รมว.คลัง ห่วงการประท้วงทางการเมืองขาดความชัดเจนทำต่างชาติกังวล

ข่าวเศรษฐกิจ Friday November 29, 2013 12:26 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายกิตติรัตน์ ณ ระนอง รองนายกรัฐมนตรีและรมว.คลัง ยอมรับว่า สถานการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองที่เกิดขึ้นในขณะนี้มีผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ แต่ก็ไม่ใช่เรื่องที่เพิ่งเคยเกิดขึ้นในรัฐบาลหรือรัฐบาลที่แล้ว แต่เกิดมานานแล้วจากความที่ประเทศยังไม่มีเสถียรภาพทางการเมือง แต่ในด้านเศรษฐกิจนั้น ประเทศไทยมีความเข้มแข็งมาก มีหนี้สาธารณะต่ำมาก และหนี้จำนวนมากก็ไม่เป็นภาระกับระบบงบประมาณ ภาวะที่เคยขาดดุลงบประมาณสูงนั้น ขณะนี้ก็ลดลงต่ำกว่า 2% ต่อจีดีพีเป็นครั้งแรกในรอบหลายปี
"ด้านเศรษฐกิจ บริษัทจัดอันดับสบายใจกับเรา แต่การเมืองมีความซับซ้อนและอธิบายยาก แต่เรามีความแข็งแรงเพียงพอ อย่างไรก็ตาม ยอมรับว่าการเมืองก็เป็นเรื่องสำคัญที่จะกระทบเศรษฐกิจ...การประท้วงที่ขาดความชัดเจน ถึงขั้นที่ไม่ต้องการให้มีระบบประชาธิปไตย ก็ทำให้ต่างประเทศกังวล"นายกิตติรัตน์ กล่าว

รมว.คลัง กลาวว่า จากการเดินทางไปให้ข้อมูลกับนักลงทุนต่างประเทศ ก็ได้ชี้แจงถึงการต่อสู้ทางการเมืองในประเทศไทยว่าเปรียบเหมือนการแข่งขันกีฬา ทีมหนึ่งอาจจะเล่นแรงไปบ้างนอกกติกาบ้าง หรือผู้ตัดสินอาจจะถูกมองโดยทั้งสองทีมว่าเข้าข้างอีกฝ่าย แต่ข้อสำคัญคือหากทั้งสองทีมรู้หน้าที่ ไม่ทำตัวผิดกติกา การแข่งขันกีฬาก็จะเดินหน้าไปเรื่อย และอยู่ในสายตาคนดูที่จะเป็นผู้ตัดสินสุดท้ายว่าชอบทีมไหน ซึ่งในระบอบประชาธิปไตยคือการเลือกตั้ง

"บางคนมีความเห็นแต่ไม่ได้ต้องการแสดงออก บางคนก็ต้องการแสดงออก แต่สุดท้ายคนดูจะตัดสินว่าเขาชอบทีมไหน คือประชาธิปไตย คนที่กำลังแข่งขันต้องรู้หน้าที่ว่าอยู่ในขอบเขตที่พอสมควร แต่ตอนนี้บางเรื่องเกินสมควรไป เช่นยึดสถานที่ราชการ"นายกิตติรัตน์ กล่าว

สำหรับภาวะเศรษฐกิจของประเทศในปีหน้า หากมีการลงทุนทั้งระบบน้ำและระบบคมนาคมขนส่งของประเทศจะช่วยให้เศรษฐกิจเป็นไปด้วยดี ส่วนสำคัญคือต้องมองจากปัจจุบันไปสู่อนาคต หลายหน่วยงานใช้ข้อมูลเศรษฐกิจในอดีตมาตัดสินใจนโยบาย ไม่ได้ทำให้บริหารไปข้างหน้าได้ดี ยกตัวอย่างเรื่องอัตราดอกเบี้ยต่ำ ก็ไม่ต้องกลัวว่าจะทำให้เงินไหลออก เพราะเงินลงทุนจากต่างประเทศยังอยู่ในประเทศอีกมาก ซึ่งการลดดอกเบี้ยนโยบายครั้งล่าสุดนั้นแม้จะช้าไปบ้าง แต่ก็ยังดีกว่าไม่ทำ

นายกิตติรัตน์ กล่าวถึงโครงการรับจำนำข้าวว่า ไม่เห็นด้วยกับการยกเลิก แต่หากจะมีการปรับราคารับจำนำให้สอดคล้องกับราคาตลาดมากขึ้นก็น่าจะเป็นไปได้ ซึ่งวิธีการรับจำนำใช้เงินมากก็เพื่อเป็นทุนหมุนเวียน แต่ไม่ต่างกับการอุดหนุนราคาที่ใช้มาอย่างต่อเนื่องกว่า 30 ปี และสัดส่วนการขาดทุนจากโครงการดังกล่าวหากเทียบกับงบประมาณประจำปีหรือจีดีพีก็ไม่ได่เติบโตมากขึ้นนัก แต่การใช้เงินหมุนเวียนมากอาจทำให้หลายฝ่ายที่ข้อสังเกตไม่ชอบใจ แม้ว่าสภาพคล่องของเรามีมากพอที่จะดูแลได้ ส่วนระบบประกันราคาเองก็มีความเสี่ยงที่จะเกิดการทุจริต คือ ไม่ดูที่ผลผลิตจริง มีแต่เอกสารที่มาแจ้งเพื่อรับการอุดหนุน ซึ่งอาจจะแจ้งพื้นที่มากเกินจริง

"เรามีความเข้มแข็งทางการคลัง และความพร้อมการเงินเพียงพอ และมีเวลาปรับตัวให้เกษตรได้เลือก เช่นเกษตรโซนนิ่ง เพื่อชี้ให้เห็นว่าพื้นที่บางแห่งเหมาะกับการปลูกพืชชนิดอื่น หรือพืชพลังงาน การดำเนินการตรงนี้ต้องใช้เวลา ขบวนการจะค่อย ๆ ปรับไป"นายกิตติรัตน์ กล่าว

เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ