิจของอาเซียน ที่มีระบบสาธารณูปโภครองรับการคมนาคม ขนส่ง และโลจิสติกส์ที่ดี เพื่อเชื่อมกับประเทศเพื่อนบ้านได้ แต่ปัญหาในขณะนี้คือ แหล่งที่มาของเงินว่าจะเป็นการกู้ยืมหรือจะนำไปผูกกับงบประมาณประจำปี ซึ่งผู้มีส่วนได้ส่วนเสียจะต้องร่วมกันวิเคราะห์หาทางออกเพื่อผลักดันโครงการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานให้เกิดให้ได้ เนื่องจากการลงทุนครั้งนี้ นอกจากจะส่งผลดีทำให้เศรษฐกิจขยายตัวเพิ่มขึ้นแล้ว ยังทำให้ไทยมีความพร้อมด้านการคมนาคมขนส่ง และโลจิสติกส์ ที่ส่งผลให้ไทยมีศักยภาพแข่งขันกับประเทศต่างๆ ในอาเซียนได้ดีขึ้นอีกด้วย" นายมนตรี กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ