ธปท.แจงศก.เดือนพ.ย.ยังหดตัว ท่องเที่ยวยังขยายตัวดี การเมืองไม่กระทบ

ข่าวเศรษฐกิจ Friday December 27, 2013 15:36 —สำนักข่าวอินโฟเควสท์ (IQ)

นายเมธี สุภาพงษ์ ผู้อำนวยการอาวุโส ฝ่ายนโยบายเศรษฐกิจการเงิน ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) กล่าวว่า เศรษฐกิจเดือนพ.ย.56 ในภาพรวมหดตัวจากเดือนก่อนตามการใช้จ่ายภาคเอกชนที่หดตัวทั้งการบริโภคและการลงทุน เนื่องจากประชาชนระมัดระวังการใช้จ่ายจากภาระหนี้ครัวเรือนที่อยู่ในระดับสูง ประกอบกับความเชื่อมั่นปรับลดลง โดยเมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อนดัชนีการอุปโภคบริโภคภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 2.4 ตามการใช้จ่ายในสินค้าคงทน โดยเฉพาะยานยนต์ที่หดตัวจากฐานที่สูงในปีก่อนและความต้องการซื้อยานยนต์ใหม่ที่น้อยลง ประกอบกับการนำเข้าสินค้าอุปโภคบริโภคหดตัว โดยเฉพาะในหมวดสินค้าคงทน ขณะที่การใช้จ่ายสินค้าไม่คงทนขยายตัวในอัตราที่ชะลอลง อาทิ การนำเข้า อาหารและเครื่องดื่ม และปริมาณการใช้เชื้อเพลิง

การลงทุนภาคเอกชนหดตัวเล็กน้อยจากเดือนก่อน แต่เมื่อเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีการลงทุนภาคเอกชนหดตัวร้อยละ 7.8 ตามการซื้อรถยนต์เชิงพาณิชย์และการนำเข้าเครื่องจักรและอุปกรณ์ นอกจากนี้ ผู้ประกอบการบางส่วนเลื่อนการลงทุนออกไปเพื่อรอประเมินสถานการณ์ทางเศรษฐกิจ ขณะที่การลงทุนก่อสร้างขยายตัวชะลอลง

อย่างไรก็ดี การผลิตเพื่อการส่งออกขยายตัวจากเดือนก่อนตามการส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นอย่างช้าๆ ส่วนภาคการท่องเที่ยวขยายตัวดีต่อเนื่อง แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวของจีนและเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศ

ทั้งนี้ เศรษฐกิจต่างประเทศที่ปรับดีขึ้นส่งผลดีต่อการส่งออกสินค้าอย่างช้าๆ โดยเฉพาะต่อการส่งออกสินค้าเกษตร และสินค้าอุตสาหกรรม อาทิ สินค้าเกษตรแปรรูป เครื่องใช้ไฟฟ้า และปิโตรเคมี อย่างไรก็ดี เนื่องจากการส่งออกในบางสินค้ายังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการผลิตโดยเฉพาะสินค้าประมงที่หดตัวจากปัญหาโรคระบาดในกุ้ง และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และส่วนประกอบที่ขยายตัวในอัตราต่ำจากข้อจำกัดด้านเทคโนโลยีของไทยที่ยังไม่สามารถตอบสนองต่อรสนิยมของตลาดได้มากนัก ซึ่งเมื่อรวมกับการหดตัวของการส่งออกเหล็กและโลหะจากผลของฐานที่สูงในปีก่อน การส่งออกจึงหดตัวร้อยละ 4 จากระยะเดียวกันปีก่อน โดยมีมูลค่าการส่งออกรวม 18,569 ล้านดอลลาร์สหรัฐ

การส่งออกสินค้าที่ปรับดีขึ้นอย่างค่อยเป็นค่อยไป ส่งผลให้ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมปรับดีขึ้นบ้างจากเดือนก่อนโดยเฉพาะการผลิตเพื่อส่งออก แต่หากเทียบกับระยะเดียวกันปีก่อน ดัชนีผลผลิตภาคอุตสาหกรรมยังคงหดตัวร้อยละ 10.6 ส่วนใหญ่เป็นผลจาก 1) การผลิตยานยนต์ที่หดตัวเพราะมีการเร่งผลิตไปมากในปีก่อน ประกอบกับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่เพิ่มขึ้นไม่เพียงพอต่อการชดเชยคำสั่งซื้อในประเทศที่น้อยลง 2) การผลิตกุ้งแช่แข็งลดลงจากปัญหาโรคระบาด และ 3) การผลิตฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์หดตัวจากการเปลี่ยนแปลงรสนิยมของผู้บริโภค ประกอบกับเป็นผลของฐานสูงในปีก่อนที่ผู้ประกอบการเร่งผลิตเพื่อรองรับคำสั่งซื้อต่างประเทศที่ปรับดีขึ้น

การนำเข้ามีมูลค่า 17,055 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หดตัวร้อยละ 9.3 จากระยะเดียวกันปีก่อน ตามการลดลงของการนำเข้าสินค้าเกือบทุกหมวด ยกเว้นการนำเข้าน้ำมัน สอดคล้องกับกิจกรรมทางเศรษฐกิจโดยรวมที่ชะลอลง

สำหรับภาคการท่องเที่ยว จำนวนนักท่องเที่ยวต่างประเทศในเดือนนี้อยู่ที่ 2.4 ล้านคน ขยายตัวร้อยละ 11.9 จากระยะเดียวกันปีก่อน ซึ่งเป็นการขยายตัวดีต่อเนื่องตามการเพิ่มขึ้นของนักท่องเที่ยวจากทุกภูมิภาค แม้จะมีการบังคับใช้กฎหมายด้านการท่องเที่ยวของจีนตั้งแต่เดือนตุลาคม 2556 และเหตุการณ์ทางการเมืองในประเทศ

"ภาคการท่องเที่ยว ยืนยันว่าแทบจะไม่ได้รับผลกระทบ เนื่องจากยังขยายตัวได้ต่อเนื่อง อัตราการเข้าพัก อยู่ที่ 69.5% คิดเป็นจำนวนนักท่องเที่ยว 2.4 ล้านคน ยกเว้นนักท่องเที่ยวจากจีนที่ลดลงไปบ้างจากมาตรการด้านการท่องเที่ยวของจีน แต่นักท่องเที่ยวของจีนยังมีสัดส่วนขยายตัวได้ 20% ของนักท่องเที่ยวต่างชาติทั้งหมดที่มาเที่ยวไทย จึงไม่ถือว่าชะลอตัวลงมาก" นายเมธี กล่าว

อย่างไรก็ดี หากประเมินผลกระทบทางการเมืองในปี 57 ส่วนหนึ่งจะเห็นว่าส่งผลกระทบผ่านความเชื่อมั่น ซึ่งหากสถานการณ์ทางการเมืองยังมีความไม่แน่นอนสูง ก็จะส่งผลกระทบต่อความเชื่อมั่นชัดเจน รวมถึงส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายงบประมาณภาครัฐที่ต้องล่าช้าและคงเกิดได้ยาก ที่สำคัญหากสถานการณ์ยาวนานเกินไปก็ย่อมส่งผลกระทบต่อการเบิกจ่ายยืดเยื้อออกไปด้วย

ด้านเสถียรภาพเศรษฐกิจ อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้นตามการส่งผ่านต้นทุนที่สูงขึ้นไปยังราคาอาหารสำเร็จรูป ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุลจากการเกินดุลการค้าและดุลบริการ รายได้และเงินโอน ดุลเงินทุนเคลื่อนย้ายขาดดุลจากการขายหลักทรัพย์ของนักลงทุนต่างชาติเป็นสำคัญ ทำให้ในภาพรวมดุลการชำระเงินขาดดุล

"เศรษฐกิจเดือนพ.ย.หดตัวจากอุปสงค์ในประเทศทั้งการบริโภค การลงทุน และความเชื่อมั่นของภาคเอกชน แต่ทั้งนี้ยังเห็นทิศทางการส่งออกที่มีแนวโน้มดีขึ้นในบางตัว ทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมขยายตัว การท่องเที่ยวยังอยู่ในเกณฑ์ดี ขณะที่เงินเฟ้อเริ่มปรับตัวสูงขึ้นบ้าง แต่ยังอยู่ภายใต้อุปสงค์ที่ชะลอ จึงเชื่อว่าจะไม่ทำให้เงินให้เร่งตัวสูงขึ้นเร็วนัก" นายเมธี กล่าว

ส่วนผลกระทบด้านการเมืองที่มีการชุมนุมตลอดทั้งเดือน สะท้อนได้จากความเชื่อมั่นที่เดือนนี้อยู่ในระดับ 46.9 เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 เมื่อเทียบกับช่วงเดือนก่อนหน้าที่อยู่ที่ 47.4 แต่ทั้งนี้ดัชนีความเชื่อมั่นในระยะ 3 เดือนข้างหน้ายังค่อนข้างดี จึงคิดว่า ผลกระทบจากการเมืองต่อความเชื่อมั่นของภาคธุรกิจเริ่มมีบ้างแต่ไม่มาก

นายเมธี กล่าวว่า ในการประชุมคณะกรรมการนโยบายการเงิน(กนง.) วันที่ 22 ม.ค.57 ธปท.จะนำข้อมูลด้านเศรษฐกิจเสนอต่อที่ประชุมเพื่อพิจารณาทบทวนประมาณการอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจอีกครั้ง ซึ่งยอมรับว่ามีความเป็นไปได้ที่จะปรับลดประมาณการ GDP ปีหน้าลงจากเดิมที่คาดไว้ 4% อย่างไรก็ตาม หากมีการเปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญก็จะประกาศให้ทราบอย่างเป็นทางการ ยกเว้น จะมี sentiment ที่เกิดขึ้นอย่างไม่น่าเชื่อ


เว็บไซต์นี้มีการใช้งานคุกกี้ ศึกษารายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่ นโยบายความเป็นส่วนตัว และ ข้อตกลงการใช้บริการ รับทราบ